ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
คนไทยพร้อมแค่ไหน เรื่องจัดการเงิน
บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ
วอร์เรน บัฟเฟต์ เป็นสุดยอดนักลงทุนแบบคุณค่า (Value Investor) สายอนุรักษ์นิยมที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยความมั่งคั่งของเขาติดอันดับต้นๆ ของโลกทีเดียว โดยบัฟเฟต์ได้กล่าวถึงการออมไว้ว่า
‘ อย่ารอเก็บเงินออมหลังจากใช้จ่าย แต่จงใช้จ่ายด้วยเงินที่เหลือจากการออม ’ หรือแปลง่ายๆ ว่า ‘ อย่าใช้ก่อนเก็บ แต่ให้เก็บก่อนใช้ ’ นั่นเอง ซึ่งคำกล่าวนี้ ทุกคนควรยึดถือเพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังดำเนินไปอย่างไม่ค่อยราบรื่นมากนัก นั่นคงเป็นเพราะ "การออม" ถือเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างความมั่นคงทางการเงินที่ดีที่สุด และสามารถใช้เป็นหลักประกันทางการเงินสำหรับยามฉุกเฉินและจำเป็นได้เป็นอย่างดี
เรามาลองดูกันว่า คนไทยในปัจจุบัน มีพฤติกรรมการออมและการจัดการการเงินอย่างไร
จากผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยในปัจจุบันที่มีเงินออม คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 77.4 ของประชากรทั้งหมด โดยร้อยละ 47.4 เป็นการออมระยะสั้น ส่วนร้อยละ 52.6 เป็นการออมระยะยาว ซึ่งมีทั้งการออมเพื่อใช้จ่ายในช่วงหลังการเกษียณ การออมเพื่อการซื้อบ้าน และการออมเพื่อการศึกษาบุตร แปลว่าเอาเข้าจริงคนที่คิดออมเงินเพื่อเกษียณอายุก็ยังมีจำนวนที่น้อยอยู่
แม้ว่าผลสำรวจนี้จะชี้ว่าคนไทยมีพฤติกรรมการออมที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าอดีต แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหา (ขอย้ำอีกครั้ง) คือ มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ที่สามารถวางแผนการออมเพื่อการเกษียณและทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ร้อยละ 34.3 มีการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณแต่ไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ร้อยละ 21 ได้แต่คิด แต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ และร้อยละ 19.7 ยังไม่ได้เตรียมการเพื่อเกษียณอายุเลย แปลว่าในคน 100 คนจะมีเพียงแค่ 25 คนที่จะเกษียณอายุได้ตามแผน ในขณะที่อีก 75 คนจะเกษียณอายุไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากจริงๆ
นอกจากนี้สิ่งที่คนไทยกังวลเป็นอันดับต้นๆ คือ ปัญหาด้านสุขภาพ (เพราะเป็นตัวการทำลายเงินออม) จากการสำรวจพบว่า คนไทยกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพร้อยละ 57 และกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการเดินทาง ร้อยละ 42 แต่สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ร้อยละ 74 ของกลุ่มสำรวจไม่คิดว่าการทำประกันสุขภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนในปัจจุบัน และยังไม่สนใจทำประกันสุขภาพ มีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้นที่มีการซื้อประกันสุขภาพแล้ว
ทั้งๆ ที่รายจ่ายที่สำคัญหลังเกษียณคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ พนักงานประจำหลายท่านที่มีสวัสดิการประกันกลุ่มจากบริษัทมักคิดว่า เดี๋ยวไว้ค่อยมาซื้อประกันสุขภาพตอนใกล้เกษียณก็ได้ ซื้อตอนนี้เหมือนเป็นภาระ แต่ในความเป็นจริงการซื้อประกันสุขภาพนั้น มีเงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้นะ ต้องใช้สุขภาพที่ดีซื้อด้วย แปลว่า เราไม่มีทางรู้เลยว่า ตอนที่เราใกล้เกษียณนั้นสุขภาพของเรายังจะดีอยู่หรือไม่ หากเราสุขภาพไม่ดี หรือมีโรคประจำตัวไปแล้ว เราอาจซื้อประกันสุขภาพไม่ผ่านแล้วก็เป็นได้ นั่นทำให้เราต้องเตรียมเงินอีกก้อน เพื่อใช้สำหรับดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย
หันมาดูปัญหาด้านหนี้ครัวเรือนบ้าง โดยเมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงถึง 81.1% เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนการออมต่อรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องในระยะ 20 ปี โดยในปี 2558 การออมเงินภาคครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่เพียง 5% แม้จะมีจำนวนคนมีเงินออมร้อยละ 77.4 แต่จำนวนเงินออมสุทธิเฉลี่ยต่อคนอยู่แค่ 9,561 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ ถ้าขืนยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถเกษียณอายุได้อย่างมั่งคั่งอย่างแน่นอน และจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติทีเดียว เพราะขอฟันธงว่าลำพังสวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในยามเกษียณจริงๆ
กล่าวโดยสรุป สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ต่ำมาก ดังนั้น ทุกคนต้องตระหนักและลุกขึ้นมารับผิดชอบการเงินของตัวเองอย่างจริงจัง ต้องเพิ่มรายได้ ลดการจ่ายที่จะนำไปสู่การก่อหนี้ และต้องเพิ่มระดับการออมให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนลดการก่อหนี้ และใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ ไม่บั่นทอนวินัยทางการเงิน และการคลัง