เงินได้ที่นายจ้างให้เมื่อออกจากงาน เสียภาษีอย่างไร

เมื่อต้องออกจากงานไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เราก็ยังต้องมีภาระภาษีที่ต้องบริหารจัดการกันอยู่ บทความนี้จึงนำเสนอข้อมูลและภาระภาษีที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง หมดสัญญาจ้าง และเกษียณอายุโดยที่ลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ว่าต้องมีการเสียภาษีอย่างไร เพื่อให้ลูกจ้างในกลุ่มดังกล่าวได้วางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


ก่อนอื่น เรามาดูกันว่าเงินก้อนที่ได้เมื่อออกจากงานมีอะไรบ้าง และมีทางเลือกในการเสียภาษีอย่างไร

1. เงินค่าชดเชย

เป็นเงินที่จะได้รับเมื่อออกจากงานตามกฎหมายแรงงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง ไล่ออก หมดสัญญาจ้าง และเกษียณอายุโดยที่ลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ทั้งนี้อัตราค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานจะคิดตามอายุงานที่ทำงานกับนายจ้างรายนี้และใช้อัตราเงินเดือนล่าสุดสำหรับการคำนวณค่าชดเชย ซึ่งสรุปได้ดังนี้

อายุงาน

อัตราค่าชดเชย

ไม่ถึง 120 วัน

ไม่มีสิทธิได้รับ

120 วันแต่ไม่ถึง 1 ปี

ได้รับค่าชดเชย 30 วัน

1 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปี

ได้รับค่าชดเชย 90 วัน

3 ปีแต่ไม่ถึง 6 ปี

ได้รับค่าชดเชย 180 วัน

6 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี

ได้รับค่าชดเชย 240 วัน

10 ปีแต่ไม่ถึง 20 ปี

ได้รับค่าชดเชย 300 วัน

ครบ 20 ปีขึ้นไป

ได้รับค่าชดเชย 400 วัน

อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีที่ลาออกด้วยความสมัครใจ หรือถูกไล่ออกด้วยความผิดร้ายแรง  จะไม่ได้รับเงินค่าชดเชยนี้ นอกจากนี้การเลิกจ้างยังแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • ได้รับค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก ค่าชดเชยที่ได้รับ 300,000 บาทแรกจะได้รับการยกเว้นภาษี เช่น หากได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างมา 450,000 บาท ค่าชดเชย 300,000 บาทแรกจะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วน 150,000 บาทที่เหลือจะต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • ได้รับค่าชดเชยเพราะเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้าง ค่าชดเชยดังกล่าวจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งก้อน ไม่ได้รับยกเว้น 300,000 บาทแรกเหมือนกกรณีที่ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก

2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อออกจากงานไม่ว่าด้วยสถานะใดก็ตาม จะมี 3 ทางเลือก ดังนี้

  • ถอนออกมาเป็นเงินสด ซึ่งเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ

1.เงินสะสม ซึ่งเป็นเงินที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือนเพื่อสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

2 ผลประโยชน์ของเงินสะสม

3  เงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างสมทบเพิ่มให้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

4  ผลประโยชน์ของเงินสมทบ

ในทางกฎหมาย หากถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยที่มีอายุสมาชิกไม่ครบ 5 ปีและยังมีอายุไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ เราจะต้องนำเงินในข้อ 2 – 4 มาเสียภาษีด้วย ส่วนเงินสะสมที่เราได้รับคืนมา ไม่ต้องนำมาเสียภาษี ซึ่งมีวิธีการเสียภาษีอย่างใด จะเล่าให้ฟังต่อไป

  • ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากไม่ต้องการถอนออกมาเป็นเงินสด เราสามารถเลือกคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและคงสถานะสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไปได้ โดยที่ลูกจ้างและนายจ้างไม่ต้องส่งเงินสะสมและเงินสมทบอีกต่อไป ระยะเวลาที่สามารถคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อบังคับของกองทุนแต่ไม่น้อยกว่า 90 วันนับตั้งแต่วันออกจากงาน ตราบเท่าที่เรายังไม่ถอนเงินออกมา เราก็ยังไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้ หากได้งานใหม่ และนายจ้างใหม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเดิมไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่ได้ด้วย ซึ่งเราสามารถนับอายุสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในภายหลังหากเรามีอายุสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกิน 5 ปี และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

  • โอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นอกจากโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังบริษัทใหม่แล้ว ยังมีทางเลือกในการโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้ เท่ากับว่ายังไม่มีการถอนเป็นเงินสดออกมา เราก็ยังไม่ต้องเสียภาษีสำหรับเงินก้อนนี้แต่อย่างใด


ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ และคงเงินเก็บเพื่อการเกษียณอายุไว้ แนะนำว่าหากออกจากงานที่ไม่ใช่การเกษียณอายุ ให้เลือกขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อโอนไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่ (หากมี) หรือโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจะดีกว่า เพื่อที่จะไม่ต้องนำเงินก้อนนี้มาเสียภาษี


3. วิธีเสียภาษีสำหรับเงินก้อนที่ได้รับเมื่อออกจากงาน

  • มีอายุงานครบ 5 ปี เรามีสิทธิที่จะเลือกนำเงินก้อนนี้ไปรวมหรือไม่รวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีได้ โดยหากเราเลือกที่จะแยกยื่น เราจำเป็นต้องยื่นโดยใช้ ‘ ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ ’ ซึ่งโดยทั่วไปหากสามารถแยกยื่นภาษีได้โดยไม่ต้องมารวมกับรายได้อื่นๆ จะทำให้ภาระภาษีต่ำลง ดังนั้นเราควรเลือกใช้สิทธิแยกยื่นด้วยใบแนบ

วิธีการคำนวณภาษีในใบแนบ

เงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน AAA บาท

หัก ค่าใช้จ่าย

  • ค่าใช้จ่ายส่วนแรก (7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน) BBB บาท
  • ค่าใช้จ่ายส่วนที่สอง (เงินก้อนที่ได้ – ค่าใช้จ่ายส่วนแรก) x 50% CCC บาท

รวมค่าใช้จ่าย DDD บาท

เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย EEE บาท

คำนวณภาษีที่ต้องชำระ (ตามขั้นบันได*) FFF  บาท

* เสียภาษี 5% ตั้งแต่บาทแรก หรือ 150,000 บาทแรกไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี

เพื่อให้เห็นภาพเรามาดูตัวอย่างกันดีกว่า สมมติว่านายมั่งคั่งทำงานมา 10 ปีเต็ม ถูกให้ออกจากงานเนื่องจากนายจ้างต้องการปิดกิจการ โดยได้เงินเดือน 50,000 บาท ได้รับเงินชดเชย 500,000 บาท และมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังหักเงินสะสมแล้วอีก 750,000 บาท (อายุสมาชิก 10 ปี) เนื่องจากมีอายุงานและอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกิน 5 ปี สามารถยื่นภาษีด้วยใบแนบได้ สามารถคำนวณได้ดังนี้



เงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ไม่รวมเงินสะสม)

750,000 บาท

เงินชดเชยหักส่วนที่ได้ยกเว้น 300,000 บาท

200,000 บาท

รวมเป็นเงิน

950,000 บาท

คำนวณค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายส่วนแรก (7,000 x 10)

70,000 บาท

ค่าใช้จ่ายส่วนที่สอง (950,000 – 70,000) x 50%

440,000 บาท

รวมค่าใช้จ่าย

510,000 บาท

เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย

440,000 บาท

คำนวณภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ

29,000 บาท

(300,000 x 5% + 140,000 x 10%)

จะเห็นว่าการยื่นผ่านใบแนบจะเสียภาษีเพียง 3.05% (29,000/950,000) ของเงินก้อนที่ได้รับ ทำให้ประหยัดภาษีไปได้มากหากเทียบกับการนำไปรวมกับรายได้ประเภทอื่นๆ


อย่างไรก็ตามหากเราทำงานกับนายจ้างนี้ไม่ถึง 5 ปี  และมีอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ถึง 5 ปีเราจะไม่ได้รับสิทธิยื่นเสียภาษีเงินก้อนนี้ด้วยใบแนบ  แต่ต้องนำเงินก้อนทั้งหมดที่ได้รับไปรวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้เราต้องเสียภาษีในฐานภาษีที่สูงขึ้น


ดังนั้นหากเกิดเหตุที่ทำให้ถูกออกจากงาน ต้องมาพิจารณาวางแผนภาษีให้รอบด้าน หากสามารถวางแผนคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้โดยไม่ถอนออกมา ก็จะทำให้ลดภาระภาษีไปได้มากเลยทีเดียว นอกจากนี้การรู้จักใช้สิทธิใบแนบถือเป็นตัวช่วยบรรเทาภาษีและเพื่อรักษาเงินก้อนสุดท้ายให้ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน

บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร