Future of Healthcare

เรื่อง: นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ (หมอตั้ม)


Hi-Light:

  • แม้หลายอุตสาหกรรมและบริการถูกเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือจาก Digital Disruption แต่น่าเซอร์ไพรส์มากว่าสิ่งหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนักก็คือ การสาธารณสุขหรือ Healthcare นั่นเอง ในรายงาน McKinsey Global Institute Industry Digitalization Index ก็ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรม Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากจาก Digitalization


โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่เกี่ยวพันกับมนุษย์ในทุกช่วงเวลา ตั้งแต่ลืมตาดูโลก เจ็บป่วย จนมาถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตที่เราหลับตาลาจากโลกใบนี้ไป ยิ่งตัวผมเองเมื่อได้ตัดสินใจเลือกสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ความถี่ในการมาเยือนโรงพยาบาลก็จะมีมากกว่าคนทั่วไป แม้ทุกวันนี้จะผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการแล้ว ก็ยังมีเหตุให้แวะเวียนอยู่ในโรงพยาบาลเสมอ


เมื่อการแพทย์เกี่ยวข้องอยู่กับชีวิตเราในทุกช่วงชีวิต มนุษย์จึงพัฒนาการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปในอดีต มีการบันทึกเกี่ยวกับการรักษาไว้ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตศักราชตั้งแต่สมัยอียิปต์หรืออาณาจักรเมโสโปเตเมียแล้ว แต่ทราบหรือไม่ครับว่า การแพทย์แผนปัจจุบัน (Modern Medicine) ที่เราคุ้นเคยกันเพิ่งจะเริ่มมีขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือ 200 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม การเติบโตของเมือง (Urbanization) และสงคราม


ตัดภาพมาที่ในช่วงต้นศตวรรษ 21 หรือในปัจจุบัน แม้หลายอุตสาหกรรมและบริการถูกเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือจาก Digital Disruption แต่น่าเซอร์ไพรส์มากว่าสิ่งหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนักก็คือ การสาธารณสุขหรือ Healthcare นั่นเอง ในรายงาน McKinsey Global Institute Industry Digitalization Index ก็ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรม Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากจาก Digitalization เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสาร การเงิน การขายส่ง ฯลฯ

ถ้ามองใกล้ตัวในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนจากการฟังเทปคาสเซ็ต (เกิดทันกันใช่ไหมครับ) ซีดี มาสู่ระบบสตรีมมิ่ง เราเปลี่ยนจากการใช้โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ มาสู่สมาร์ทโฟน แต่เชื่อไหมครับว่า ผ่านมา 30 ปี บ้านเรายังคงใช้กระดาษในการส่งผ่านข้อมูลทางการแพทย์อยู่เหมือนเดิม! มันเป็นไปได้ยังไง?!

กระดาษในรูปคือ ใบส่งตัว ในวงการแพทย์เรียกว่า กระดาษสามสี จะใช้ในการเขียนประวัติส่งตัวระหว่างโรงพยาบาล

ตอนผมอายุ 10 ปี ผมเห็นคุณพ่อผมซึ่งเป็นหมอเขียน

ตอนผมอายุ 20 ปี ผมเป็นคนเขียนกระดาษแผ่นนี้ในช่วงเวลาที่เป็นนักศึกษาแพทย์

ตอนผมอายุ 30 ปี ผมก็ยังเขียนกระดาษแผ่นนี้เมื่อผมเป็นหมอแล้วอยู่ดี


ที่จริงคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่พึงพอใจเท่าไหร่นักหรอกครับ แม้มีคนเก่ง ๆ ตบเท้าเข้ามาเรียนแพทย์และพยาบาลกันมากมาย งบประมาณที่ใช้ก็ไม่น้อย แต่เหตุใดการแพทย์เราถึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ --- น่าคิดนะครับ


หนังสือเล่มโปรดของผมที่ชื่อว่า The Third Wave ที่เขียนโดยคุณ Steve Case ผู้ก่อตั้ง AOL (American Online) ได้กล่าวไว้ถึงคลื่น 3 ระลอกในการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล First Wave (1985 – 1999) เป็นยุคการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นเครื่องมือหลัก บริษัทในยุค First Wave เช่น Apple (ยุคแรก), IBM, Microsoft, Cisco หรือ AOL นั่นเอง ถัดมาคือ Second Wave (2000 – 2015)  คือยุคที่เป็นการต่อยอดบนระบบอินเทอร์เน็ต เป็นยุคของการปฏิวัติ “มือถือ”  เช่น การใช้ระบบการ Search ที่มีประสิทธิภาพ การแพร่หลายของโซเชียลมีเดีย รวมถึงความก้าวหน้าของ E-commerce จากการเติบโตของโมบายล์อินเทอร์เน็ต ซึ่งมีสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือหลัก ส่วน Third Wave (2016 เป็นต้นไป) เป็นยุคการเชื่อมต่อแบบ Hyperconnected หรือ Internet of everything ถ้าจะเปรียบเปรยคงต้องมองอินเทอร์เน็ตเหมือนยุคที่ไฟฟ้ากลายเป็นของสามัญประจำบ้าน ในยุคนี้อินเทอร์เน็ตก็จะเป็นแบบนั้นแหละครับ เราจะไม่ได้มองอินเทอร์เน็ต หรือการเชื่อมต่อเป็นเรื่องแยกส่วน เหมือนทุกวันนี้เราใช้ชีวิตโดยไม่ได้สนใจว่ามันมีไฟฟ้าหรือเปล่า เพราะมันมีอยู่ทุกที่


หนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่า ใน Third wave นั้นอุตสาหกรรมที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลง (Disrupt) จะมีลักษณที่คล้ายคลึงกันคือ มีการควบคุมจากภาครัฐ (Regulation) เช่น สาธารณสุข (healthcare) การศึกษา (Education) การเกษตร (Agriculture) ฯลฯ


ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านก็อาจคิดว่า ขนาดธุรกิจขนส่งอย่างแท็กซี่ก็มีกฎหมายควบคุมก็ยังถูก Disrupt โดย Uber กับ Grab อย่างรวดเร็วได้ล่ะ ความน่าสนใจมันอยู่ตรงนี้ครับ กฎหมายควบคุมสำหรับการขนส่งนั้น ถูกเขียนไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ให้บริการ (คนขับรถ บริษัทขนส่ง) มากกว่าผู้บริโภค ดังนั้นบริษัท Startup ที่เข้ามายืนฝั่งเดียวกับผู้บริโภคก็สามารถจะดำเนินการได้ ผู้บริโภคก็ยินดีใช้แม้ขัดกับกฎควบคุม เมื่อมีผู้ใช้ บริษัทก็สามารถต่อยอดไปข้างหน้าได้ เหมือนกับกรณี Airbnb ที่กฎหมายเขียนไว้เพื่อปกป้องเจ้าของธุรกิจโรงแรม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ากฎหมายนั้นถูกเขียนไว้ตั้งแต่แรกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคนี่แหละครับ เพียงแต่พอไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย มันเลยกลายเป็นเครื่องมือสำหรับผู้เล่นเจ้าใหญ่ที่ใช้ป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแทน


ทีนี้มามองมุมสาธารณสุข (Healthcare) บ้าง เราจะพบว่ากฎหมายที่ควบคุมนั้นมีประโยชน์สำหรับผู้บริโภค เช่น เราไม่อยากกินยาที่ไม่ได้รับการรับรองแล้วตาย หรือ เราไม่อยากรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับการรับรองหรือเจอหมอเถื่อน เช่นเดียวกับโรงเรียน หรือ อาหาร ที่มันมีความเสี่ยงถ้าไม่ได้รับการควบคุม


ดังนั้นจะเห็นว่า กรณีนี้กฎหมายควบคุมอยู่ฝั่งเดียวกับผู้บริโภค ถ้าบริษัท Startup จะเข้าไปแก้ไข มีเพียงทางเดียวคือ ต้องอยู่ในกฎหรือเล่นตามกติกา ซึ่งเมื่อบริษัทต้องเข้าเล่นตามกติกา ความยากคือมันมีข้อจำกัดที่เยอะ (มาก!) และใช้เวลานาน (มาก!)  อารมณ์เดียวกับเวลาเราไปทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐนั่นเลยครับ


ในหนังสือ The Third wave บอกไว้ว่าลักษณะของผู้ประกอบการ  หรือ บริษัทที่จะสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ต้องมี 3 ข้อนี้ด้วยกัน คือ

  1. Policy + Domain Expert – ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ เข้าใจว่ามีกฎกติกาอะไรบ้าง
  2. Partnership - ต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ Regulator หรือผู้ออกกฎหมาย และต้องทำงานร่วมกับภาครัฐได้ (หรือพูดอีกอย่างว่า ไม่สามารถทำงานโดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล)
  3. Perseverance  - ต้องอึด เพราะมันใช้เวลานานแน่นอน


ที่เล่ามานี้ไม่ใช่ว่าไม่มีหวังเสียทีเดียว เพียงแต่ลักษณะของบริษัทที่จะเข้ามา Disrupt อุตสาหกรรม Third wave คงจะไม่ได้มีลักษณะเหมือนอุตสาหกรรม Second wave  แต่จะเหมือน First wave มากกว่า


ผมคิดว่าอีกไม่นาน Health care ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเหมือนอุตสาหกรรมข้างเคียง ซึ่งน่าสนใจเพราะ Healthcare นั้นเป็นบริการที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของคนเราทุกคน อีกทั้งเราก็สามารถพูดได้ว่าสุขภาพคือทรัพย์สินแรกที่เรามีติดตัวตั้งแต่เกิด เหมือนชื่อคอลัมน์ของผมที่ว่า “Health is the first wealth” อีกด้วย


บทความในคอลัมน์หลังจากนี้ ผมอยากชวนท่านผู้อ่านไปดูอนาคตของ Healthcare ว่า เมื่อวงการสาธารณสุขถูกเปลี่ยนแปลงแล้ว หน้าตาของมันจะเป็นอย่างไร  ทั้งเรื่อง Aging society, Sex, Genomic ฯลฯ


มีอะไรบ้างในโลกล่ะครับที่ไม่เปลี่ยน


ติดตามไปด้วยกันนะครับ