Check list วางแผนการเงินสำหรับ First Jobber

สำหรับน้องๆ ที่เพิ่งจบการศึกษา และเริ่มเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ก็จะเริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง และสามารถรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่น้องๆ จะลืมไม่ได้เลยคือการวางแผนการเงินของตัวเองเพื่อให้ไม่ลำบากในอนาคต เพราะการที่เราได้วางแผนการเงินตั้งแต่อายุน้อยๆ จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้เราสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับตัวเองได้ โดยแผนการเงินที่สำคัญที่เราควรวางแผนมี 5 แผนดังนี้


1. การวางแผนรายรับ รายจ่าย

จุดตั้งต้นแรกของการวางแผนการเงิน คือ การรู้จักตัวเอง นั่นคือเราต้องรู้สถานภาพทางการเงินของตัวเองก่อน แล้วจะรู้สถานภาพทางการเงินของตัวเองได้อย่างไร ก็รู้ได้จากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และการทำงบการเงินส่วนบุคคล ซึ่งในช่วงเริ่มต้นทำงาน เราจะมีรายได้ที่น้อย แต่จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เราจึงควรเริ่มปลูกฝังวินัยการออม โดยการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายเป็นประจำ เพื่อให้รู้ตัวว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากน้อยเพียงใด สมควรหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ และมีเงินออมในแต่ละเดือนเท่าไร โดยควรออมก่อนแล้วค่อยใช้ในแต่ละเดือน ซึ่งสิ่งที่จะได้จากการวางแผนรายรับ รายจ่าย คือ การที่เราจะมีสติในการใช้จ่ายที่ดีขึ้น ทำให้เราจะเก็บเงินออมได้มากขึ้น


2.การวางแผนประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน เราจึงควรวางแผนประกันชีวิตและประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย ประกันชีวิตมีหลายแบบ หลายจุดประสงค์ แต่ที่สำคัญคือ การทำเพื่อคุ้มครองชีวิต ทำในวงเงินที่เหมาะสม ค่าเบี้ยประกันไม่แพงจนเกินไป สามารถจ่ายได้ในระยะยาว ประกันชีวิตบางประเภท ถ้าทำตั้งแต่อายุน้อย เบี้ยประกันจะคงที่ไปตลอด ประเด็นสำคัญคือต้องศึกษาข้อกำหนดของกรมธรรม์ให้ครบถ้วน เช่น จำนวนปีที่จ่ายเบี้ยประกัน การเวนคืนกรมธรรม์ การกู้เงินจากกรมธรรม์ ระยะเวลารอคอยของประกันสุขภาพ เป็นต้น


ในการวางแผนประกันสุขภาพนั้น จะเริ่มจากการประมาณการค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากเจ็บป่วย เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับความคุ้มครองที่มีอยู่ (เช่น ประกันสังคม หรือประกันกลุ่มที่ได้จากที่ทำงาน) ว่าเพียงพอหรือไม่ แล้วดำเนินการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด เหตุที่เราควรทำประกันสุขภาพตั้งแต่อายุน้อย เป็นเพราะ "โรคไม่เลือกอายุ" โดยในปัจจุบันนี้ ความเสี่ยงจากการเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุอีกต่อไป เมื่อมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมาก หรือแม้แต่โรคร้ายที่มีโอกาสกัดกินสุขภาพของคนทุกวัยได้ นอกจากนี้อัตราค่ารักษาพยาบาลของไทยโตเฉลี่ย 7-8% ต่อปี สูงกว่าคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในระยะยาวที่ 3% เสียอีก ทำให้การทำ "ประกันสุขภาพ" จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยแบกรับความเสี่ยงด้านสุขภาพและปัญหาทางการเงินที่อาจตามมาได้


ส่วนแบบประกันที่เหมาะสม คือ การซื้อประกันสุขภาพพ่วงกับประกันตลอดชีพ เพราะช่วงอายุที่น้อยเบี้ยประกันตลอดชีพจะถูกและคงที่ไปตลอด และได้ความคุ้มครองในระยะยาว ส่วนประกันสุขภาพนั้น จะมีทั้งแบบกำหนดวงเงินคุ้มครอง และแบบเหมาจ่าย ซึ่งแบบเหมาจ่ายจะมีความคุ้มครองที่ครอบคลุมและได้วงเงินที่มากกว่า แต่เบี้ยประกันก็สูงกว่าตามไปด้วย ดังนั้นจะเลือกแบบไหน จึงต้องพิจารณาจากความคุ้มครองที่เราต้องการ สิทธิที่เรามีอยู่ครอบคลุมหรือไม่ และความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันประกอบกัน

3.การวางแผนภาษี

เมื่อเราทำงาน เราจะมีรายได้ และเรามีหน้าที่ต้องเสียภาษี หลายคนคิดว่าตอนเริ่มต้นทำงาน รายได้อาจจะยังไม่สูงมาก ไม่จำเป็นต้องรีบวางแผนภาษีก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด หรือการที่นายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งสรรพากรไปในแต่ละเดือน คือ การวางแผนภาษีแล้ว ก็เป็นความคิดที่ผิดเช่นกัน เพราะแม้นายจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในมีนาคมของปีถัดไปอยู่ดี หากเรามีการวางแผนภาษีที่ดี เราอาจจะขอคืนภาษีที่หักไปแล้วคืนได้


เราวางแผนภาษีด้วยการวางแผนค่าลดหย่อน โดยคำนวณจากรายได้พึงประเมิน และวางแผนทยอยซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ เช่น ประกันชีวิต SSF RMF เป็นต้น ควรวางแผนว่าจะลดหย่อนเท่าไร และเก็บหลักฐานต่างๆ ไว้ เผื่อกรมสรรพากรเรียกดูหลักฐานในภายหลัง


4.การวางแผนลงทุน

ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการลงทุน คือ เงินต้น อัตราผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุน และระยะเวลาในการลงทุน หากเราทำทั้ง 3 เรื่องนี้ได้ดี เราก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ ในช่วงแรกของการทำงาน เราสามารถเริ่มต้นการลงทุนจากเงินจำนวนไม่มากได้ เนื่องจากเรามีระยะเวลาการลงทุนที่นาน ระหว่างนั้นเราก็ศึกษาหาความรู้ในการลงทุนไปเรื่อยๆ ในสินทรัพย์ที่เราสนใจ เมื่อเรามีความรู้มากขึ้น เราก็จะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ และค่อยๆ เพิ่มเงินลงทุนเข้าไป ก็จะช่วยทำให้พอร์ตการลงทุนของเราเติบโตยิ่งขึ้นไป ข้อได้เปรียบของน้องๆ ที่เพิ่งจบใหม่ คือ การมีระยะเวลาลงทุนที่ยาว เมื่อเราได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย เราจะมีเวลาได้ลองผิดลองถูก หากเกิดผิดพลาดจากการลงทุน เราก็จะยังมีเวลาที่มากพอในการแก้ตัว แก้พอร์ตลงทุนของเราได้ แลการลงทุนที่สำคัญที่สุด คือ การลงทุนในตัวเอง และการลงทุนในความรู้ หากยังไม่รู้จะเริ่มต้นวางแผนการลงทุนอย่างไร ขอให้เริ่มต้นจากการลงทุนในความรู้


เคล็ดลับการลงทุนสำหรับมือใหม่ โดยในช่วงเริ่มต้น เราจะยังมีเงินลงทุนไม่มาก อาจใช้การลงทุนผ่านกองทุนรวม เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้เงินน้อย ที่สำคัญเราสามารถเลือกลงทุนกองทุนรวมในสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภท และสามารถกระจายความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนกระจุกตัวอยู่ที่สินทรัพย์ประเภทเดียว เช่น หากเราสนใจกองทุนหุ้นและรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะสั้นได้ อาจเลือกลงกองทุนหุ้นไทย หุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือหุ้นประเทศที่กำลังพัฒนาร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้อยากจะแนะนำว่าให้ลงทุนแบบสม่ำเสมอทุกๆ เดือน หรือ DCA (Dollar-Cost Averaging) อาจเริ่มต้นด้วยจำนวนเงิน 10% ของรายได้ที่เราหาได้ในแต่ละเดือน ก็จะเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนที่ดี


5.การวางแผนเกษียณอายุ

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า เพิ่งเรียนจบและเริ่มทำงาน ต้องคิดเรื่องวางแผนเกษียณแล้วเหรอ คำตอบ คือ ใช่! เพราะแผนเกษียณอายุเป็นแผนภาคบังคับของทุกคน การเริ่มวางแผนเร็ว ทำให้เรารู้เป้าหมายได้เร็ว หาทางที่จะไปถึงเป้าหมายได้หลายวิธี และมีเวลาสำหรับความผิดพลาด และเริ่มต้นใหม่ได้ นอกจากนี้การเริ่มต้นวางแผนก่อน ก็ทำให้เราสามารถเกษียณได้เร็วกว่า โดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึงอายุ 60 ปีจึงจะเกษียณได้ เรื่องเกษียณจึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนใกล้เกษียณ แต่เป็นเรื่องที่เด็กจบใหม่ หรือวัยทำงานต้องเริ่มต้นวางแผนไปพร้อมๆ กับแผนอื่นๆ ในชีวิต ยิ่งวางแผนเร็ว ยิ่งมีวินัย ยิ่งสบายกว่า


ในการวางแผนเกษียณ มีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายด้าน เช่น อายุขัยที่คาดว่าจะเสียชีวิต Lifestyle หรือรูปแบบการใช้ชีวิตหลังเกษียณว่าเราต้องการมีชีวิตแบบไหน และต้องมีรายรับ-รายจ่ายแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเงินเฟ้อ และอัตราผลตอบแทนของการลงทุนใน Portfolio ที่ต้องพิจารณาอีก เพราะเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาข้าวของแพงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้อำนาจซื้อของเงินในกระเป๋าเราลดลง เราจึงต้องจำเป็นต้องหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคาดหวังที่อย่างน้อยต้องชนะเงินเฟ้อ ยิ่งหากเราอยากมี Lifestyle ที่ดี ก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เรายิ่งต้องรีบวางแผนเกษียณอายุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะอย่าลืมว่า ‘วางแผนการเงินก่อน รวยกว่า’


สิ่งที่เราจะได้รับจากการวางแผนเกษียณอายุ คือ การทราบเป้าหมายเกษียณของตัวเอง ทำให้เรามีการปรับแผนการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และตั้งเป้าหมายการออมและลงทุน เพื่อให้มีจำนวนเงิน ณ วันเกษียณตามที่ตั้งใจไว้


กล่าวโดยสรุป ในช่วงเริ่มต้นการทำงาน การมีวินัยในการเก็บออมถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก รวมไปถึงควรมีการป้องกันและถ่ายโอนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ควรศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนเพื่มเติม เพื่อที่เราจะได้นำเงินออมที่มีไปลงทุนให้งอกเงย ออกดอกออกผล ซึ่งจะเป็นอีกแรงที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่หวังไว้ได้เร็วขึ้น

บทความโดบ :

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร