ประกันที่ใช่ สำหรับ First Jobber

เมื่อเราเรียนจบและเข้าสู่วัยทำงาน ก็ถึงช่วงเวลาที่เราต้องรับผิดชอบกับชีวิตของเราอย่างเต็มที่ ซึ่งการวางแผนการเงินให้ดีตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการทำงาน จะทำให้เราประสบความสำเร็จทางการเงินได้อย่างไม่ยาก และหนึ่งในแผนการเงินที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต คือ การวางแผนประกันชีวิต


สำหรับ "First Jobber" หรือคนที่เพิ่ง "เริ่มทำงาน" หลายคนอาจมองว่าการ "การทำประกัน" ไม่ใช่เรื่องจำเป็นต่อชีวิตเพราะคิดว่าตัวเองยังอายุน้อย สุขภาพยังแข็งแรงดี มีความเสี่ยงต่ำ หรืออาจจะรู้สึกว่ายังมีเงินไม่มากพอที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันในแต่ละเดือน อยากเอาเงินไปทำอย่างอื่นก่อน อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มุมมองเหล่านี้อาจเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มกังวลเรื่องสุขภาพของตัวเองมากขึ้น และตระหนักว่า การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกอายุ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและเงินในกระเป๋าของเราได้เสมอ ดังนั้นการวางแผนประกันที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการทำประกันสำหรับ First Jobber

1. จุดประสงค์ในการทำประกัน เนื่องจากประกันมีหลากหลายรูปแบบ เราจึงต้องรู้ก่อนว่า เราจะทำประกันไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อความคุ้มครองชีวิต ความคุ้มครองสุขภาพ และเพื่อการออม เป็นต้น เมื่อรู้แล้ว เราจะได้เลือกแบบประกันที่ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการได้มากที่สุด

2. ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน สำหรับ First Jobber นั้นเรื่องเงินถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในช่วงแรกๆ ของการทำงาน เงินเดือนอาจจะไม่เยอะมากนัก จึงต้องจัดสรรรายรับ-รายจ่ายให้ดี ทำให้การเลือกเบี้ยประกันที่เราสามารถจ่ายไหวจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยอัตราการจ่ายเบี้ยประกันที่ดีไม่ควรเกิน 10% ของรายได้รวมต่อปี

ประกันแบบไหนที่ตอบโจทย์ First Jobber

1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ คือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้เอาประกัน (คุ้มครองจนถึงอายุ 90 – 99 ปี แล้วแต่แบบประกัน) โดยบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ใน 2 กรณี คือ

a. กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต บริษัทประกันจะจ่ายทุนประกันให้กับผู้รับผลประโยชน์

b. กรณีผู้เอาประกันอยู่จนครบสัญญา ผู้เอาประกันก็จะได้รับทุนประกันชีวิตไป

โดยจุดเด่นของประกันชีวิตประเภทนี้ คือ มีทุนประกันที่สูง เบี้ยประกันต่ำ และสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีได้หากรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี เหมาะกับผู้ต้องการทุนประกันที่สูง เพื่อคุ้มครองภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆ กรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน คนข้างหลังจะได้ไม่เดือดร้อน แบบนี้จึงเหมาะกับ First Jobber ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต โดยจ่ายเบี้ยไม่สูงมาก

2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครองควบคู่ไปด้วย โดยหากเราส่งเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ (เช่น 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี) บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินพร้อมผลตอบแทนคืนให้เรา โดยมีทั้งแบบจ่ายคืนเป็นเงินก้อนครั้งเดียว หรือแบบมีเงินคืนระหว่างทางตลอดสัญญาก็ได้ และหากเราเสียชีวิตระหว่างที่กรมธรรม์มีผลบังคับ ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงินก้อนที่เรียกว่า “จำนวนเงินเอาประกัน” หรือ “ทุนประกัน” ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา


หากเปรียบเทียบกับประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ด้วยเบี้ยประกันที่เท่ากัน แบบสะสมทรัพย์นี้จะได้ทุนประกันที่ต่ำกว่า เพราะบริษัทประกันจะนำเงินส่วนหนึ่งจากเบี้ยประกันไปเป็นเงินออมให้เรานั่นเอง ดังนั้นแบบประกันสะสมทรัพย์ จึงเหมาะกับ First Jobber ที่ต้องการความมั่นคง เพราะเป็นการออมเงินพร้อมกับได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตไปด้วย ผลตอบแทนจึงไม่สูงเมื่อเทียบกับการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น อย่าง หุ้น กองทุน หรืออสังหาฯ ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยของประกันแบบนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 – 2% ต่อปี และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้


3. ประกันสุขภาพ คือ ประกันที่เน้นให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกัน ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยในปัจจุบันนี้ ความเสี่ยงในด้านสุขภาพไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุอีกต่อไป เมื่อโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมาก หรือแม้แต่โรคร้ายที่มีโอกาสกัดกินสุขภาพของคนทุกวัยได้


หลายคนอาจมองว่าเบี้ยประกันสุขภาพ คือ เบี้ยที่ต้องจ่ายทิ้ง เลยรู้สึกไม่คุ้มและไม่อยากทำ แต่การทำประกันสุขภาพ คือ การบริหารความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายขนาดไหน เช่น ถ้าเราจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพทุกปี ปีละ 10,000 บาท เราจะรู้ทันทีว่าเราต้องจ่ายเงินเท่าไร และจะมีความคุ้มครองอยู่ที่เท่าไหร่ ทำให้เวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราก็จะอุ่นใจว่ามีบริษัทประกันช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง (เท่าที่เรามีความคุ้มครอง)


แต่หากเราไม่มีประกันสุขภาพ เราก็จะเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดไว้เอง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ค่าใช้จ่ายนั้นอาจจะเป็น 5 หมื่น 5 แสน 1 ล้าน หรือบานปลายจนไม่รู้เลยว่าต้องจ่ายอีกเท่าไร ซึ่งจะกระทบฐานะการเงินของเราอย่างแน่นอน


ในการวางแผนซื้อประกันสุขภาพ จะเริ่มจากพิจารณาจากสวัสดิการที่มีอยู่ เช่น ประกันกลุ่มของบริษัท หรือสิทธิประกันสังคม เปรียบเทียบกับความต้องการที่เราอยากได้ เช่น อาจพิจารณาจากค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่เราใช้บริการเป็นประจำว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และมีส่วนต่างหรือไม่ เราก็อาจทำเพิ่มในส่วนต่างที่ยังขาดอยู่ได้ เป็นต้น


กล่าวโดยสรุป การเลือกซื้อประกันสำหรับ First Jobber ควรเลือกจากความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคน งบประมาณที่เหมาะสม และที่สำคัญต้องไม่ลืมทำความเข้าใจเงื่อนไขของประกันแต่ละประเภทก่อนตัดสินใจทำ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดอย่างที่ควรจะเป็นด้วย

บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร