6 ข้อควรรู้ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV

หลายประเทศทั่วโลกทั้งในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกาและฝั่งเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่น ต่างได้หันมาสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) เพื่อลดมลภาวะ ลดการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่บรรยากาศ เพราะรถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันในปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิด PM 2.5 รัฐบาลหลายประเทศจึงได้ออกนโยบายส่งเสริมประชาชนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยมาตรการจูงใจต่าง ๆ  เช่น ประเทศนอร์เวย์ ยกเว้นภาษีจดทะเบียนและภาษีมูลค่าเพิ่ม มีที่ชาร์จไฟสาธารณะฟรี ไม่เก็บค่าผ่านทาง อนุญาตให้รถ EV วิ่งในเลนของรถสาธารณะได้ รวมทั้งให้จอดรถฟรีในพื้นที่สาธารณะอีกด้วย ส่วนผู้ประกอบการที่ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ารัฐบาลก็จะให้เงินอุดหนุน  และในปี 2022 รัฐบาทตั้งเป้าให้มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 80% ของยอดขายรถทั้งหมดในประเทศ และยังมีเป้าหมายยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2025 อีกด้วย


ขณะที่เยอรมนีตั้งเป้าเป็นผู้นำการผลิตและใช้รถยนต์ EV ของโลก โดยมีนโยบาย เช่น งดเก็บภาษีรถ EV 5-10 ปี ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ที่ซื้อรถ EV สูงสุด 5,000 ยูโร  ไม่เสียค่าที่จอดรถ มีที่จอดรถให้เฉพาะ แถมให้สิทธิใช้เลนพิเศษในการขับรถและการเข้าพื้นที่ที่จำกัดอีกด้วย เรียกได้ว่าภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง  ในส่วนของไทยนับเป็นช่วงเริ่มต้นที่ประชาชนเริ่มหันมาสนใจและทดลองใช้รถยนต์ EV จากยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Expo เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ปรากฎว่ายอดจองรวมทั้งสิ้นประมาณ 31,000 คัน โดยมียอดจองรถ EV ถึง 7,000 คัน คิดเป็นตัวเลขประมาณ 22% ของคนที่ตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ใหม่ นั่นแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการเปิดรับรถยนต์ EV ในบ้านเรามากขึ้น และถ้าหากคุณกำลังจด ๆ จ้อง ๆ อยากจะซื้อรถยนต์ใหม่เป็นรถไฟฟ้า EV มาใช้ จะต้องพิจารณาปัจจัยอะไรและเตรียมความพร้อมในเรื่องใดบ้าง อ่านได้จากบทความนี้

1. ดูความจุของแบตเตอรี่กับระยะทางที่วิ่งได้ไกลที่สุด

 เช่น  รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 100% หรือที่เรียกว่าแบบ BEV (Battery Electric Vehicle) ถ้าใช้แบตเตอรี่ความจุ 60-90 kW จะสามารถวิ่งได้ไกลถึง 338-473 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เป็นต้น ซึ่งถ้าหากอยากได้รถที่วิ่งระยะทางไกลมากขึ้น ก็ต้องเลือกรุ่นที่แบตมีความจุสูงมากขึ้นและแน่นอนว่าราคาของรถก็จะสูงตามขนาดความจุของแบตเตอรี่


2. ดูระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่

รถ EV แต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ มีระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอร์รี่เต็มไม่เท่ากัน ตามขนาดความจุของแบตเตอรี่ เช่น  ชาร์จแบบธรรมดาที่ใช้ไฟบ้านเป็นกระแสสลับ (AC) ใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 12-16 ชม. ชาร์จแบบรวดเร็วจากตู้ไฟฟ้า EV Charger ใช้เวลาประมาณ 3 – 4 ชม.  ชาร์จแบบด่วนตามสถานีชาร์จนอกบ้านที่ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) ใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที


3. ใช้รถ EV ต้องเตรียมที่ชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน

เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของไทยในเรื่องสถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุม หรือหากมีสถานีชาร์จอยู่ใกล้ แต่อาจไม่มีหัวชาร์จที่ใช้ได้กับรถ EV ที่ใช้ เพราะมาตรฐานหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน เพื่อความสะดวกอาจติดตั้งที่ชาร์จไฟที่บ้าน แต่จะต้องเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้นไม่น้อยกว่า 30 แอมป์ (A) พร้อมเปลี่ยนสายเมนไฟฟ้าเข้าบ้านเป็น 25 ตร.มม. และเปลี่ยนลูกเซอร์กิต (MCB) ให้มีขนาด 100 แอมป์(A) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และต้องเพิ่ม Circuit Breaker อีก 1 ช่องในตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) เพื่อแยกการใช้งานระหว่างเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในบ้าน รวมถึงต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วเพื่อช่วยตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ กรณีหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟฟ้าดูด นอกจากนี้ต้องเตรียมเต้ารับ (EV Socket) เพื่อเสียบชาร์จรถให้สอดคล้องกับปลั๊กของรถยนต์ในแต่ละรุ่น ทั้งนี้จุดชาร์จไฟรถ EV ในบ้าน ต้องเดินวงจรสายไฟแยกออกมาต่างหากเพื่อความปลอดภัย และต้องได้รับการติดตั้งจากช่างไฟฟ้าที่ชำนาญการเท่านั้น  ดูรายละเอียดเพิ่มเติม :  https://www.mea.or.th/profile/3361/3440

4. ดูค่าเชื้อเพลิงที่ต้องจ่าย

เมื่อเปรียบเทียบค่าเชื้อเพลิงระหว่างค่าน้ำมันกับค่าชาร์จไฟฟ้า พบว่า ค่าชาร์จไฟฟ้าของรถ EV ประหยัดกว่าค่าเติมน้ำมัน  โดยค่าเติมน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 1.50 - 3 บาท/ กิโลเมตร ขณะที่ค่าชาร์จไฟรถ EV อยู่เฉลี่ยอยู่ที่ 0.26-0.50 บาท / กิโลเมตร จะเห็นได้ว่ารถ EV ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารถน้ำมันหลายเท่าตัว


5. ดูเรื่องการซ่อมบำรุง

เมื่อเปรียบเทียบค่าซ่อมบำรุงระหว่างรถที่ใช้น้ำมันกับรถ EV พบว่ารถ EV ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ไม่มีเครื่องยนต์ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไม่ค่อยมีปัญหาจุกจิก ทำให้ค่าซ่อมบำรุงและค่าดูแลรักษาต่ำกว่ารถที่ใช้น้ำมัน เฉลี่ยแล้วต่ำกว่า 50% ขณะที่รถน้ำมันต้องการการบำรุงรักษาที่มากกว่าเพราะเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันประกอบด้วยชิ้นส่วนมากมาย เมื่อเสื่อมสภาพต้องไล่เปลี่ยนและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก ๆ 6 เดือนหรือวิ่งครบ 5,000-10,000 กิโลเมตร แต่รถไฟฟ้าหากเกิดเสียจะมีค่าอะไหล่ที่แพงกว่า เช่น ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่รถ Tesla จะอยู่ที่ 162,000 – 220,000 บาท  จะเห็นได้ว่าผู้ใช้รถ EV จะสบายเรื่องการซ่อมบำรุงที่ไม่ค่อยจุกจิกไม่ต้องคอยเอารถเข้าศูนย์บ่อย ๆ  แต่ถ้าหากเกิดต้องซ่อมขึ้นมา อาจต้องเสียเงินเป็นหลักแสนเลยทีเลย นอกจากนี้รถน้ำมันหากเสียสามารถหาศูนย์หรือเข้าอู่ซ่อมรถทั่วไปได้ แต่ถ้าเป็นรถ EV จะต้องเข้าศูนย์อย่างเดียวเพราะเทคโนโลยียังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง


6. ดูแบรนด์ที่น่าเชื่อถือและมีบริการหลังการขาย

เนื่องจากรถไฟฟ้าเพิ่งเข้ามาในไทยไม่นาน การพิจารณาเลือกแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือและได้มาตรฐานการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งต้องมีศูนย์บริการหลังจากขายที่ได้มาตรฐาน สามารถช่วยเหลือเวลารถเกิดมีปัญหา เพราะไม่สามารถซ่อมรถ EV นอกศูนย์บริการได้


เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนรถใหม่มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ EV ควรศึกษาข้อมูลของรถให้ถี่ถ้วนทั้งเรื่องของอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ รวมถึงค่าบำรุงรักษาและบริการหลังการขาย ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจ ตัดสินใจซื้อรถยนต์ EV ได้อย่างไร้กังวล สนใจออกรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง ลองใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ใหม่ของ SCB ช่วยทำฝันของคุณเป็นจริงได้เร็วขึ้น  ดูรายละเอียด https://scbcw-preprod.scb.co.th/th/personal-banking/loans/car-loans/auto-finance-new-car.html

 

ที่มา :

https://www.magcarzine.com/ev-car-real-life/

https://th.carro.co/blog/5-things-for-home-ev-charging-station/

https://www.prachachat.net/motoring/news-820039

https://erdi.cmu.ac.th/?p=1478

https://www.mea.or.th/profile/3361/3440

https://www.autospinn.com/2020/04/comparing-maintenance-of-ev-car-petrol-car-78329

https://www.ddproperty.com/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2/%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2-ev-56068