บันได 5 ขั้น สร้างความมั่นคงทางการเงินของวัยเริ่มทำงาน

1.สนุกกับการใช้ชีวิตและมีวินัยทางการเงิน

หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยและเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน หลายคนจะเน้นการใช้จ่ายมากกว่าเก็บออม เพราะมีรายได้เป็นของตัวเอง จึงจ่ายง่ายเพื่อเติมเต็มความสนุกทั้งการท่องเที่ยว สังสรรค์ หรือจัดหาสิ่งที่ช่วงวัยเรียนไม่สามารถทำได้ อาจทำให้ขาดความรอบคอบในการใช้จ่าย แต่ต้องคำนึงว่าการใช้จ่ายอย่างไม่ไตร่ตรองในวันนี้อาจสร้างชีวิตที่ยากลำบากในอนาคต จึงควรมีวินัยทางการเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน โดยการจัดสรรรายได้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อย่างเป็นสัดส่วน เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ควรจัดสรรเงิน 50% ของเงินเดือนหรือประมาณ 10,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทาง ค่าอาหารประจำวัน ค่าสาธารณูปโภคและการสื่อสาร อีก 30% หรือประมาณ 6,000 บาท เพื่อการออมและทำให้เกิดดอกผล และสุดท้าย 20% หรือประมาณ 4,000 บาท เพื่อสิ่งที่ตอบสนองความต้องการหรือประสบการณ์ของชีวิต เช่น การสังสรรค์หรือซื้อสิ่งของที่นอกเหนือความจำเป็น เพื่อให้ชีวิตมีความสนุกรื่นรมย์และสะดวกสบายบ้าง เงินในส่วนสุดท้ายนี้ ไม่จำเป็นต้องจ่ายออกไปทุกเดือน จะเก็บสะสมไว้เพื่อให้รางวัลกับชีวิตในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ก็ได้


สัดส่วนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องตายตัว แต่หากสามารถสร้างวินัยทางการเงินโดยการจัดสรรรายได้ในลักษณะนี้ตั้งแต่แรกเริ่มทำงานจนเป็นนิสัย จะไม่เสี่ยงต่อสภาวะการชักหน้าไม่ถึงหลัง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ยังมีเงินออมจำนวนหนึ่งให้อุ่นใจดัวย

2.สร้างความมั่นคงในหน้าที่การงาน (ใช้ชีวิตด้วยต้นทุนที่เรียบง่าย)

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้เกิดการขาดแคลนวัยทำงานในอีกไม่ช้า จึงเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ในการเข้ามาเติมเต็มและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้า โดยใช้ความรู้ ทักษะ ความชำนาญและประสบการณ์ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติส่วนบุคคลที่จะก่อให้เกิดโอกาสทั้งในหน้าที่การงานและการเงิน อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินด้วย


การจะต่อยอดความรู้นั้น ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเพราะการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ในปัจจุบันมีต้นทุนที่ลดลงกว่าอดีตมาก เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ทั้งผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบันความรู้ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งได้เปิดคอร์สออนไลน์สำหรับวัยทำงาน ทำให้สามารถเรียนรู้ได้โดยตัดต้นทุนค่าเดินทางและที่พักออกไป และยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ได้อย่างสะดวกในระดับหนึ่ง ลดอุปสรรคและเปิดขอบเขตโลกการเรียนรู้ให้กว้างและลึกมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และการฝึกทักษะให้กับตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงเปรียบเสมือนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จะสร้างผลตอบแทนได้ในอนาคต

3.เป็นนักวางแผนทางการเงิน (ไม่ใช่เน้นประหยัด)

หลายคนเข้าใจผิดว่าการสร้างความมั่นคงทางการเงิน คือ การประหยัดและเก็บออม แต่แท้จริงแล้ว การเป็นนักวางแผนทางการเงินต่างหากที่เป็นหัวใจหลักทำให้เกิดทั้งความมั่นคงและมั่งคั่ง การกำหนดเป้าหมายจะนำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญ (Prioritize) ในสิ่งที่ต้องลงมือทำ มีกรอบระยะเวลา (Timeline) รวมถึงการวางแผนรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง


การวางแผนการเงินจะช่วยให้เห็นสิ่งที่ต้องทำชัดเจนยิ่งขึ้น มีการไตร่ตรองและมีความรอบคอบ ผู้ที่วางเป้าหมายทางการเงินเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงานจะเริ่มจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องลงมือทำ เช่น วางแผนใช้หนี้ที่กู้ยืมเพื่อการศึกษาภายในปีที่กำหนดหรือเริ่มเก็บออมและลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผล การวางแผนและสะสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อยไปเรื่อย ๆ จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ในภาพใหญ่และไม่หลงทางจนเวลาผ่านไปโดยไม่บรรลุเป้าหมายใด ๆ


4.วางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อเริ่มทำงานสำหรับมนุษย์เงินเดือน คือ กรณีนายจ้างเป็นองค์กรที่มีสวัสดิการระบบบำนาญ ถือเป็นผลประโยชน์ที่ต้องศึกษาตั้งแต่เริ่มงานเพื่อจะได้จัดสรรเงินให้เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ที่จะได้ โดยเฉพาะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะได้สะสมเงินแล้วนายจ้างก็จะสมทบให้อีกจำนวนหนึ่งตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง


หลายองค์กรสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีการออมเพื่อวัยเกษียณ โดยสมทบเท่าที่พนักงานเก็บออมโดยกำหนดเพดานไว้ เช่น พนักงานออม 3% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบให้ 3% เท่ากัน แต่ถ้าพนักงานสะสมมากขึ้น เช่น 5% หรือ 10% นายจ้างจะสมทบให้ในสัดส่วนเดียวกัน วิธีการนี้ เป็นการสร้างวินัยให้ตัวเองตั้งแต่วันเงินเดือนออก เพราะนายจ้างจะหักเงินส่วนนี้ไว้และสมทบให้ตามเงื่อนไขสัญญาจ้าง

5.เน้นการลงทุน (ไม่ใช่การกู้ยืม)

สิ่งที่วัยเริ่มทำงานต้องคิดทบทวนก่อนก่อหนี้ คือ การสร้างหนี้เกินกำลังที่จะชำระหรือไม่ และเป็นการสร้างหนี้ดีที่จะเกิดมูลค่าในอนาคตหรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใด ๆ และหากเป็นไปได้ควรหาความรู้ในสินทรัพย์การลงทุนและเริ่มต้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนก่อน แล้วจึงนำผลกำไรบางส่วนไปซื้อข้าวของ ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการยกระดับเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว เพราะยิ่งเริ่มต้นลงทุนเร็วเท่าไหร่ ระยะเวลาที่จะสร้างผลตอบแทนจะมีมากขึ้นเท่านั้น


ดังนั้น การเรียนรู้ทักษะทางการเงินต้องเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มทำงาน ไม่ควรรอจนใกล้เกษียณเพราะอาจไม่ทันการเสียแล้วก็เป็นได้