4 เช็กลิสต์ต้องรู้เมื่อต้องดูแลพ่อแม่ชรา

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) สิ่งที่หลายครอบครัวต้องเผชิญคือการดูแลพ่อแม่และสมาชิกครอบครัวที่ย่างเข้าสู่วัยชรา ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ได้นึกถึงว่าการดูแลผู้สูงวัยมีรายละเอียดอะไรที่ควรใส่ใจบ้าง แบ่งปันเช็กลิสต์ 4 ข้อเตรียมความพร้อมดูแลสมาชิกผู้สูงวัยในครอบครัว


1)  สุขภาพเป็นอย่างไร


การวางแผนดูแลพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ในวัยชราควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจและใส่ใจเรื่องสุขภาพและรายละเอียดการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด เช็กลิสต์ที่เราต้องเตรียมเพื่อที่จะดูแลพวกเขาได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง มีดังนี้

- ลิสต์รายชื่อหมอ และโรงพยาบาลที่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ไปรับการรักษาเป็นประจำ เพื่อจะได้ติดต่อขอคำปรึกษาได้อย่างทันท่วงที

- ประวัติการรักษาและรายละเอียดยารักษาโรคประจำตัว ทำให้เราเข้าใจภาวะสุขภาพของพ่อแม่ได้ดีขึ้น รู้ว่าพ่อแม่กินยาอะไรอยู่บ้าง และจัดการเรื่องการจัดสำรับยาที่ต้องกินในแต่ละวันและการนัดหมายรับยาที่ต้องทานต่อเนื่อง

- รายละเอียดข้อมูลกรมธรรม์ประกันสุขภาพ : รู้สิทธิ์การเบิกค่ารักษาพยาบาลต่างๆ

checklist-taking-care-aging-parents-01

2)  จะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร


การดูแลผู้สูงอายุต้องอาศัยความอดทน เอาใจใส่ ทุ่มเทในระยะยาว ยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวยิ่งต้องการคนดูแลที่มีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญการดูแลเฉพาะด้าน เช็กลิสต์การวางแผนดูแลพ่อแม่สูงอายุ ได้แก่


-  ปรึกษาหมอประจำตัวพ่อแม่ถึงภาวะสุขภาพของพ่อแม่ และวิธีการดูแลว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะการเจ็บป่วยแต่ละโรคต้องการการดูแลมากน้อยในรูปแบบแตกต่างกันไป เช่น โรคเรื้อรังไม่รุนแรงที่ผู้สูงวัยที่ความจำยังดีและยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ต้องการการดูแลน้อยกว่าผู้สูงวัยป่วยติดเตียงหรือผู้สูงวัยที่มีภาวะเจ็บป่วยด้านสมองเสื่อม

- พูดคุยกับพ่อแม่ว่าต้องการได้รับการดูแลอย่างไร โดยเปิดอกคุยกันอย่างตรงไปตรงมาถึงความคาดหวัง และเงื่อนไขข้อจำกัด

- นำข้อมูล 2 ข้อด้านบนมาประเมินสรรพกำลังที่มีอยู่ เช่น กำลังคนในบ้าน เวลา ทุนทรัพย์ เพื่อใช้ตัดสินใจตัวเลือกต่างๆ เช่น คนในบ้านดูแลเอง, จ้างคนมาช่วย หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งก็มีให้เลือกแบบไป-กลับ หรืออยู่ประจำ รวมถึง สถานพยาบาลดูแลผู้ป่วย ปัจจัยข้อจำกัดเหล่านี้แตกต่างกันไปแต่ละครอบครัว


3) อย่ามองข้ามความปลอดภัยในบ้าน


ด้วยสังขารที่เริ่มเสื่อมไปตามอายุที่มากขึ้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น พื้นบ้านควรเรียบเสมอกัน ไม่ยกพื้นต่างระดับ ที่เสี่ยงต่อการสะดุดหกล้ม วัสดุพื้นผิวไม่เรียบเกินไปเพื่อความปลอดภัยและกันลื่น ฯลฯ เช็กลิสต์เรื่องความปลอดภัยควรมี ดังนี้


-  ปรึกษาแพทย์ว่ามีความเสี่ยงอะไรที่ต้องระวังบ้าง

-   พบผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเพื่อประเมินความปลอดภัยของบ้านที่อยู่ปัจจุบัน และดูว่าจะสามารถปรับปรุงให้ปลอดภัยขึ้นได้อย่างไร อ่านเพิ่มเติม “6 ไอเดีย ปรับปรุงบ้านให้สะดวก ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ”

-   มองหาเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยดูแลความปลอดภัยให้พ่อแม่ เช่น กล้องวงจรปิด กริ่งฉุกเฉิน หรืออุปกรณ์ GPS ติดตามตัว ฯลฯ

การปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุไม่คาดฝัน ให้ สินเชื่อบุคคล SCB Speedy Loan อนุมัติไว ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน เป็นตัวช่วยทำให้บ้านของเราเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัย อย่ารอจนสายเกินไป

4) สำรวจเอกสารกฎหมายและการเงิน


เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ก็มีภาวะหลงลืมหรือตัดสินใจจัดการเรื่องต่างๆ คลาดเคลื่อน หรือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถดูแลทรัพย์สินเองได้ ก็ต้องมีแผนสำรองเผื่อไว้ เช็กลิสต์ที่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและการเงินอะไรบ้างที่เตรียมพร้อมไว้


- ที่เก็บเอกสารสำคัญทั้งเอกสารส่วนตัวอย่าง ใบเกิด ทะเบียนสมรส และเอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต ข้อมูลบัญชีการเงิน พอร์ตลงทุน พินัยกรรม หนังสือแสดงความประสงค์ (Living Will) รวมไปถึงสัญญาสินเชื่อบ้าน และสัญญาเงินกู้ต่างๆ


- ทำลิสต์เบอร์ติดต่อ อีเมลที่ปรึกษาต่างๆ ของพ่อแม่ เช่น ทนายความ ที่ปรึกษาการเงิน ตัวแทนประกันชีวิตเป็นต้น


ที่มา
https://www.arborcompany.com/blog/simple-checklist-for-caring-for-your-aging-parents
https://thinkofliving.com/ไอเดียการตกแต่ง/การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ-298312/
https://www.smartaboutmoney.org/Topics/Retirement-and-Aging/Aging-and-Money/Talk-to-Aging-Parents-About-Finances