กู้เงินยังไงจากกรมธรรม์ประกันชีวิต

หากเกิดกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นต้องการใช้เงินด่วน แต่เงินที่เก็บเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินไม่เพียงพอ สามารถกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตที่สามารถใช้กู้เงินได้ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับและผู้ทำประกันยังไม่ได้ใช้สิทธิเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ (การหยุดชำระเบี้ยประกัน โดยวงเงินคุ้มครองลดลง แต่ระยะเวลาคุ้มครองเท่าเดิม) และการแปลงเป็นกรมธรรม์ขยายเวลา (การหยุดชำระเบี้ยประกัน โดยวงเงินคุ้มครองเท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองลดลง)


ที่สำคัญ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่สามารถกู้เงินได้ต้องเป็นกรมธรรม์ที่มีมูลค่าเงินสดหรือมูลค่าเวนคืนเกิดขึ้นแล้วเพราะต้องนำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืม โดยทั่วไปมูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นเมื่อชำระค่าเบี้ยเป็นเวลา 2 ปีขึ้นไป และเราสามารถกู้ได้ไม่เกินมูลค่าเวนคืนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยรูปแบบประกันชีวิตที่มีมูลค่าเงินสดและสามารถกู้เงินได้ ได้แก่ แบบสะสมทรัพย์ แบบตลอดชีพ และแบบบำนาญ


โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตจะมีมูลค่าเงินสดเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของสัญญา ถ้ากรมธรรม์เน้นความคุ้มครองสูงหรือกรมธรรม์แบบตลอดชีพ มูลค่าเงินสดจะไม่สูงมาก เพราะเน้นไปที่การซื้อความคุ้มครอง แต่หากเป็นประกันสะสมทรัพย์ที่เน้นออมเงิน มูลค่าเงินสดจะค่อนข้างสูง เพราะเบี้ยประกันบางส่วนจะนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนด้วย

วิธีการดูมูลค่าเงินสดของกรมธรรม์ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ สามารถดูได้จากตารางกรมธรรม์ ซึ่งจะมีข้อมูลมูลค่าเงินสด หรือเรียกว่า มูลค่าเวนคืน โดยระบุว่า ณ สิ้นปี กรมธรรม์ที่เท่าไหร่และจะมีมูลค่าเวนคืนเท่าไหร่ต่อเงินเอาประกัน 1,000 บาท

มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์

= ทุนประกันชีวิต x จำนวนในตารางเวนคืน ณ สิ้นปีที่ต้องการเวนคืน

          1,000


การที่ดูมูลค่าเวนคืนเพื่อจะได้ทราบว่าสามารถกู้เงินได้สูงสุดเท่าไหร่ เพราะโดยปกติแล้วบริษัทประกันจะให้กู้ได้ไม่เกินมูลค่าเวนคืนที่มีอยู่ในปีที่ขอกู้ หรือบางบริษัทอาจให้กู้ได้สูงสุด 90% ของมูลค่าเวนคืน  เช่น ทุนประกันชีวิต 1,000,000 บาท ผ่านไป 3 ปีต้องการกู้เงิน พบว่าสิ้นปีกรมธรรม์ปีที่ 3 เงินค่าเวนคืนเท่ากับ 300 บาท

มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์

= 1,000,000 x 300 = 300,000 บาท

       1,000


จากจำนวนค่าเวนคืนกรมธรรม์ปีที่ 3 เท่ากับ 300,000 บาท จะสามารถกู้เงินจากกรมธรรม์นี้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท หรือ 270,000 บาท กรณีได้สูงสุด 90% ของมูลค่าเวนคืน


สำหรับการกู้เงินจากกรมธรรม์จะมีการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคำนวณ 2 ส่วน ได้แก่ คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยหน้ากรมธรรม์ (ขึ้นอยู่กับกรมธรรม์นั้น ๆ) และเบี้ยประกันภัยซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับ 2% จากนั้นก็นำมารวมกันเพื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยของการกู้เงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยหน้ากรมธรรม์ 3% เบี้ยประกันภัย 2% หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินเท่ากับ 5% ต่อปี แต่บริษัทประกันจะคำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวัน

วิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้กรมธรรม์

= เงินกู้ตามกรมธรรม์ x ดอกเบี้ยเงินกู้

                             365


สมมติว่า ต้องการกู้เงินจากกรมธรรม์นี้ในปีที่ 3 จำนวน 100,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี


ดอกเบี้ยเงินกู้กรมธรรม์

= 100,000 x 5% = 13.70 บาท

             365


หมายความต้องจ่ายดอกเบี้ย 13.70 บาทต่อวัน ดังนั้น หากกู้เงินมาแล้วเป็นเวลา 30 วันแต่ต้องการชำระหนี้ทั้งหมด ดอกเบี้ยจะเท่ากับ 411 บาท (13.70 x 30) ดังนั้น ต้องชำระเงินทั้งหมด 100,411 บาท (100,000 + 411) (กรณีกู้เงินมาแค่ 30 วัน)

เนื่องจากการกู้เงินจากกรมธรรม์จะมีอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ดังนั้น เมื่อมีการชำระเงินบางส่วน บริษัทประกันจะนำไปหักออกจากเงินต้นก่อนจะนำมาคำนวณดอกเบี้ย เช่น ผ่านไป 30 วัน ชำระเงิน 10,000 บาท บริษัทประกันจะนำเงินก้อนนี้ไปหักออกจากเงินต้น คือ 100,000 ก่อน ทำให้เงินต้นคงเหลือ 90,000 บาท


90,000 x 5% = 12.33 บาท

         365


หมายความว่า ต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่ากับ 369.90 บาท (12.33 x 30) ดังนั้น ต้องชำระเงิน 10,369.90 บาท โดยจะเหลือเงินต้นที่ต้องชำระอีก 90,000 บาท


สมมติว่าอีก 30 วันต่อมาต้องการชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมด จะต้องชำระทั้งหมด 90,780.90  (90,000 + 411 + 369.90) โดย 90,000 คือ เงินต้นคงเหลือ, 411 คือ ดอกเบี้ย 30 วันแรก และ 369.90 คือ ดอกเบี้ย 30 วันของเงินต้น 90,000 บาท)

ถึงแม้ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตจะเป็นแหล่งเงินกู้ที่ดี แต่อย่าลืมว่าการที่ทำประกันชีวิตมีวัตถุประสงค์เพื่อความคุ้งครองและความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว หากเงินกู้และดอกเบี้ยค้างชำระมีมูลค่ามากกว่าเงินค่าเวนคืนในขณะนั้น กรมธรรม์จะสิ้นผลบังคับ หมายความว่า ความคุ้มครองจะสิ้นสุดลง ดังนั้น เมื่อกู้เงินก็ต้องมีวินัยในการชำระคืน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางการเงินในอนาคตของตัวคุณเองและครอบครัว