สารอาหารต้านและบำบัดพิษฝุ่น PM 2.5

หมอกจางๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้…แต่ยุคนี้รู้ได้ทันทีเพราะสูดเข้าไปแล้วแสบจมูก แสบตาไปหมด ฟ้าขมุกขมัวที่เห็นไม่ใช่หมอกจางๆ แต่คือฝุ่นพิษขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 ปัญหาจากฝุ่นนี้ เพิ่มความวิตกกังวลด้านสุขภาพของคนไทยในวงกว้าง ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพ แต่จังหวัดอื่นๆ ก็เจอปัญหาเดียวกัน แต่ละวันก็คอยลุ้นกันว่าจะเห็นแอปเป็นสีเขียว สีฟ้าบ้างมั้ย เพราะส่วนใหญ่ที่เห็นจะมีแต่สีเหลือง สีส้ม สีแดง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพอากาศที่เป็นพิษและปัญหาสุขภาพที่จะตามมา


ข้อมูลจาก Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ว่ามลภาวะทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง และส่งผลให้เกิดโรคฉับพลันและเรื้อรังตามมาได้เช่น โรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด   จากการศึกษาพบว่าผู้ที่สัมผัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 หรือเล็กกว่านั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ เพราะยิ่งขนาดเล็กเท่าไหร่ก็ยิ่งจะเข้าสู่ร่างกายและยึดติดปอดมากขึ้นเท่านั้น โดยกระบวนการคือฝุ่นละอองขนาดเล็กจะเร่งให้เกิดการอักเสบในร่างกายและลดปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระ พอสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายลดลง ตามมาด้วยความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ ส่วนปอดเมื่อได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปมากๆ การทำงานก็เสื่อมลงและอาจตามมาด้วยมะเร็งปอดได้

ดังนั้นการได้รับสารอาหารที่ช่วยลดการอักเสบของร่างกายร่วมกับการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่มีปริมาณที่สูงขึ้นก็จะเป็นตัวช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับเอาฝุ่นละออง PM 2.5 หรือการอยู่ในมลภาวะที่ไม่ดีได้ เรามาไล่ดูกันว่าสารอาหารกลุ่มไหนที่ช่วยต้านและบำบัดพิษฝุ่น PM 2.5 ได้บ้าง
 

1. วิตามิน A และเบต้า-แคโรทีน  ซึ่งพบมากในแครอท ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง มันเทศ มันหวาน มะม่วง มะละกอ ฯลฯ มีส่วนช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้น วิตามิน A ก็จะช่วยส่งเสริมระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พร้อมต้านฤทธิ์พิษฝุ่นจิ๋วได้

2.วิตามิน C  เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถช่วยลดความเสียหายทางพันธุกรรมของ DNA เมื่อได้รับสารอนุมูลอิสระที่จะมาทำอันตรายต่อเซลล์ และจากการศึกษาพบว่าการได้รับวิตามินซีจะช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและลดปัญหาจากภูมิแพ้ต่อระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินหายใจ อาการคันตา อาการคันและแสบคอ อาการคันและแสบผิวหนัง อาหารกลุ่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม สตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล แตงโม มะละกอ ทับทิม ผักสีเขียวเข้ม ใบบัวบก ผักขม หัวหอม นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาที่พบว่า การรับประทานวิตามิน C เสริมวันละ 500 มก. ก็ช่วยลดระดับอนุมูลอิสระในกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในเขตที่มีมลภาวะทางอากาศได้

3. วิตามิน E พบในอาหารไขมันสูง เช่น ธัญพืช ถั่ว ไข่แดง ช่วยลดการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ
 

4. วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และกรดโฟลิกหรือสารโฟเลต การที่สัมผัสและได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้จะส่งผลต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบโดยมีสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูง การได้รับวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และสารโฟเลต สามารถลดสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดลง อาหารที่มีวิตามินกลุ่มนี้ เช่น ผักสีเขียวเข้ม ผักสีส้มที่มีเบต้าแคโรทีน เช่น ฟักข้าว แครอท ฟักทอง ส่วนวิตามินบี 12 มีในเนื้อสัตว์เนื้อแดง
 

5. โอเมก้า-3 พบมากในปลาต่างๆ รวมทั้งอะโวคาโด วอลนัท เมล็ดเฟล็ก มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่อาศัยในแหล่งที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง พบว่าการได้รับน้ำมันปลา  2 กรัม/วัน ช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพของฝุ่นจิ๋วนี้ได้

6.ซัลโฟราเฟน (Sulforaphane)  พบมากในบร็อคโคลี และผักตระกลูกะหล่ำต่างๆ มีคุณสมบัติโดดเด่น ช่วยในกระบวนการกำจัดสารพิษและต้านมะเร็งได้ มีรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ พบว่าการได้รับสารซัลโฟราเฟนจากบร็อคโคลี อาจช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพของเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้ได้
 

7. N-acetyl cysteine ช่วยลดภาวะะหลอดลมไวต่อการสั่งกระตุ้นและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดย N-acetyl cysteine จะต้องการกรดอะมิโนซิสเตอินเพื่อช่วยในการสังเคราะห์ขึ้นมา อาหารที่มีกรดอะมิโนซิสเตอินประกอบ ได้แก่ แตงโม หอมใหญ่ ไข่ กระเทียม และเนื้อแดง นอกจากนี้ N-acetyl cysteine ยังมีส่วนช่วยในการลดเสมหะและมูกในปอด ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
 

8.สารอาหารประเภทโพลีแซคคาไรด์ ในกลุ่มของเบต้ากลูแคน ที่พบในเห็ดทางการแพทย์สายพันธุ์ญี่ปุ่น ได้แก่ เห็ดยามาบูชิตาเกะ เห็ดชิตาเกะ เห็ดไมตาเกะ เห็ดมัตสึทาเกะ ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ร่างกายก็จะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสหรือสิ่งแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้สมุนไพรไทยหลายตัวก็มีฤทธิ์ในการต้านและล้างพิษฝุ่น PM 2.5 เช่นกัน 

1. มะขามป้อม   ต้านอนุมูลอิสระ โดยพบว่าหากนำมาต้มดื่ม จะช่วยป้องกันเซลล์เกิดการอักเสบ ช่วยให้การทำงานของหลอดเลือดมีความยืนหยุ่น ไหลเวียนดี

2.ขมิ้นชัน มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินอีถึง 80 เท่า ส่งผลดีต่อการทำงานของปอด

3.รางจืด  สามารถล้างพิษฝุ่นได้ แต่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน


นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สวมแว่น ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง เมื่อต้องออกไปเผชิญกับมลภาวะข้างนอก ก็จะเป็นเกราะกำบังช่วยป้องกัน หรือลดผลกระทบจากมลพิษร้ายของเจ้าฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5 นี้ได้ เมื่ออยู่ในอาคารบ้านเรือนหรือขับรถบนท้องถนนการมีเครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพก็สามารถช่วยให้อากาศในบ้านหรือในรถสะอาดขึ้น สูดลมหายใจได้อย่างไร้กังวล  อย่างไรก็ตามการหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นโดยตรง หรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานเป็นวิธีการป้องกันฝุ่นพิษได้ดีที่สุด


สภาพแวดล้อมในปัจจุบันเป็นตัวเร่งให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ ได้มากขึ้น ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงจึงเป็นสิ่งจำเป็น  สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา หรือซื้อผ่าน SCB EASY App ก็ได้เหมือนกัน

 

อ้างอิง