วางแผนการเงินให้พ่อแม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินที่ส่งลูกๆ เรียนจนจบนั้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อแม่ และเมื่อท่านทั้งสองส่งลูกจนถึงฝั่งฝัน มีหน้าที่การงานและรายได้ที่มั่นคง ด้วยวัฒนธรรมคนไทยก็ต้องตอบแทนบุญคุณ ซึ่งวิธีการหนึ่งในการแสดงความกตัญญูกตเวที คือ การให้เงินพ่อแม่


การแบ่งเงินให้พ่อแม่ทำได้หลายทาง อาจให้เป็นตัวเงิน เช่น เดือนละ 5,000 บาท ส่วนท่านจะนำไปใช้หรือเก็บออมในรูปแบบไหนก็แล้วแต่ท่าน ลูกบางคนอาจให้เป็นเงินก้อนใหญ่ๆ ปีละครั้ง หรือจ่ายเป็นค่าเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากอยากให้เงินเพิ่มมูลค่าหรืองอกเงยก็ต้องวางแผนการเงินระยะยาวด้วย เพื่อให้ท่านทั้งสองเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ


1. ซื้อประกันสุขภาพ

หากลูกเริ่มต้นทำงานตอนอายุ 23 ปี ประเมินได้ว่าพ่อแม่แต่งงานกันอายุราว 30 ปี แสดงว่าปัจจุบันท่านมีอายุ 50 ปีต้นๆ และอีกไม่ปีก็จะถึงวัยเกษียณ ดังนั้น เป้าหมายการวางแผนการเงินให้พ่อแม่ คือ เพื่อรักษาพยาบาล


หลังจากซื้อประกันสุขภาพให้ตัวเอง คู่สมรส และลูกแล้ว ก็ควรซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ด้วย เพราะผู้สูงวัยมักจะเจ็บป่วยหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว ที่สำคัญค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลแต่ละครั้งค่อนข้างสูง


ดังนั้น ควรสอบถามพ่อแม่ว่าได้ซื้อประกันสุขภาพเอาไว้หรือไม่ กรณีที่ยังไม่ทำก็ให้รีบทำ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มหลักประกันด้านสุขภาพให้ท่านทั้งสองแล้ว ยังสามารถนำเบี้ยประกันสำหรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ทำให้กับพ่อแม่ไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย


ไม่ว่าพ่อแม่จะอายุเท่าไร หากในปีที่ลูกซื้อประกันสุขภาพให้ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด และหากลูกๆ หลายคนรวมกันซื้อประกันสุขภาพ ลูกทุกคนสามารถนำเบี้ยไปลดหย่อนโดยเฉลี่ยจากเบี้ยประกันที่จ่ายจริง แต่ใช้ได้กับลูกที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น (ลดหย่อนภาษีได้เฉพาะกรณีพ่อแม่ที่มีเงินได้พึงประเมินทั้งปีไม่เกินที่รัฐบาลกำหนด)


นอกจากนี้ หากลูกซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ของคู่สมรส ก็สามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนได้เช่นกัน (ใช้ได้กรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ในระหว่างปีภาษีนั้นๆ) โดยสามารถยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่รัฐบาลกำหนด

2.เก็บเพื่อใช้หลังเกษียณ

กรณีที่พ่อแม่มีการวางแผนการเงินระยะยาวและการันตีว่ามีเพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ ลูกๆ คงสบายใจ หน้าที่ของลูกก็เพียงแค่ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนที่เหมาะสม หรืออาจเติมเงินให้ท่านเล็กๆ น้อยๆ ตามโอกาส


อย่างไรก็ดี หากท่านทั้งสองยังไม่มีการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ หรือวางแผนแล้วแต่กังวลว่าเงินอาจไม่เพียงพอ หน้าที่ของลูกคือ เข้าไปจัดรูปแบบการลงทุนเหมือนกับที่ทำให้ตัวเอง เพียงแต่ผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนต้องมีความเสี่ยงในระดับต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับช่วงอายุของพ่อแม่ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น


ที่สำคัญเมื่อลงทุนแล้วต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร เมื่อมีเหตุการณ์อะไรและมีโอกาสส่งผลกระทบต่อการลงทุนต้องรีบหาทางจัดการ เช่น ปรับพอร์ตลงทุน หรือขายเพื่อถือเงินสด และเมื่อสถานการณ์กับเข้าสู่ภาวะปกติค่อยกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง

3. ลงทุนให้พ่อแม่

นอกจากจะให้เงินพ่อแม่แบบตรงๆ แล้ว วิธีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ นำเงินไปลงทุนให้กับท่าน แต่ก็มีคำถามว่า “แต่ละเดือน ควรแบ่งเงินไปลงทุนให้พ่อแม่เท่าไหร่” คำตอบก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและรายได้ของลูกๆ แต่ละคน เช่น แบ่งเงิน 15% ของเงินที่ตัวเองลงทุนในแต่ละเดือน


สมมติว่า ลูกๆ มีเงินลงทุนต่อเดือน 8,000 บาท ก็ต้องกันเงินไปลงทุนให้พ่อแม่ 1,200 บาท (15% ของ 8,000) แสดงว่าก่อนนำเงินไปใช้จ่ายแต่ละเดือนต้องแบ่งมาลงทุน 9,200 บาท (8,000 บาท ลงทุนเพื่อตัวเอง อีก 1,200 บาท ลงทุนให้พ่อแม่)


หากไม่สะดวกในการลงทุนให้พ่อแม่เป็นประจำแบบรายเดือน อาจลงทุนลงทุนปีละครั้ง เช่น เดือนมกราคมของทุกปีจะลงทุน 15,000 บาท (หรือเฉลี่ย 1,250 บาทต่อเดือน)


ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการให้เงิน มีทั้งให้แบบตรงๆ, ซื้อประกันสุขภาพ หรือนำเงินไปลงทุนให้กับท่าน ดังนั้น ก่อนให้เงินท่านควรพิจารณาให้รอบคอบเพื่อความเหมาะสม เพราะลูกบางคนอาจมีความสามารถในการให้เงินพ่อแม่ได้หลายวิธี ขณะที่บางคนอาจให้ได้วิธีเดียว


ถึงแม้เงินที่ลูกๆ ให้พ่อแม่จะไม่ได้มากมาย แต่การทำเช่นนี้นอกจากจะแสดงความกตัญญูกตเวทีแล้ว เงินก้อนนี้ก็ทำให้ท่านทั้งสองมีความปลาบปลื้มใจและนำไปใช้อย่างมีความสุข