Telemedicine เทรนด์การแพทย์ที่เกิดขึ้นแล้ววันนี้

การสื่อสารในยุคดิจิทัลที่ก่อให้เกิด Big Data เปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของผู้คนในทุกส่วนของสังคม รวมถึงการหาหมอเมื่อเจ็บป่วย ที่ต่อไปข้างหน้าภาพที่โรงพยาบาลรัฐที่คราคร่ำด้วยคนไข้จำนวนมากที่รอคิวพบแพทย์ ก็อาจจะลดลง ด้วยการใช้ Telemedicine เข้ามาเปลี่ยนประสบการณ์การพบแพทย์ โดย นายแพทย์กวิรัช ตันติวงษ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ให้ความรู้เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี Telemedicine ที่เปลี่ยนมุมมองการดูแลสุขภาพของผู้คน ร่วมเสวนากับ คุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)

ภาพรวมเทคโนโลยีการแพทย์ที่ผ่านมา และโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

คุณหมอกวิรัชกล่าวว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์มาโดยตลอด เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง การสอดท่อผ่าตัด การรักษาด้วยรังสี มีมานานกว่า 20 ปี และการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ก็มีมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงกล่าวได้ว่าการแพทย์ไทยมีความพร้อมมากกว่าประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคนี้ และเมื่อเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 สถานการณ์การแพร่ระบาดที่จำต้องมีการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ก็กลายมาเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นสังคม ธุรกิจ การสื่อสาร รวมถึงเรื่องการแพทย์ ที่นำแนวคิด Telemedicine ที่เคยใช้สื่อสารทางไกล เช่นการผ่าตัดข้ามประเทศ มีแพทย์เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาระหว่างผ่าตัดอยู่อีกประเทศหนี่ง มาใช้ในการดูแลคนไข้ โดยที่ทั้งหมอและคนไข้ก็อยู่ที่เดียวกัน

ในช่วงเดือนมีนาคมที่โควิด-19 ระบาดหนัก ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ต้องหาทางดูแลผู้ป่วยที่เข้ามาวันละ 300-400 คน และป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ด้วยการให้คนไข้พบหมอผ่านทางหน้าจอ โดยใช้ระบบ Telecon ที่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยข้อมูลอย่างเคร่งครัด และจากจุดนี้เองก็ได้พัฒนาเป็น Chat Based บนระบบ Line Chat ชื่อ Chula Covid-19 และพัฒนาต่อมาเป็นระบบ App Based ชื่อ Chula Teleclinic และ Chula Care ซึ่งดาวน์โหลดได้จาก App Store/Play Store นอกจากนั้นในส่วนการของจ่ายยา กรณีเป็นคนไข้ที่รับยาอย่างเดียว ก็จะจ่ายยาเพิ่มเผื่อไว้สัปดาห์หนึ่ง เพื่อขยายเวลาให้คนไข้เข้ามารับยาที่โรงพยาบาล หรือจ่ายยาทางไปรษณีย์โดยเลือกใช้ผู้บริการขนส่งที่มีระบบทำงานน่าเชื่อถือ สามารถระบุผู้รับ ตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลการส่งได้

telemedicine1

ข้อดีของ Telemedicine

คุณหมอกวิรัชกล่าวถึงข้อดีของเทคโนโลยี Telemedicine เหมาะกับคนไข้เก่ากลุ่ม follow up และกลุ่ม refill ยา ที่อาการไม่หนักและมีประวัติรักษาอยู่แล้ว สามารถใช้ช่องทาง Telemedicine ได้ เพราะเป็นการสื่อสาร 2 ทางซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวก จากการลดระยะเวลา ลดการเดินทาง รวมถึงลดความเสี่ยงจากการสัมผัส และลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ คุณหมอกวิรัชมองว่าการนำเทคโนโลยี Telemedicine มาใช้เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมการหาหมอของคนไทย โดยภายใน 1 ปีทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ตั้งเป้าหมายให้คนเปลี่ยนมาใช้แอปช่องทาง Telemedicine เพื่อลดจำนวนคนมาโรงพยาบาล 20% จาก 5,000 คนเหลือ 1,000 คน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าป่วยแล้วห้ามมาโรงพยาบาล แต่ใช้ Telemedicine ในการคัดกรองวินิจฉัยเบื้องต้น ซึ่งถ้าป่วยหนักก็มาที่โรงพยาบาลได้เลย


ทั้งนี้ สิ่งที่เทคโนโลยี Telemedicine ต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวที่เป็นความลับของผู้ป่วย ตามข้อบังคับกฎหมายพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ได้เตรียมพร้อมทั้งบุคลากร การออกแบบขั้นตอน Journey ของแอปพลิเคชั่น ระบบรักษาความปลอดภัย ถังเก็บข้อมูลอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และแบ็คอัพคลาวด์อยู่ในประทศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การดูแลรักษาข้อมูลของผู้ป่วยปลอดภัยสูงสุด

แนวทางพัฒนา Telemedicine

ในความเห็นของคุณหมอกวิรัช แนวทางพัฒนา Telemedicine ขั้นต่อไป นอกจากตัวแอปพลิเคชั่นแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือการพัฒนา Digital Device ต่างๆ เช่น Smart watch ที่สามารถเก็บข้อมูลสุขภาพ เช่นการเต้นของหัวใจ ฯลฯ ได้อย่างเรียลไทม์ และทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้เชื่อมโยงกับข้อมูลในระบบของโรงพยาบาลก่อนที่คนไข้จะมาพบแพทย์ แล้วยังรวมไปถึงเรื่องของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Connectivity)  อินเทอร์เน็ตแบนด์วิชท์ ที่จะช่วยให้การเชื่อมต่อเครื่องมือแพทย์และการเชื่อมโยงข้อมูลลื่นไหลสะดวกขึ้น ที่สำคัญคือการพัฒนาตัวซอฟท์แวร์ หรือ AI มาเป็นผู้ช่วยแพทย์ในการจัดการข้อมูล Digital Health Data ต่างๆ ทั้งการ Input Data การประมวลวิเคราะห์ ได้ Output ผลวินิจฉัยโรค ซึ่งตรงนี้คุณหมอกวิรัชมองว่ายังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกมาก และที่ลืมไม่ได้คือพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลคนไข้จำนวนมหาศาลที่ควรต้องเป็น Private Cloud อยู่ในประเทศ

จับมือพันธมิตรแก้ Pain Point

เมื่อกล่าวถึง Pain Point ของการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ในไทย คือการขาดความเชื่อมั่นในผลงานวิจัยของตัวเอง ทำให้นำไปสร้างการผลิตไม่ได้ นักลงทุนก็ไม่กล้าลงทุน ยกตัวอย่างการวิจัยวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ไทยได้มีการวิจัยระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งถ้าจะมีการผลิตออกมาใช้จริง ต้องมีโรงงานเพื่อทำการผลิตให้คนไทยและประชากรโลก ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องมี Trust Thailand


ในวงการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นพันธมิตรกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วยังรวมไปถึงคณะต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการฯ ฯลฯ ตลอดจนภาคธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาในส่วนนี้ ซึ่งนำมาสู่ความเข้มแข็งที่เกิดจากความร่วมแรงรวมใจของคนไทย


คุณหมอกวิรัชสรุปว่าเทคโนโลยี Telemedicine ไม่ใช่เป็นการต่างคนต่างอยู่ แต่เพื่อใช้ประเมินคัดกรองการเจ็บป่วยเบื้องต้นก่อนเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล และใช้สมาร์ทโฟนให้เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ

ติดตามชม SCB TV “Health is WEALTH เดอะซีรีส์” ตอนที่ 4 : เทคโนโลยีการแพทย์ เปลี่ยนมุมมองการดูแลสุขภาพอย่างไร คลิก - ที่นี่ -