5 ทางแก้ไม่ให้ “เงิน” เป็นจุดอ่อนไหวในความสัมพันธ์

เรื่อง “เงิน” มักเป็น “จุดเกรงใจ” ที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงให้ชัดเจนเมื่อเริ่มความสัมพันธ์ในทุกสถานะ จนกลายเป็น “จุดเจ็บ” ที่ทำให้สัมพันธ์พบ “จุดจบ” แบบไม่สวยมาหลายรายแล้ว เพื่อให้ทุกอย่างไปต่อได้อย่างราบรื่น ถึงเวลาแล้วที่เราอาจต้องลืมความเชื่อเดิมๆ “เรื่องเงินทองใครเขาพูดกัน เสียมารยาท” เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนไป ก็ควรทำให้ทุกอย่างชัดเจน เพื่อที่แต่ละคนจะได้เลือกประคับประคองความสัมพันธ์ในแบบไม่ต้องขุ่นเคืองใจเรื้อรัง


1. ต้องยอมรับก่อน “เงิน” เกี่ยวข้องกับ “ความสัมพันธ์”


เงินคือตัวแทนที่ต้องใช้แลกเปลี่ยนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ยิ่งช่วงที่ค่าครองชีพก็สูง สภาพคล่องทางรายได้ต่างก็ฝืดเคืองตามเศรษฐกิจ เมื่อเริ่มมีอีกคนเข้ามาในชีวิต ตอนแรกเราอาจไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องเงินทองสำคัญ เพราะเป็นช่วงของการทุ่มเทและยอมจับจ่ายให้เพื่อเนรมิตความสุข แต่เมื่อสานสัมพันธ์ยาวนานขึ้น ประกอบกับสถานภาพทางการเงินรายบุคคลที่อาจมีผลกระทบ การพบเจอย่อมมีค่าใช้จ่าย จะเข้าร้านอาหาร ดูหนัง ไปเที่ยว ซื้อของให้ ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าความโรแมนติกย่อมมีราคาเหมือนกัน


2. นัดครั้งแรกควรเปิดไพ่เรื่องค่าใช้จ่าย


ชีวิตจริงไม่ใช่ละครที่มีฝ่ายใดต้องเป็น “สายเปย์” คนออกค่าใช้จ่ายให้เสมอไป ลองหาจังหวะพูดคุยเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่ต้นดีกว่า จะให้ดีถ้าผู้หญิงเปิดเรื่องนี้ แม้อาจทำให้ผู้ชายรู้สึกเสียการทรงตัวเพราะคำว่าลูกผู้ชายค้ำคอ แต่ฝ่ายหญิงสามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์ หรือหาทางออกแก้เขินได้ดีกว่า หรือถ้ามีมื้อพิเศษไหนใครจะเป็นเจ้าภาพก็ตกลงให้ดี อย่างน้อยก็ทำให้ต่างกลับไปคิดว่า เธอ/เขาคนนี้มองเรื่องการใช้เงินเป็นและไม่มีใครต่างเอาเปรียบกัน

money-and-relationship-01

3. ค่อยๆ เรียนรู้พฤติกรรมใช้เงินในชีวิตประจำวัน


ศึกษาไลฟ์สไตล์ของกันและกัน เพียงร้านกาแฟ ร้านอาหาร การเลือกทำกิจกรรมนอกบ้านก็น่าจะพอบอกได้ว่า คู่เราเน้นที่รสชาติของกาแฟ บรรยากาศ หรือติดแบรนด์ สามารถกินอาหารริมถนนได้หรือไม่ หรือแค่ฝืนเพื่อเอาใจอีกคน แต่ในระยะยาวอาจไม่ไหว การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมอบความสะดวกสบายตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อรักนานวันอาจยิ่งผ่อนแรง ไม่สามารถเอาใจได้เหมือนก่อน แต่อีกฝ่ายกลับชินกับการเป็นผู้รับเสียแล้ว บทสรุปอาจไม่ดีแน่ ถ้าไม่แสดงความจริงใจในพฤติกรรมการใช้จ่ายแต่แรก


4. แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ มุมมองการบริหารเงิน


ทุกครั้งที่ได้เจอกัน ทุกคนยังต้องมีช่วงเวลากลับมาทบทวนว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้คลิกหรือไม่ อย่าลืมแลกเปลี่ยนสนทนาเรื่องการใช้เงินด้วย โดยใช้คำถามที่ไม่จู่โจมเกินไป เช่น มองเรื่องการก็บเงินอย่างไรตอนนี้เพราะทุกคนโดนพิษเศรษฐกิจหมด หรือมองการลงทุนอย่างไร พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนไปว่า เรากำลังเริ่มศึกษาและลองลงทุนอะไรอยู่ ถ้าจะให้ดีลองชี้ช่องทางการเงินที่เป็นเรื่องดีๆ ให้แก่กัน เช่น แนะนำการออมทุกเดือน แนะนำเรื่องค่าใช้จ่ายช่วยสิทธิ์ลดหย่อนภาษี สิ่งเหล่านี้ใครว่าไม่สำคัญ เพราะจะเป็นตัวสะท้อนมุมมอง วิธีการบริหารเงิน รวมถึงการวางแผนชีวิตในอนาคตด้วย


5. ความรักใช้หัวใจ แต่เงินต้องใช้เหตุผล


หมดยุคของคำว่ากัดก้อนเกลือกินแล้ว เราอาจรักและปล่อยให้ความรู้สึกนำทางได้ แต่อย่าพาให้หลงทางไปหมด โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ต้องใช้เหตุผลเป็นองค์ประกอบ ยิ่งวันหนึ่งถ้าต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ต้องเปิดอกคุยแบบไม่มีกั๊ก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นไม่น้อยที่ทะเลาะกันตั้งแต่ช่วงเตรียมงานแต่ง จะเก็บออมเงินในบัญชีร่วม หรือบัญชีแยกเพื่อรักษาสิทธิส่วนตัว หรือเก็บเงินกองกลางเพื่อค่าใช้จ่ายร่วม หรือเก็บออมเมื่อมีสมาชิกตัวน้อยเพิ่ม เพราะถ้าไม่เปิดใจกันให้หมด ก็คงไม่พ้นต้องเป็นอีกคู่ที่มีเงินเป็นต้นเหตุบาดหมาง สร้างความขัดแย้งจนต้องแยกทางเดิน


แน่นอนว่าการเลือกเปิดเผยเรื่องเงินตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ย่อมกระอักกระอ่วนสำหรับทั้งสองฝ่ายไม่น้อย แต่ถ้ามองอีกมุม ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่น่าจะคุ้มค่าในระยะยาวมากกว่า เพราะถือว่าตัดปัญหารบกวนทางจิตใจเพราะมัวแต่เกรงใจกันแต่แรก แต่สำหรับหลายคู่ที่ความสัมพันธ์ราบรื่นถึงวันที่ความรักสุกงอมและตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากคู่รักเป็นคู่ชีวิต เพื่อการจัดเตรียมวันสำคัญของทุกคู่รัก ให้ สินเชื่อส่วนบุคคล SCB เป็นทางออกเรื่องเงินของคุณ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

ที่มา
https://www.set.or.th/set/financialplanning/knowledgedetail.do?contentId=1199&type=article
https://wealthmeup.com/21-02-13-money
https://aommoney.com/stories/กองบรรณาธิการ/การเงินและความรัก-ความสัมพันธ์จะดี-อยู่ที่เงินตราจริงหรือ/3188#ko4if8at2
https://thematter.co/social/the-condition-of-love-is-money/24337
https://happywedding.in.th/th/tips/wedding-wiki/relationship-couple/9256
https://brandinside.asia/money-relate-to-happiness