กรุงเทพฯ – เชียงใหม่: เรื่องของหัวใจ...ไม่ใช่จักรยาน

เรื่องโดย: ภู  เมฆพิพัฒน์


“วันก่อนนั่งรถทัวร์กลับจากเชียงใหม่ เห็นถนนราดยางเรียบๆ ยาวๆ แล้วหมั่นเขี้ยว มาลองปั่นจักรยานไปเชียงใหม่กันมั้ย?” นริศ, เพื่อนผู้เป็นคุณพ่อลูกหนึ่งหล่นคำพูดนี้ไว้กลางวงเสวนาแกล้มน้ำสีอำพันในร้านคาราโอเกะกลางกรุงเมื่อต้นปี


ยอมรับว่าวินาทีนั้นผมยังคิดว่าเพื่อนพูดเล่นด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์  ไม่นึกเลยว่าอีก 6 เดือนต่อมา ผมต้องอยู่ในสภาพเยินสุดฤทธิ์ขณะพยายามออกแรงถีบลูกบันไดจักรยานไต่ขึ้นสู่ยอดดอยขุนตาลเพื่อมุ่งสู่จุดหมาย... เชียงใหม่


กำหนดการทริปจักรยานกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ถูกวางไว้ช่วงวันหยุดยาว 12 สิงหา  ก่อนหน้านั้น 2 เดือนผมพยายามซ้อมด้วยการปั่นจักรยานในวันหยุดให้ได้อย่างน้อยวันละ 50 กิโลเมตร นอกเหนือจากการปั่นจักรยานไปทำงานในชีวิตประจำวัน วันละประมาณ 10 กิโลเมตร  แต่นริศนั้นต่างออกไปเพราะยังไม่มีจักรยานเป็นของตัวเอง  เรื่องซุ่มซ้อมฝีมือและฝีเท้าเอาไว้ถีบจักรยานทางไกลเลยเป็นอันไม่ต้องพูดถึง อาศัยฟิตซ้อมร่างกายด้วยการเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ  ส่วนจักรยานนั้นเห็นว่า “จะหยิบยืมเอาจากรุ่นพี่ซักคน” คุณพ่อลูกหนึ่งหมาดๆ ว่างั้น


เห็นเค้าลางบางอย่างแล้วว่าทริปนี้น่าจะหนักกว่าที่คิดแฮะ...

วันเดินทาง ... เราวางแผนไว้ว่าจะใช้เวลา 5 วัน  โดยต้องปั่นให้ได้เฉลี่ยวันละ 150 กิโลเมตร  ผมเริ่มสตาร์ทจากสวนจตุจักร ในขณะที่นริศเริ่มจากบ้านย่านปิ่นเกล้า นัดเจอกันแถวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  แต่เอาเข้าจริงกว่าจะมาบรรจบกันก็ล่วงเข้าสิงห์บุรีตอนบ่ายๆ แล้ว แต่ละคนสภาพกระย่องกระแย่งสุดๆ เพราะเป็นการปั่นจักรยานระยะทางเกิน 100 กิโลเมตรเป็นครั้งแรกของเราทั้งคู่ เข้าพักในโรงแรม(กึ่ง)ม่านรูดราคาคืนละ 300 บาทริมถนนสายเอเชีย และต้องหาน้ำแข็งมาประคบกล้ามเนื้อขาเพื่อบรรเทาความเมื่อยล้า


อย่างน้อยวันเริ่มทริปก็มีโมเม้นท์ดีๆ เกิดขึ้นขณะกำลังจะสิ้นแรงก่อนพ้นจังหวัดอ่างทอง มีพี่ในรถเก๋งโตโยต้าเปิดกระจกรถมาสอบถามถึงปลายทาง พร้อมให้กำลังใจให้ไปถึงจุดหมาย ทำให้ได้แรงฮึดขึ้นมาอีกโข

วันที่สอง ออกจากสิงห์บุรีแต่เช้า มุ่งหน้าสู่กำแพงเพชร ท้องทุ่งเขียวสดตัดกับฟ้าแจ้งกระจ่างไร้เมฆกลางเดือนสิงหาคม จักรยาน 2 คันค่อยๆ ปั่นตามกันไป  เราได้ร้านกาแฟตามปั๊มน้ำมันเป็นที่พักเติมพลัง มีเพิงหนูนาย่างริมทางส่งกลิ่นรัญจวนกระเพาะเป็นระยะ  กระทั่งก่อนเข้านครสวรรค์เล็กน้อย จักรยานของนริศก็ยางแตก บังเอิญว่าผมปั่นล่วงหน้ามาไกลพอสมควรแล้ว นริศซึ่งไม่มีอุปกรณ์ปะ/เปลี่ยนยางติดมาด้วยหาร้านปะยางใกล้เคียงไม่เจอ  สุดท้ายก่อนจะค่ำมืดจึงตัดสินใจยกจักรยานขึ้นท้ายกระบะว่าจ้างให้มาส่งที่อำเภอสลกบาตร จังหวัดกำแพงเพชร  ผมรอจนนริศมาถึงเราก็หาร้านจักรยานเพื่อปะยางก่อนจะเข้าที่พัก  แน่ล่ะ... โรงแรมม่านรูด “ยูเทิร์น โฮเทล” เป็นแหล่งพักพิงของเราสองหนุ่ม  โชคดีที่พี่เจ้าของโรงแรมเป็นนักปั่นด้วย เลยคิดค่าห้องราคาพิเศษในฐานะสหายสองล้อด้วยกัน ^ ^

วันที่สาม จากสลกบาตร ปั่นฝ่าเปลวแดดจัดตอนสายๆ ก่อนจะเจอฝนบนถนนคลองวังเจ้าสายเก่า เราเลือกปั่นผ่านเส้นนี้เนื่องจากเป็นถนนสายรอง รถวิ่งน้อยกว่าสายหลัก ร่มครึ้มด้วยต้นไม้  แม้จะไม่มีปั๊มให้พักระหว่างทางแต่ก็มีเพิงให้แวะอุดหนุนขนมผลไม้พื้นบ้านเป็นระยะ  ผมยังจดจำความอร่อยของมะม่วงกวนกับข้าวต้มมัดฝีมือคุณป้าในเพิงเล็กๆ บนถนนเส้นนั้นได้จนทุกวันนี้


น่าจะเป็นวันแรกที่มีเนินขนาดย่อมๆ มาทักทายอย่างต่อเนื่อง บ่งบอกว่าเรากำลังจะผ่านพ้นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง  จวบจนเย็นเราก็มาถึงอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก   ได้ “หอพักกัญญารัตน์” เป็นที่นอนในราคา 350 บาทต่อคืน    “ลุงน้อย” รปภ.ใจดี อนุญาตให้ยกจักรยานขึ้นมาเก็บบนห้องพักชั้นสองได้   ผมยังซาบซึ้งถึงน้ำใจจากเจ้าของร้านอาหารมื้อเย็น “ครัวบ้านอาจารย์” เมื่อรู้ว่าเราปั่นจักรยานมาจากกรุงเทพฯ แกชวนให้เรามาพักเรือนริมน้ำปิงที่สร้างใกล้แล้วเสร็จหากมีโอกาสมาเยือนในคราวหน้า  รวมทั้งยังฝากลำไยสองพวงใหญ่ใส่ถุงผูกตะแกรงท้ายรถผมมาให้ด้วย....


“เผื่อเอาไว้กินระหว่างทาง มันสดชื่นดี”

วันที่สี่ ออกเดินทางตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ลุกขึ้นมาตอกบัตร  ถนนเวิ้งว้าง ผ่านปากทางเข้าเขื่อนภูมิพลเห็นจักรยานคันเท่าบ้านจอดเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าป้ายเขื่อน  เจอรถไอศกรีมผ่านมาเลยได้นั่งพักกินไอศกรีมเย็นๆ กันคนละแท่ง  พี่คนขายเล่าให้ฟังว่าเจอนักปั่นบนเส้นทางนี้บ่อยๆ เลยไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่เห็นเราทั้งคู่


“ผมเป็นคนโคราช มาขายไอติมแถวนี้ได้ 6 ปีแล้ว ก็ได้เรื่อยๆ” โห... มาไกลจังพี่


มันเป็นวันที่แดดโหดมาก ต้องแวะพักถี่กว่าทุกวัน บางครั้งก็นึกเวทนากึ่งสมน้ำหน้าตัวเองว่าที่จริงตอนนี้ต้องนั่งแช่แอร์เย็นๆ อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศกลางกรุง ทำไมต้องหาเรื่องทรมานตัวเองกลางแดดจัดจ้าแบบนี้  แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องไปต่อให้สุดทาง... เหลืออีกนิดเดียวเอง


นริศเองก็เริ่มมีอาการบาดเจ็บจากการปั่นรถผิดไซส์มา 4 วันติดๆ ให้เห็น  แถมยังเหมือนจะมีไข้อ่อนๆ ด้วย ยังดีที่เราได้พักในโฮมสเตย์หลังใหญ่แสนอบอุ่นของป้าปิงที่อำเภอเกาะคา ได้พักผ่อนเต็มที่ก่อนจะเจอศึกหนักในวันพรุ่งนี้

วันที่ห้า ได้ข้าวต้มหมูแสนอร่อยกับปาท่องโก๋จากป้าปิงเติมพลังให้แต่เช้า เรียกได้ว่าสุดคุ้มกับค่าที่พักคนละ 300 บาท  ยังเช้าเกินกว่าที่พระธาตุลำปางหลวงจะเปิดให้เข้าเยี่ยมชม เราเลยทำได้เพียงไหว้ขอพรเอาฤกษ์เอาชัยจากนอกกำแพงวัดก่อนจะไต่ขึ้นดอยขุนตาล


ครับ... อุปสรรคเบื้องหน้าในวันนี้มีชื่อว่าดอยขุนตาล  ซึ่งเราจะต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้ด้วยสองแรงขาล้วนๆ ไม่มีตัวช่วย  หยาดเหงื่อแต่ละเม็ดที่หยดลงพื้นบวกกับเสียงหอบคละกังวาลของเสียงสับจานเมื่อต้องเปลี่ยนเกียร์ไปมา ต้องใช้แรงเพียงใดกว่าจะกดลูกบันไดพาให้รถเคลื่อนไปได้ทีละเมตร.. สองเมตร.. สามเมตร   มันไม่สนุกหรรษาเหมือนตอนที่ขับรถทิ้งโค้งซ้ายปาดเข้าเลนขวาสลับกันไปมาอย่างตอนที่ขับรถขึ้นดอยขุนตาลมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว แถมบางจังหวะก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องสูดเอาควันดำๆ จากเหล่ารถบรรทุกที่ค่อยๆ แซงเราไปทีละคัน


กระทั่งได้พบศาลเจ้าพ่อขุนตาน นั่นคือสิ่งที่บอกให้รู้ว่าสองแรงขาถีบได้พาเรามาถึงยอดดอยแล้ว หลังจากนั้นคือช่วงเวลาแห่งความสนุก เสียว ลุ้นสุดยอดเมื่อต้องปล่อยให้รถไหลลงจากดอยด้วยความเร็วแตะ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  และนั่นหมายความว่าเราต้องใช้ประสาทสัมผัสที่มีทั้งหมดในการควบคุมรถ เพราะความผิดพลาดเพียงนิดอาจหมายถึงชีวิตเลยทีเดียว

ในที่สุด... เราก็มาถึงเชียงใหม่โดยสวัสดิภาพในเย็นวันที่ห้า ถ่ายรูปคู่กับประตูท่าแพที่เราอุปโลกน์เสมือนดั่งประตูชัย  จากนั้นก็หาที่พักราคาย่อมเยาริมคูเมือง ผมพอมีโอกาสได้ปั่นจักรยานเล่นในเกาะเมือง ให้รู้สึกอิจฉาคนเชียงใหม่ตรงที่มีตรอกซอกซอยเล็กๆ เหมาะกับการปั่นจักรยานซอกแซกไปไหนมาไหนจริงๆ


สำหรับผู้ที่สนใจจะเป็นคนบ้าบนหลังอาน ปั่นจักรยานวันละร้อยกว่ากิโลเมตรในเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ หรือแค่อยากรู้ว่าคนประเภทนี้ทำไมถึงคิดอะไรแผลงๆ  ผมขอกลั่นประสบการณ์จริงมาเล่าสู่กันฟังครับ

  1. การปั่นจักรยานทางไกลในลักษณะ Touring แบบนี้ ต้องมีการวางแผน ใช้เวลารวมกี่วัน ควรปั่นวันละกี่กิโลเมตรเพื่อให้ถึงจุดหมายภายในกำหนด ทั้งนี้ ต้องอย่ากดดันตัวเอง รู้จักประเมินขีดความสามารถของตนเอง  ไม่ควรฝืนปั่นต่อถ้าร่างกายไม่ไหว โดยเฉพาะวันแรกๆ เพราะจะส่งผลต่อร่างกายในวันต่อๆ ไปด้วย  ไม่จบทริปไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายครับ
  2. ควรเซ็ตจักรยานให้เหมาะสม องศาที่นั่ง ระยะยืดเหยียดจากแขนถึงแฮนด์ แรงดันลมยาง คงเป็นเรื่องทุกข์ทรมานอย่างหาที่สุดมิได้หากต้องอยู่ในท่านั่งที่ไม่สบายติดต่อกันวันละร่วมสิบชั่วโมง
  3. อุปกรณ์ความปลอดภัยทั้งหลาย หมวกกันกระแทก, ไฟหน้าไฟท้าย, แว่นกันลม, ถุงมือ เหล่านี้เป็น “สิ่งจำเป็น” สำหรับการปั่นจักรยานไม่ว่าจะใกล้หรือไกล
  4. เรียนรู้การปรับซ่อมจักรยานเบื้องต้นไว้บ้าง เช่น การปะหรือเปลี่ยนยาง รวมทั้งควรพกอะไหล่ยางในจักรยานติดรถไว้อย่างน้อย 2 เส้น พร้อมชุดปะยางและประแจหกเหลี่ยมที่มีขายเป็น Tool Kits อยู่แล้ว
  5. สภาพร่างกายควรแข็งแรงในระดับหนึ่ง การปั่นจักรยานทางไกลไม่ได้ต้องการคนที่ฟิตที่สุด บ้าพลังปั่นจักรยานเร็วที่สุด เราไม่ได้กำลังแข่งตรู เดอ ฟรองค์ นะครับ  ไม่จำเป็นต้องอัดกันสุดชีวิตแต่อย่างใด ไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
  6. จิบน้ำเป็นระยะ ดื่มก่อนกระหาย ทานก่อนหิว  พกน้ำอย่างน้อย 2 กระติก กำหนดระยะพักให้ชัดเจน เช่น ทุก 40 หรือ 50 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายบ้าง
  7. ธรรมดาการปั่นจักรยาน Touring จะบรรทุกสัมภาระมากน้อยต่างกันไป ตำแหน่งสัมภาระบนจักรยานก็ส่งผลต่อการเดินทางไม่น้อย  ควรจัดวางให้สมดุล ไม่เทมาทางด้านหน้าหรือโหลดไปทางหลังมากเกินไป
  8. นอกจากยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาโรคประจำตัวแล้ว ควรมียานวดหรือน้ำมันนวดคลายกล้ามเนื้อพกติดตัวไว้ด้วย  ที่สำคัญ “ครีมกันแดด” ถ้าไม่อยากเป็นมนุษย์ผิวสองสี
  9. เรื่องที่หลายๆ คนมองข้าม อย่างทิศทางลมก็มีผลต่อการปั่นจักรยาน ฤดูไหนมีลมมรสุมอะไรพัดผ่าน หากวางแผนให้ดีก็ควรปั่นตามลม ให้แรงลมช่วยดันหลังจะช่วยให้ไม่ต้องออกแรงมาก แถมอาจยังปั่นได้เร็วขึ้นด้วย
  10. เพื่อความสบายใจทั้งของตัวเราเอง รวมทั้งคนที่บ้าน การทำประกันอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ควรทำหากไม่เป็นการเดือดร้อนเงินในกระเป๋าเกินไปนัก เจียดเงินค่าอุปกรณ์จักรยานราคาแพงๆ มาจ่ายเบี้ยประกันเล็กๆ น้อยๆ แต่มีประโยชน์มหาศาลยามเกิดเหตุไม่คาดคิด  ยิ่งสมัยนี้มีประกันภัยจักรยานให้เลือกหลากหลายผู้ให้บริการด้วย
  11. เงินทองถ้าไม่จำเป็นผมว่าพกติดตัวให้น้อยที่สุด เอาแบบพอซื้อข้าวซื้อน้ำกับค่าที่พักวันสองวันก็พอ ยิ่งยุคนี้ธุรกรรมทางการเงินหลายอย่างไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแล้ว บางธนาคารไม่ต้องมีบัตรเอทีเอ็มก็สามารถเบิกเงินจากตู้ได้ด้วย  สามารถเบิกเงินได้จากทุกที่ทั่วไทย... Easy มากๆ

เมื่อคุณลองได้ปั่นจักรยานเดินทางไกลแล้ว แม้จะเป็นเส้นทางเดียวกันแท้ๆ แต่มุมมองที่มีต่อสิ่งรอบข้างจะเปลี่ยนไปจากตอนที่คุณนั่งอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์แน่นอน....  คุณจะได้รับน้ำใจจากผู้คนตามรายทาง คุณจะเห็นว่าในพื้นที่ภาคกลางของเราเค้าจริงจังในการสร้างพระพุทธรูปไซส์ยักษ์กันขนาดไหน  คุณจะรู้ว่าโรงแรมม่านรูดมิได้มีเพียงเพื่อวัตถุประสงค์เดียว  คุณจะได้ลิ้มรสหนูนาย่างใหม่ๆ  คุณจะได้กำลังใจจากคนที่รู้ถึงจุดหมายของคุณ  คุณจะได้รับการดูแลจากร้านจักรยานน่ารักๆ ที่อำเภอบ้านตาก  คุณจะได้สัมผัสความงามของลำน้ำวังที่พาดผ่านกลางอำเภอเกาะคา  คุณจะได้กลิ่นดินกลิ่นฝนกลิ่นรวงข้าวหอมๆ ริมถนน  คุณจะได้รอยยิ้มพร้อมคำอวยพรภาษาคำเมืองจากพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยท่ามกลางสายหมอกจางๆ ยามเช้า  และเหนือสิ่งอื่นใด... คุณอาจจะได้รู้ว่าตัวเอง “เป็น” และ “ทำ” อะไรได้มากกว่าที่คุณคิดไปไกล....มากกกก


ถึงย่อหน้าสุดท้ายแล้ว ไปเถอะครับ... จะปั่นจักรยานแค่ออกไปซื้อกับข้าวปากซอย ปั่นออกถนนไปทำงาน หรือจะปั่นทางไกลไปถึงไหนก็แล้วแต่  จักรยานอาจทำให้คุณรู้ว่าคุณสามารถทำหรือเป็นอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด... แน่นอน.