มีเงินเท่าไรถึงสบายใจ?

เรื่อง: ใบพัด ภาณุมาศ ทองธนากุล


Hi-Light:

  • สิ่งที่น่ากลัวคือ ยิ่งมีรายได้เยอะขึ้น เรายิ่งเสี่ยงที่จะจนหนักขึ้นไปเสียอีก เพราะตอนที่เราตำแหน่งเล็กๆ เงินเดือนน้อยๆ เราก็เจียมเนื้อเจียมตัว อะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด แต่เมื่อทำๆ ไปจนมีรายได้มากขึ้น เราก็สามารถฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม อยากกินอยู่หรูหราขึ้น อยากเปลี่ยนรถที่เหมาะกับภาพลักษณ์ที่เราคิดว่าคู่ควรกับตำแหน่งใหญ่และสังคมใหม่ๆ ของเรา
  • เมื่องานสร้างความพอใจให้เรา เรื่องที่อยากจะใช้เงินเยอะๆ เพื่อซื้อความสุขแบบเมื่อก่อนก็ลดลง ไม่ใช่ว่าหมดไป แต่มันไม่ได้เร้าใจขนาดที่ต้องดิ้นรนขวนขวายพาตัวเองไปเสพให้ได้ กลายเป็นว่าการมีเวลาและความสบายใจ ช่วยทำให้เราเพลิดเพลินกับสิ่งรอบตัวได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ และระดับความสุขในชีวิตก็ไม่ได้ลดลง


ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากงานประจำเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมเคยใฝ่ฝันถึงเงินจำนวนหนึ่ง เงินที่จะทำให้ผมกลายเป็นผู้ชนะในเกมเดิมพันแห่งชีวิต จะมีอิสรภาพในชีวิต ได้ทำทุกสิ่งตามใจปรารถนา


ตัวเลขในใจของพนักงานหนุ่มที่ไร้เดียงสาผู้นั้นคือ “สองล้านสี่แสนบาท” (ซึ่งตอนนั้น เงินในบัญชีเจ้าหมอนั่นมีเพียงห้าหมื่นกว่าบาทเท่านั้น) ตัวเลขสองล้านสี่มาจากการคำนวณคร่าวๆ ว่าถ้าผมมีเงินก้อนนั้นแล้วเอาไปลงทุนให้ได้ซัก 5% ต่อปี ก็จะได้ดอกผลไว้ใช้ปีละ 120,000 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละหมื่นนึง โดยเงินต้นไม่ลดลงเลย ซึ่งหมื่นนึงนั้นก็เท่ากับเงินเดือนของผมตอนนั้นพอดี


ตอนนั้นไม่ได้คิดไกลไปถึงอัตราเงินเฟ้อ หรือค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพตอนสูงวัยเลยด้วยซ้ำ แค่คิดง่ายๆ ว่า...โอ้โห เงินทำงานให้เราเท่ากับที่เราทำทั้งเดือนแล้ว ทีนี้ผมก็สามารถลาออกมาทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ควบคู่ไปกับการบริหารเงินได้แล้วสิ


มีความสุขกับการฟุ้งฝันอยู่ไม่นาน ก็ต้องเผชิญกับความเป็นจริง เพราะคำตอบของคำถามที่ว่า “มีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอใช้?” นั้นคือ “มีเท่าไหร่ก็ไม่พอเหอะ!” ตัวเลขที่ฝันไว้นั้นช่างห่างไกลกับจำนวนเงินมีการเผยแพร่ว่า ถ้าคนไทยอยากเกษียณแล้วมีเงินใช้จ่ายสบายๆ ต้องมีอย่างน้อยหกล้านบาทเลยทีเดียว!


และเอาเข้าจริง เงินเดือนในช่วงแรกๆ ของผมน้อยเกินไป การจะเก็บออมจนเป็นก้อนใหญ่ไม่ว่าจะกี่ล้าน ก็เป็นมิชชั่นอิมพอซซิเบิ้ลอยู่ดี ถึงจะประหยัดสุดฤทธิ์จนเก็บเงินได้สองล้านสี่จริง (และโลกนี้มีการลงทุนที่ได้ 5% แบบไร้ความเสี่ยงอยู่จริงๆ) แต่ดอกผลแค่เดือนละหมื่นจะไปพออะไร มีเรื่องให้เราอยากใช้เต็มไปหมด! เมื่อคิดได้แบบนั้น ความหวังก็ค่อยๆ ริบรี่ ผมคงต้องก้มหน้าหาเงินไปทั้งชีวิต เรื่องอิสรภาพทางการเงินเป็นความเพ้อฝัน เป็นเรื่องหลอกลวง ไม่มีอยู่จริงหรอก


ช่วงนั้น ความสุขของลูกจ้างอย่างผมก็เหมือนกับลูกจ้างอีกหลายๆ คน คือเป็นความสุขที่ต้องใช้เงินจำนวนมากซื้อหามา ยิ่งช่วงที่เหนื่อยใจ ก็คิดอยากไปกินโน่นกินนี่ ซื้อโน่นซื้อนี่ เชื่อว่า ยิ่งใช้จ่ายเงินมาก ยิ่งมีความสุขมาก บางทีก็เอาแต่เปิดหาโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบิน ตังค์ไม่ค่อยมีหรอกนะ แต่อยากหนีไปเที่ยวไกลๆ ไปจากชีวิตที่เป็นอยู่ แป๊บนึงก็ยังดี ข้างในก็รุ่มร้อนอยากมีรายได้เยอะๆ คิดแต่จะหาทางเปลี่ยนที่ทำงานเพื่ออัพเงินเดือน อยากหารายได้พิเศษนอกเวลางานมากๆ เพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอย

แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าสิ่งที่น่ากลัวคือ ยิ่งมีรายได้เยอะขึ้น เรายิ่งเสี่ยงที่จะจนหนักขึ้นไปเสียอีก เพราะตอนที่เราตำแหน่งเล็กๆ เงินเดือนน้อยๆ เราก็เจียมเนื้อเจียมตัว อะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด แต่เมื่อทำๆ ไปจนมีรายได้มากขึ้น เราก็สามารถฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม อยากกินอยู่หรูหราขึ้น อยากเปลี่ยนรถที่เหมาะกับภาพลักษณ์ที่เราคิดว่าคู่ควรกับตำแหน่งใหญ่และสังคมใหม่ๆ ของเรา จะมาประหยัดๆ โหนรถเมล์ ขับรถเก่าๆ กินอยู่มัธยัสถ์แบบเมื่อก่อน ก็กลัวคนอื่นมองไม่ดี รวมถึงพอมีเงินเดือนดี มีความน่าเชื่อถือ เราก็สามารถกู้เงินได้มากกว่าเดิมลิบลับ จนอาจเริ่มคิดถึงการซื้อบ้านหลังใหม่อีกซักหลัง


ณ จุดนี้ ถ้าไม่ระวังให้ดี จะกลายเป็นว่า แทนที่รายได้เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เราเข้าใกล้อิสรภาพในชีวิตได้เร็วขึ้น เรากลับพอใจกับการใช้เงินเกินตัวเพื่อซื้อความสุขชั่วครั้งชั่วคราว เพลิดเพลินกับการสร้างหนี้เพื่อยกระดับชีวิต จนเหมือนซื้อโซ่ทาสีทองมาล่ามตัวเองให้ต้องทำงานใช้หนี้ไปทั้งชีวิต


ตัดภาพมาอีกที ณ วันนี้ ผมลาออกจากงานประจำมา 12 ปีแล้ว ในวันที่ผมหันหลังให้กับโลกการทำงานแล้วมาเดิมพันชีวิตบนเส้นทางใหม่ ผมเก็บเงินได้เพียงเจ็ดแสนกว่าบาทเท่านั้น บางคนคิดว่าเป็นเงินที่น้อยหากคิดจะลาออกครั้งสุดท้ายด้วยเงินจำนวนแค่นี้ แต่เงินก้อนนี้แหละที่เปลี่ยนชีวิตผม


การอดออมเก็บมันมาตลอดหลายปี ก้มหน้าก้มตาประหยัด ไม่สร้างหนี้ เก็บหอมรอมริบมาเรื่อย จนวันหนึ่งมันก็สามารถเป็นทุนรอนในการเริ่มต้นชีวิตนักเขียนของผม มันถูกกระจายไปในการลงทุนรูปแบบต่างๆ ทั้งหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้เอกชน สลากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ ในบางเดือนที่ไม่ค่อยมีรายได้ ดอกผลของมันก็ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนได้บ้าง รวมทั้งผมก็ได้ใช้เงินเก็บก้อนนี้ส่วนหนึ่งสำหรับการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ให้ผมสามารถนำประสบการณ์กลับมาทุ่มเทเขียนเป็นหนังสือได้หลายต่อหลายเล่ม ผมรู้สึกติดหนี้บุญคุณเงินเก็บก้อนนี้มาก


หลังจากนั้นไม่กี่ปี หนังสือสองสามเล่มที่ผมเขียน ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้อ่าน ความนิยมนั้นนำพาเงินทองมาให้ราวกับผมถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 และชื่อเสียงของหนังสือ ยังเหมือนผมถูกรางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 ต่อเนื่องมาอีกหลายปี


แม้เงินที่ได้รับจะไม่ได้มากถึงขนาดจะเป็นเศรษฐี แต่ก็เป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับคนกินอยู่ประหยัดอย่างผม ยิ่งเมื่อเปลี่ยนโหมดชีวิตมาสู่ชีวิตคนทำงานอยู่กับบ้าน พบปะผู้คนน้อยลง ไม่มีเรื่องให้ต้องไปเปรียบเทียบไลฟ์สไตล์กับใคร แต่ละเดือนก็ยิ่งใช้เงินน้อยลงไปอีก


จำนวนเงินเก็บที่แต่ละคนจะรู้สึกหมดกังวลในชีวิต คงมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของภาระที่เขามี ที่ผ่านมาผมจึงไม่ได้มองแค่ “จำนวนเงินที่เราจะสบายใจ” แต่พยายามจะออกแบบชีวิตให้มีสัมภาระเท่าที่ผมจะรับผิดชอบไหวด้วย ฉะนั้นในวันที่เงินเก็บของผมถูกนำไปบริหารอยู่ถูกที่ถูกทาง แล้วดอกผลต่อเดือนของมันเพียงพอต่อการดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้าน ผมก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกหมดกังวล จนผมสามารถเลือกใช้เวลาไปกับงานที่ทำแล้วมีความสุขและมีความหมายกับชีวิตเราจริงๆ ได้


เมื่องานสร้างความพอใจให้เรา เรื่องที่อยากจะใช้เงินเยอะๆ เพื่อซื้อความสุขแบบเมื่อก่อนก็ลดลง ไม่ใช่ว่าหมดไป แต่มันไม่ได้เร้าใจขนาดที่ต้องดิ้นรนขวนขวายพาตัวเองไปเสพให้ได้ กลายเป็นว่าการมีเวลาและความสบายใจ ช่วยทำให้เราเพลิดเพลินกับสิ่งรอบตัวได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ และระดับความสุขในชีวิตก็ไม่ได้ลดลง ความรู้สึกแบบนี้มันแปลกนะ เหมือนกับว่าการไม่อยากซื้ออะไร เป็นสัญญาณหนึ่งของการมีความสุข


ซึ่งความแปลกนี้ก็สร้างความมั่นใจให้ผมมากเลยทีเดียวว่า คนเราไม่จำเป็นต้องรอให้รวยก่อนจึงจะมีความสุขได้ หากผมไม่ประมาท ยังยืนระยะในการรักษาสมดุลชีวิตอย่างที่ทำอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ ผมจะได้ทำงานที่รัก ได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม ได้อิ่มเอมกับชีวิตที่เรียบง่ายแบบที่เป็นอยู่ และไม่ต้องวิ่งวุ่นหาเงินไปทั้งชีวิตเพื่อไล่ล่าซื้อความสุขอีกต่อไป