2 สิ่งควรรู้เกี่ยวกับระบบภาษีในยุคดิจิทัล

“ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากความตาย และภาษี” วาทะที่โด่งดังของเบนจามิน แฟรงคลิน ย้ำเตือนว่าการจ่ายภาษีให้กับรัฐว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่ของทุกคนในฐานะพลเมือง และในยุคที่ข่าวสารข้อมูลได้เปลี่ยนรูปจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล การจัดเก็บภาษีก็มีการพัฒนารูปแบบเช่นเดียวกัน ซึ่ง คุณราชิต ไชยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ CNR & Accrevo สรุปประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในยุคดิจิทัล ไว้เป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้

แผนโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ National E-Payment

จากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้คนที่เปลี่ยนเป็นแบบไร้เงินสด (Cashless) โดยใช้แอฟธนาคารบนสมาร์ทโฟนสแกน QR Code จ่ายเงินให้ร้านค้า หรือการจ่ายผ่าน E-Wallet ในส่วนของภาครัฐก็ได้ประกาศแผนโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ National E-Payment 5 โครงการ : 1) ระบบการชำระเงินแบบ Any ID ที่รู้จักในชื่อ “พร้อมเพย์” (PromptPay) 2) การขยายการใช้บัตร 3) ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 4) e-Payment ภาครัฐ และ 5) การให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเป้าหมาย เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและบูรณาการสวัสดิการ (e-Social Welfare) บูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน (e-Tax System) และส่งเสริม e-Payment ในทุกภาคส่วน (Cashless Society)

ซึ่งในส่วนของกรมสรรพากร ได้ปรับระบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามแนวทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การปฏิสัมพันธ์กับผู้จ่ายภาษี (Engage Taxpayer) ปรับระบบบริการด้านภาษี (Transform Services) การให้ความรู้บุคลากร (Empower Employee) และ พัฒนาระบบปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (Optimize Operations) ซึ่งระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับผู้จ่ายภาษีมากที่สุดคือ ใบกำกับภาษีและใบรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax Invoice & Receipt) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (E-WHT) การยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ (E-Filing) และระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation)

กฎหมาย E-Payment

กฎหมาย E-Payment เริ่มปี 2562 กำหนดให้ธนาคารหรือตัวแทนชำระเงินส่งข้อมูลบุคคลแก่สรรพากรที่มี

ลักษณะรวมทุกบัญชี ดังนี้

1.  รับหรือฝากเกินกว่า 400 ครั้ง และ มีจำนวนรวมเกิน 2 ล้านบาทต่อปี

2. รับหรือฝากเกินกว่า 3,000 ครั้งต่อปี


ด้วยข้อมูลภายในและข้อมูลภายนอก กรมสรรพากรจะทำการประมวลผลและทำการวิเคราะห์เกณฑ์ประเมินผู้เสียภาษีจำนวน 151 เกณฑ์ ออกมาเป็นข้อมูลผู้เสียภาษีที่จะมีการตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีต่อไป



ข้อมูลจาก : งานสัมมนาเคล็ดลับการจัดการภาษีและการวางแผนภาษีบุคคลธรรมดา ที่ SCB Business Center (สยามสแควร์) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563