ดัชนีข้าวแกง ผ่านไป 20 ปี แพงขึ้นแค่ไหน

เหล่าคนเจนเอ็กซ์หรือเจนวาย จำได้ไหมว่าแค่พกเงินไปโรงเรียนวันละ 20 บาท ก็รู้สึกอิ่มอย่างราชาได้แค่ไหน แต่มาดูค่าใช้จ่ายที่เราต้องควักให้ลูกหลาน หรือกระทั่งใช้รับประทานอาหารของตัวเองเดี๋ยวนี้สิ แค่ขึ้นรถเมล์แบบร้อนๆ ไป-กลับก็หมดเกลี้ยงแล้ว


ข้าวแกงร้อนๆ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งเคยสนนราคาไม่เกิน 20 บาท ปัจจุบันมีไม่ถึง 35 บาทก็อาจจะรอดยากในการฝากท้องกับร้านข้าวแกงในเมืองหลวง


เคยสงสัยหรือไม่ว่า อะไรที่ทำให้สินค้าและของเหล่านี้แพงขึ้น จนทำให้ค่าครองชีพในแต่ละวันแพงขึ้น

คำตอบก็คือ “เงินเฟ้อ” คำที่พบเจอบ่อยๆ ที่บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าเป็นดัชนีที่ใช้วัดระดับการเพิ่มขึ้นของสินค้าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยจะปรากฏบ่อยเมื่ออ่านหรือฟังข่าวสารเศรษฐกิจชวนปวดขมับ

แต่อย่าเพิ่งส่ายหน้าหนีเมื่อรู้ว่าเราจะพูดเรื่องเงินเฟ้อ เพราะสิ่งเหล่านี้ใกล้ชิดสนิทแน่นกับชีวิตประจำวันของเรามาก อย่างเรื่องราคาข้าวแกงที่เกริ่นมานั้นก็เป็นตัวอย่างที่ดี


รู้หรือไม่ว่า เวลาจะคิดว่าปีนี้เงินเฟ้อจะทรงตัวที่กี่เปอร์เซ็นต์นั้นเขาคิดจากอะไร
ประเทศไทย มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วัดดัชนีทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ, ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า, ราคาขายปลีกสินค้าและบริการ โดยกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ส่วนหน่วยงานที่ทำหน้าที่หาอัตราเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งจะอ้างอิงจาก”ดัชนีราคาผู้บริโภค” ซึ่งเอาไว้วัดความต้องการและศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว และระดับค่าครองชีพของคนไทย


ดัชนีราคาผู้บริโภคนี้ จะอ้างอิงจากจำนวนรายการสินค้าและบริการจำนวนทั้งสิ้น 422 รายการ โดยแบ่งเป็น 7 หมวด ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องนุ่งหุ่มและรองเท้า, เคหสถาน, การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล, ยานพาหนะ การขนส่งและสื่อสาร, บันเทิงและการศึกษา, ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์


เห็นไหมว่า จะเหลียวซ้ายแลขวาก็เป็นหมวดที่เราต้องใช้สอยในชีวิตแทบทั้งสิ้น


ทีนี้ลองมาดูกันว่า ดัชนีครัวเรือน 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นขนาดไหน จากสินค้าทุกหมวดในปี 2540 ดัชนีเฉลี่ยของสินค้าทุกรายการอยู่ที่ 63.71 แต่ในปี 2560 ที่ผ่านมา ดัชนีเฉลี่ยสินค้าอยู่ที่ 100.85 หรือสูงขึ้นถึง 37.14 ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าเจาะลึกเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มแล้วละก็ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีดัชนีที่ 49.36 ส่วนปี 2560 ดัชนีอยู่ที่ 101.61 จะเห็นได้ว่าราคาอาหารแพงขึ้นถึง 52.25 หรือกว่า “เท่าตัว”


จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมราคาข้าวแกงในปัจจุบันถึงมีราคาแพงขึ้น เพราะต่างมีผลกระทบจากราคาน้ำมัน, ต้นทุนการเกษตร ความต้องการของตลาด และอื่นๆ


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ “ค่าของเงิน” ในแต่ละปีจะด้อยค่าลงตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคิดหยาบๆ ที่ราว 3-3.5% ต่อปี ตัวอย่างเช่น เงิน 1,000 บาทในปีที่แล้ว จะมีมูลค่าลดลงเหลือ 970 บาท ในปีนี้ ส่งผลให้เราต้องจ่ายแพงขึ้นกับการรับประทานในแบบเดิม แม้ว่าแกงเขียวหวานไก่ ผัดหน่อไม้ จะมีปริมาณไม่ต่างจาก 20 ปีก่อน


เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ไม่มีอะไรดีไปกว่ารู้จักออมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากเงินออมนั้นๆ สร้างนิสัยการลงทุนให้แข็งแกร่ง เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว จะไม่มีเงินเลี้ยงตัวเองเมื่อแก่ตัวลง