“มรดก” เรื่องสำคัญของทุกคน

หลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการวางแผนมรดก คือ คิดว่าต้องรวยหรือมีทรัพย์สินมากก่อนจึงจะสามารถวางแผนมรดกได้ ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป เพราะการวางแผนมรดกนั้นเป็นเรื่องที่มีความสําคัญสําหรับทุกคน ไม่เฉพาะกับคนรวยที่มีทรัพย์สมบัติมากๆ เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อยก็ตาม ทุกท่านก็ไม่ควรมองข้ามการวางแผนมรดก


การวางแผนมรดก คือ การวางแผนที่จะส่งต่อทรัพย์สินไปยังทายาท หรือผู้ที่เจ้าของมรดกต้องการยกให้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เหตุผลสำคัญที่เราต้องมาวางแผนมรดก ได้แก่

  1. เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของเราจะถูกส่งต่อให้กับทายาทที่เราต้องการมอบให้อย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของกิจการที่มีลูกหลายคน จำเป็นมากที่จะต้องวางแผนอย่างชัดเจน ว่าจะส่งมอบธุรกิจหรือทรัพย์สินอะไร ให้แก่ใคร เพื่อความมั่นใจว่าธุรกิจหรือสมบัติบางอย่าง จะถูกส่งมอบให้แก่คนที่สามารถนำไปดูแลต่อได้อย่างก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  2. เพื่อให้กระบวนการส่งต่อเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากหากไม่ได้มีการวางแผนมรดกที่ดี อาจทำให้เสียเวลาในการยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดก หรืออาจเกิดปัญหาฟ้องร้องแย่งกันเป็นผู้จัดการมรดก และอาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในครอบครัวได้ หากเจ้าของมรดกเป็นหัวหน้าหรือเป็นรายได้หลักของครอบครัว
  3. เพื่อการวางแผนภาษีที่เหมาะสม เพราะในปัจจุบันมีการเก็บภาษีจากการให้ และภาษีมรดกด้วย

เราสามารถเริ่มต้นวางแผนมรดกได้ดังนี้


ขั้นที่ 1 เริ่มต้นจากการทำบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินอยู่เสมอ

เพื่อทำให้ทราบสถานะทางการเงินของตัวเองว่ามีทรัพย์สิน หนี้สินอะไร และเท่าไหร่ เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนจัดสรรว่าส่วนใดที่จะกันเป็นเงินเกษียณของตัวเอง จะใช้เงินส่วนใดในการชำระหนี้ และส่วนใดจะมอบให้กับทายาทคนไหน ในกรณีนี้เป็นการวางแผนในขณะที่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเมื่อวางแผนเสร็จก็ทำการส่งมอบ โดยต้องพิจารณาภาษีการให้และภาษีมรดกประกอบด้วย โดยทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษีมรดก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ หลักทรัพย์ตามกฎหมาย เงินฝาก และทรัพย์สินทางการเงินที่มีมูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด


วิธีที่ใช้ในการวางแผนมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกเสียชีวิต ก็คือการทำพินัยกรรม เป็นรูปแบบการวางแผนมรดกสำหรับผู้ที่มีทรัพย์สิน เช่น ธุรกิจ บ้าน ที่ดิน และอื่นๆ และต้องการจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ในรูปของพินัยกรรม เพื่อระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการส่งมอบทรัพย์สินอะไรให้แก่ใครบ้าง ซึ่งเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตลง ทนายความผู้รับผิดชอบพินัยกรรมจะนำพินัยกรรมออกมาดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และแบ่งมรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมทันที อย่างไรก็ตาม หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน กองมรดกก็ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในหนี้สินนั้นๆ เท่าที่มีทรัพย์สินอยู่ แค่ไหนก็แค่นั้น

ขั้นที่ 2 ศึกษากฎหมายภาษีมรดกและภาษีจากการให้

เป็นการวางแผนเพื่อการให้มรดกเกิดประโยชน์สูงสุด โดยหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น คือ

  • ภาษีมรดก เกิดขึ้นเมื่อมีการเสียชีวิตของเจ้าของมรดกและส่งต่อทรัพย์สินไปตามพินัยกรรม ซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกจะมีกำหนดไว้ตามกฎหมายว่าต้องเสียเท่าไหร่ ยกตัวอย่างปีภาษีปัจจุบันคือ พ.ศ.2560 ตามกฎหมาย ณ ขณะนี้กำหนดให้เสียเฉพาะส่วนเกิน 100 ล้านบาท ในอัตรา 10% เมื่อผู้รับมรดกเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป หรืออัตรา 5% เมื่อผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือทายาท โดยถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้คำนวณจากราคาประเมิน ส่วนหลักทรัพย์ให้คำนวณจากราคาปิดตลาด ณ วันโอน

  • ภาษีการให้ เกิดขึ้นเมื่อของเจ้าของมรดกได้มอบทรัพย์สินในขณะที่มีชีวิตอยู่ให้กับทายาท ซึ่งการให้ดังกล่าว แบ่งเป็นประเภทสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ โดยส่วนเกินของมูลค่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องนำมาคำนวณภาษี ยกตัวอย่างปีภาษีปัจจุบันคือ พ.ศ.2560

    • สังหาริมทรัพย์ ถ้ามอบให้บุคคลธรรมดา ส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สิน 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 5% แต่ถ้ามอบให้ทายาทตามกฎหมาย ทายาทสนิท หรือให้ด้วยความเสน่หา ส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สิน 20 ล้านบาท จะเสียภาษี 5%

    • อสังหาริมทรัพย์ เฉพาะการมอบให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม จะเสียภาษี 5% ของส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สิน 20 ล้านบาท

ขั้นที่ 3 วางแผนการมอบมรดก

โดยการทยอยส่งมอบทรัพย์สินในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมและไม่ทำให้เสียภาษีมากจนเกินไป ทั้งนี้ในการวางแผนมรดกควรพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่ควรให้มรดกชิ้นเดียวกันกับทายาทหลายๆ คนเพราะอาจจะเกิดปัญหาระหว่างทายาทตามมาได้ รวมทั้งไม่ควรรีบมอบมรดกเพราะกลัวการจ่ายภาษี จนเกิดความลำบากเมื่อทรัพย์สินถูกแจกจ่ายไปแล้ว


ขั้นที่ 4 พิจารณาส่งต่อมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

การทำประกันชีวิต หรือ ประกันมรดก ถือได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการวางแผนมรดก ผู้วางแผนมรดกสามารถทำประกันชีวิตโดยระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์เป็นทายาทที่เราต้องการมอบทรัพย์สินก้อนสุดท้ายไว้ให้ ซึ่งสินไหมมรณกรรมที่ได้จากประกันชีวิตจะได้รับยกเว้นภาษี นอกจากนี้ผู้รับผลประโยชน์ยังได้รับเงินอย่างรวดเร็วเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต เพราะเงินประกันไม่ถูกรวมเข้ากับกองมรดก จึงสามารถจ่ายให้แก่ผู้รับมรดกได้เลยโดยไม่ต้องรอการจัดการมรดก


การวางแผนมรดก ไม่ว่าผู้นั้นจะมีทรัพย์สินหรือไม่ก็สามารถจัดการมรดกเพื่อส่งต่อถึงคนที่รักได้ไม่ยาก และที่สำคัญควรทำไว้แต่เนิ่นๆ ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คนที่ตนเองรัก และสร้างความสงบสุขทางใจให้กับเจ้ามรดกอย่างแท้จริง


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร