รู้จักและรู้ทัน ป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ

“ข้อเข่าเสื่อม” เป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะการสาธารณสุขที่พัฒนามากขึ้นเป็นผลให้แพทย์พบโรคนี้มากขึ้น โดยผู้สูงอายุจะมีอาการที่แตกต่างกัน บางรายอาจมีอาการปวดเล็กน้อยเมื่อขยับตัว ยืน เดิน นั่ง หรือบางรายมีอาการปวดมากจนเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก อาจมีความจำเป็นในการฉีดยาลดอักเสบเพื่อบรรเทาอาการปวดเข่า ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ


อย่างไรก็ตาม โรคข้อเข่าเสื่อมอาจไม่รุนแรงและน่ากลัวอย่างที่คิด หากเราใส่ใจและรู้จักดูแลร่างกายของคนที่เรารักเพื่อให้ท่านใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ


ทำความรู้จักกับ “โรคข้อเข่าเสื่อม” และสาเหตุของโรคกันก่อน

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการที่กระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและเป็นตัวดูดซับแรงกระแทกในข้อเข่ามีการสึกหรอและเสื่อมสภาพลง หากกระดูกอ่อนนี้เสียหายเป็นพื้นที่กว้าง กระดูกในข้อเข่าจะเสียดสีกันเอง ทำให้เกิดการอักเสบและปวด

สาเหตุของโรคข้อเสื่อมเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ดังนี้

1. เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม และความผิดปกติแต่กำเนิดบางชนิด เช่น ขาหรือเข่าผิดรูป


2. อายุและเพศ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อนลดลง และพบว่าเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีแนวโน้มของการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชายในอายุรุ่นเดียวกัน

3. น้ำหนักตัวมาก โดยการหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เป็นมาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย หาก BMI มากกว่า 25 กิโลกรัม/ ตารางเมตร 2 จะอยู่ในเกณฑ์ท้วมเป็นโรคอ้วนระดับ 1 และมีภาวะเสี่ยงต่อโรค


4. การใช้ข้อเข่าอย่างหักโหมไม่ระมัดระวังเป็นเวลานาน
เช่น นั่งพับเพียบนานๆ นั่งคุกเข่า หรือนั่งยองๆ ทำให้เข่ารับแรงกดสูงกว่าปกติเป็นเวลานานๆ


5. โรคข้ออักเสบประเภทรูมาตอยด์ เกาต์
เป็นผลกระดูกอ่อนถูกทำลายอย่างรวดเร็ว เกิดอาการปวดเข่า และข้อแข็งตามมา


6. มีประวัติการบาดเจ็บที่ข้อเข่า
อาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บที่รุนแรงจนร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองหลังการบาดเจ็บ หรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง


การวินิจฉัยโรค

  • การซักประวัติอาการ การเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
  • การเอกซเรย์เพื่อดูช่องข้อเข่าที่แคบลงและการที่มีกระดูกงอกต่อจากบริเวณส่วนขอบของปลายกระดูกต้นขา

  • การเจาะเลือด
  • การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อดูโครงสร้างของข้อเข่า เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การสแกนด้วยคอมพิวเตอร์

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่าเป็นบางเวลา เป็นๆ หายๆ จนถึงปวดมากจนกระทบการทำกิจวัตรประจำวัน บางคนปวดจนต้องอยู่เฉยๆ หรือแค่ลุกจากเก้าอี้ก็ปวด บางคนมาด้วยข้อยึดติด งอเหยียดเข่าได้น้อยลง


การรักษา

1. การรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด

  • แนะนำให้ปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินชีวิต และการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การควบคุมน้ำหนักตัว การควบคุมอาหาร การออกกำลังกายชนิดที่มีแรงส่งผ่านที่ข้อเข่าน้อยเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือเดิน
  • รับประทานยาแก้ปวด และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
  • สวมที่ประคองเข่าเพื่อช่วยพยุงและลดแรงกระทบต่อเข่า ใช้แผ่นรองด้านในรองเท้า
  • กายภาพบำบัด
  • การฉีดยาลดอักเสบเข้าข้อเข่า


2. การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มี 5 แบบ

  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้านเดียว (Unicompartmental knee arthroplasty)
  • การผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม (Conventional)
  • การผ่าตัดแบบแผลผ่าตัดเล็กลง (Minimally invasive)
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total knee replacement)
  • การผ่าตัดแบบใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer assist)

กิจกรรมและกีฬาที่สามารถทำได้หลังการผ่าตัด และกีฬาที่ควรหลีกเลี่ยง

หลังจากแผลผ่าตัดและเนื้อเยื่อภายในสมานเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น (ตั้งแต่ 3 – 6 เดือนขึ้นไป) โดยทั่วไป ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรม และกีฬาที่เคยทำมาก่อนได้ เช่น ก่อนผ่าตัดเคยออกรอบตีกอล์ฟ หลังผ่าตัดก็สามารถทำได้เช่นกัน

กีฬาที่แนะนำให้ทำ

ส่วนใหญ่เป็นกีฬาที่มีแรงกระทำต่อข้อน้อย ทำให้ข้อเทียมที่เราใช้นั้นอยู่ได้นานๆ โดยทั่วไป เราหวังผลใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ได้แก่ กีฬาตีกอล์ฟ ว่ายน้ำ การเดินในพื้นราบ การเล่นโยคะ เทนนิสแบบเล่นสองคน การปั่นจักรยานในแนบราบ การออกกำลังกายโดยใช้เครื่อง Elliptical โบว์ลิ่ง และการเต้นรำท่าง่ายๆ เป็นต้น


กีฬาที่ควรหลีกเลี่ยง

กีฬาที่มีแรงกระทำผ่านข้อเทียมสูง เป็นผลให้อายุการใช้งานของข้อเทียมสั้นลง เช่น กีฬาวิ่ง ปีนที่สูง ไต่เขา ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เทนนิสแบบเล่นคนเดียว เป็นต้น

เราสามารถชะลอการไม่ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุก่อนเวลาอันควรได้จากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมน้ำหนักตัว รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายที่ไม่ทำร้ายข้อเข่า และการใช้ชีวิตประจำวันด้วยความระมัดระวัง หมอเชื่อว่าเราจะรู้เท่าทันและป้องกันได้

สำหรับผู้อ่านที่สังเกตว่าคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่นับถืออาจเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ไม่สะดวกไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ร่วมมือกับ Partner ในการนำเสนอบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ให้คุณปรึกษาแพทย์เบื้องต้นได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยสามารถดาวน์โหลดผ่าน แอป SCB  EASY จากเมนู ”มาตรการช่วยเหลือโควิด-19” แล้วเลือกเมนู “บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์”  สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ -ที่นี่-

บทความโดย :  พันโท รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์องอาจ พฤทธิภาส

ความชำนาญเฉพาะทาง : ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า