ตามรอยสตาร์ทอัพหญิงระดับโลก เปลี่ยนประสบการณ์สร้างโอกาส

เมื่อพูดถึงสตาร์ทอัพที่สามารถสร้างชื่อเสียงในระดับคนครึ่งโลกรู้จัก เหลียวซ้ายแลขวาอาจพบว่ามีแต่ผู้ชายเป็นหัวเรือตั้งธุรกิจเกิดใหม่ ยกตัวอย่างจากประเทศที่เป็นแหล่งสตาร์ทอัพอย่าง สหรัฐอเมริกา มีบริษัทเอกชนระดับ “ยูนิคอร์น” ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปอยู่ราว 134 บริษัท (ข้อมูล ณ ปี 2561) แต่มีเพียง 14 รายเท่านั้นที่ผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิง


หากเจาะลึกลงไปอีกนิด ก็จะพบว่ามีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นต้นกำเนิดแนวคิดกิจการใหม่ๆ และกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกม พลิกโฉมสร้างความสะดวกในชีวิตประจำวันของเราได้มากมาย ในแบบที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์และความละเอียดอ่อน สะท้อนว่าต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นจึงจะจินตนาการไปถึง!

world-class-female-startups1

เอ่ยชื่อของ “Grab” นาทีนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ที่ผ่านมาแสงไฟอาจฉายไปยังผู้ก่อตั้งหนุ่มอย่าง “แอนโธนี ตัน” เพียงคนเดียว และมีน้อยคนจะรู้ว่ากิจการที่มีถิ่นกำเนิดจากมาเลเซียรายนี้ มีสาวคู่หูผู้ร่วมก่อตั้งมาตั้งแต่ก้าวแรกอีกคนอย่าง “ตัน ฮุ่ย หลิง” เพื่อนร่วมชั้นเรียนโปรแกรมเอ็มบีเอ ของ Harvard Business School รุ่นเดียวกับ แอนโธนี


แทนการรับบทปรากฏตัวต่อสาธารณชน ฮุ่ย หลิง พึงพอใจที่จะผลักดันความสำเร็จอยู่เบื้องหลังมากกว่า ในฐานะที่เข้าใจถึงแก่นที่มาของธุรกิจ Ride Sharing ของตัวเอง เพราะตกผลึกมาจากประสบการณ์ตรงในการเป็นผู้โดยสารหญิงที่ “รู้สึกไม่ปลอดภัย” ในการเรียกรถแท็กซี่กลับบ้านยามวิกาล


ความไม่สบายใจกับความปลอดภัยในการนั่งแท็กซี่ ทำให้ไม่กล้าเรียกรถไปหลายที่ที่อยากไป เพราะบางครั้งแม้เธอจะกล้านั่งแท็กซี่ แต่ก็ยังไม่วายทำให้พ่อกับแม่หยุดเป็นห่วงไม่ได้ และความรู้สึกนี้เป็นเรื่องแย่จนนำมาซึ่งการคิดค้นระบบของ Grab ขึ้นมา โดยใช้ชื่อในช่วงแรกว่า MyTeksi


ฮุ่ย หลิง กล่าวว่า ทั้งตัวเธอและผู้หญิงคนอื่นๆ ในมาเลเซียต่างประสบปัญหาเดียวกัน เมื่อเธอต้องกลับบ้านดึกในสมัยก่อน และเหนื่อยล้าเกินกว่าจะขับรถกลับเอง โทรศัพท์ที่ยังไม่มีจีพีเอสติดตามตัว ทำให้แม่ต้องอยู่รอถึงดึกดื่น และเธอต้องคอยรายงานทะเบียนรถ พิกัด และเวลาที่คาดว่าจะถึงบ้านโดยประมาณให้แม่รู้ดังนั้น การให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยด้วยการใช้ระบบเรตติ้งของคนขับ จึงเป็นฟังก์ชั่นสำคัญอันดับต้นๆ ที่บริการเรียกรถรายนี้คิดค้น เพื่อแก้จุดบอดของระบบแท็กซี่แบบเดิมที่มีปัญหามาตลอด


แม้ว่า ฮุ่ย หลิง ไม่ได้พาตัวเองกลับมาร่วมพัฒนาบริษัททันทีหลังเรียนจบ เพราะต้องใช้ทุนของบริษัทที่ส่งไปเรียน และตามด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานที่ซานฟรานซิสโกต่อ แต่ระหว่างนั้นเธอใช้วิธีการสื่อสารทางไกลกับทีมก่อตั้ง จนมาถึงจุดหนึ่งที่บริษัทกำลังขยายและต้องการเธออย่างมาก ฮุ่ย หลิง จึงกลับมายังแผ่นดินเอเชียอีกครั้ง และร่วมพัฒนาธุรกิจแตกย่อยไปอีกหลากหลายทาง จนถึงปัจจุบันที่ Grab กลายเป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้

หันกลับไปมองฝั่งอเมริกาที่มีเจ้าของกิจการระดับยูนิคอร์นเป็นผู้หญิงน้อยนิด แต่เมื่อผลักดันธุรกิจให้เป็นรูปธรรมแล้ว กลับพลิกโฉมชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างที่ไม่เคยเป็นมา ในจำนวนนั้นต้องมีชื่อของ “เจนนิเฟอร์ ฮายแมน” ซีอีโอ และ “เจนนิเฟอร์ ไฟลสส์” ผู้ร่วมก่อตั้ง “Rent the Runway” ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าและเครื่องประดับแบรนด์ดีไซเนอร์ โดยตัวของ ฮายแมน ยังได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ ให้ติด 100 อันดับบุคคลทรงอิทธิพลประจำปี 2019 อีกด้วย


การที่สองเพื่อนคู่หูจาก Harvard Business School เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน สร้างฐานลูกค้า จนสั่งสมมูลค่าบริษัทระดับพันล้านได้นั้น มีจุดกำเนิดมาจากประสบการณ์ตรงที่คลุกคลีอยู่ในวงการแฟชั่น และเห็นช่องว่างของตลาดนี้ที่สามารถนำโมเดลเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy มาใช้ได้ เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำเพื่อใช้ในโอกาสสำคัญ แต่ในราคาย่อมเยาว์กว่าการซื้อหามาครอบครอง และมีหัวใจหลักซ่อนอยู่คือลดการผลิตสิ้นเปลืองของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่เป็นตัวการใช้ทรัพยากรและทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกจากมีแผนจะนำธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ฮายแมน และ ไฟลสส์ ยังได้รับการยกย่องในเรื่องการจัดการองค์กรและบทบาทยืนหยัดเพื่อความเท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องของเพศ เชื้อชาติ และสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด โดยปัจจุบันบริษัทของเธอเปิดโอกาสให้ผู้หญิง รวมถึงคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวทำงานในสัดส่วนกว่า 93%


บทเรียนจากสตาร์ทอัพระดับโลกทั้งสองรายจากสองมุมโลกนี้ เป็นบทพิสูจน์ว่า...บางครั้งความเข้าใจและประสบการณ์ในแบบผู้หญิงนี่เอง ก็เป็นตัวจุดประกายธุรกิจเปลี่ยนโลก และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีได้ไม่แพ้ใคร!