วัยเกษียณ ต้องเผชิญอะไรบ้าง

เมื่อถึงวัยเกษียณ อาจคิดว่าเป็นช่วงที่มีความสุข เพราะจะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เดินทางท่องเที่ยวหรือทำในสิ่งที่อยากจะทำ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญหลายเรื่อง ซึ่งการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ชีวิตมีความสุขมากที่สุด ในวัยเกษียณมี 3 เรื่องหลักๆ คือ

1.รายได้ลดลง

เป็นปัญหาที่มีความสำคัญในช่วงวัยเกษียณ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการทำงานจากอายุ ทำให้รายได้ลดลง หรือมีโอกาสหารายได้ลดลงเมื่อเทียบกับตอนอยู่ในวัยทำงาน


2.ค่าใช้จ่ายยังมีเหมือนเดิม

เมื่อเกษียณอายุแล้ว หมายความว่าไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้หลักเหมือนช่วงวัยทำงาน ซึ่งสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะมีสัดส่วนลดลงเมื่อเกษียณอายุแล้ว แต่ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายประจำและต่อเนื่องไปจนสิ้นอายุขัย


3.สุขภาพเสื่อมลง

ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม จึงเกิดอาการผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพไม่แข็งแรงหรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งหากพิจารณาถึงวิธีการดูแลและรักษาโรคเหล่านี้ต้องใช้เงินรักษาค่อนข้างสูง

โดยเรื่องที่วัยเกษียณต้องเผชิญ มีทั้งหน้าที่การงาน สังคมและสถานะทางการเงิน รวมถึงร่างกายและจิตใจ ดังนั้น เพื่อรักษามาตรฐานการดำเนินชีวิตหลังเกษียณให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับการดำเนินชีวิตช่วงก่อนเกษียณ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่ต้องเผชิญ ดังนี้


1.ด้านการเงิน

เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมพร้อมก่อนวัยเกษียณ โดยเริ่มวางแผนการเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่อายุน้อยๆ เพื่อจะได้มีช่วงระยะเวลาให้เงินงอกเงย ตามแนวคิดออมก่อนรวยกว่า เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของตัวเอง โดยขั้นตอนเบื้องต้นที่ช่วยให้มีเงินใช้พอเพียงในวัยเกษียณ มีดังนี้


ประมาณการอายุที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงเกษียณอายุไปจนสิ้นอายุขัย อาจจะประมาณการจากบุคคล ในครอบครัว โดยพิจารณาว่าเฉลี่ยแล้วมีอายุยืนยาวเพียงใด และนำมาใช้เป็นตัวเลขสำหรับการประมาณการอายุขัยของตัวเอง เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย อายุขัยเฉลี่ย 80 ปี ก็ประมาณการได้ว่าเราควรจะมีอายุขัยเท่ากับ 80 ปี เป็นต้น


กำหนดเป้าหมายการดำเนินชีวิตที่ต้องการเมื่อเกษียณอายุ เป็นการวาดภาพการดำเนินชีวิตตลอดช่วงหลังเกษียณอายุที่ได้ประมาณการไว้ว่าต้องการใช้ชีวิตแบบไหน และต้องการจะทำสิ่งใดบ้างหลังจากเกษียณอายุไปแล้ว แต่โดยทั่วไปทุกคนล้วนต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างจากช่วงก่อน เกษียณอายุมากนัก เช่น ต้องการมีเงินใช้จ่ายต่อเดือนใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในช่วงก่อน เกษียณอายุ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตต่ำลง แต่ถ้าต้องการเงินเพื่อท่องเที่ยว หรือรองรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ ก็ต้องเก็บเงินมากขึ้น เป็นต้น


ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องการสำหรับการเกษียณอายุ หลังจากที่ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุแล้ว ให้ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในช่วงเกษียณอายุทั้งหมดว่ามี จำนวนเท่าใด โดยทั่วไปควรมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยให้เพียงพอกับความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานสำหรับวัยเกษียณ เช่น ค่าอาหาร ค่าของใช้ต่างๆ ที่จำเป็นภายในบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง ค่าสันทนาการ  (ที่มา :ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

2.ด้านวิถีชีวิตแนวใหม่

หลังจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ทำให้คนวัยเกษียณต้องปรับตัวตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง ซึ่งในอดีตผู้สูงอายุนิยมออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่ในอนาคตต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้นเพื่อสุขอนามัย เช่น ทำกิจกรรมผ่านทางออนไลน์ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มากที่สุด หรือเมื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เช่น การใช้ Digital Banking การจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องปกติแทนที่การใช้เงินสด ซึ่งผู้สูงอายุต้องเรียนรู้ เป็นต้น


3.ด้านสุขภาพและประกัน

ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมักจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี และยิ่งปีท้ายๆ ของอายุขัย ค่าใช้จ่ายด้านนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในวัยเกษียณอาจมีค่ารักษาพยาบาลมากกว่า 50% ของเงินในแต่ละเดือน ดังนั้น ในช่วงวัยทำงานควรวางแผนหรือสำรองค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลไว้ เช่น การทำประกันสุขภาพ เนื่องจากค่าเบี้ยประกันยังไม่แพงและช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ หรือประกันแบบบำนาญ ที่มีการจ่ายเงินคืนในช่วงหลังเกษียณ เพื่อจะได้นำเงินส่วนนี้มาใช้สำหรับการวางแผนจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ และใช้สำหรับดูแลตัวเองในช่วงวัยเกษียณ


นอกจากการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน การเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ก็มีความสำคัญก่อนถึงวัยเกษียณ เช่น ร่างกาย จิตใจ สังคม สุขภาพ วิถีชีวิต ซึ่งควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม และเมื่อถึงวันเกษียณจะได้มีภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายอย่างมีความสุข