The Timeless Pieces นาฬิกากับคุณค่าที่เหนือกาลเวลา

ความหลงใหลในนาฬิกา จะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของการ “มองนาฬิกา แต่ไม่ได้ดูเวลา” เพราะมูลค่าของนาฬิกา ไม่ได้อยู่ที่การบอกเวลา แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายๆ อย่าง ที่ทำให้นักสะสมนาฬิกาชื่นชอบจนถึงขั้นไขว่คว้ามาครอบครอง และทำให้การสะสมนาฬิกา สามารถเปลี่ยนเป็นการลงทุนที่สร้างผลกำไรได้หลายเท่าตัว


พบกับ ดร.ณัฐเศรษฐ์ พูนทรัพย์มณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอพีดี แพคเกจจิ้ง จำกัด นักธุรกิจหนุ่มที่เติบโตและคลุกคลีอยู่กับนาฬิกามาตั้งแต่เด็ก และมีความเชื่อว่า คุณค่าของการสะสมนาฬิกา เป็นมากกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ ร่วมพูดคุยโดย คุณกัมพล จันทวิบูลย์ และ คุณศรชัย สุเนต์ตา บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

timeless-pieces-scbtv-01

Passion มาก่อน Investment


การสะสมนาฬิกาของดร.ณัฐเศรษฐ์หรือคุณท็อป เริ่มต้นจาก Passion เป็นสิ่งสำคัญที่สุดก่อนกลายมาเป็นการลงทุน ด้วยกิจการแพ็คเกจจิ้งของที่บ้านทำกล่องนาฬิกาแบรนด์พรีเมี่ยม แล้วก็เคยทำนาฬิกามาก่อน นาฬิกาจึงอยู่ในชีวิตของคุณท็อปมาตั้งแต่เด็ก ที่บ้านปลูกฝังให้ใส่นาฬิกา ของขวัญที่ได้จากคุณพ่อคุณแม่เป็นนาฬิ่กา และนาฬิกาก็เป็นของขวัญให้กับผู้อื่นเช่นกัน ทำให้คุณท็อปสนใจแบรนด์นาฬิกาต่างๆ โดยเริ่มแรกซื้อเพราะความชอบมากก่อน ไม่ได้มองในแง่ราคาการลงทุน  “สำหรับตัวผมจะซื้อเพราะชอบอันไหนมากกว่ากัน อยากใส่อันไหนมากกว่า  แม้จะเป็นของสะสม แต่นาฬิกาก็มีไว้ต้องใช้ ไม่ใช่มีไว้เก็บ ต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ การใส่นาฬิกาไม่ใช่ใส่เพื่อโอ้อวด แต่ใส่เพื่อการดูแลรักษา ในยุคนี้ การใส่นาฬิกาไม่ได้ใส่เพื่อดูเวลาแล้ว แต่ใส่เพื่อบอกตัวตน คาแร็กเตอร์ ฐานะทางสังคมของผู้ใส่ รวมถึงให้ความสุขด้วย” คุณท็อปกล่าว

ความพิเศษของ Vintage Watch


ส่วนตัวคุณท็อปในช่วงแรก ไม่ค่อยชอบนาฬิกา Rolex เพราะรู้สึกว่าเป็นนาฬิกาคนแก่ แต่มาวันหนึ่งมีโอกาสเห็นนาฬิกา Rolex รุ่นเก่า หรือที่เรียกว่า Rolex Vintage รุ่น ExplorerII  ที่ต่างจาก Rolex ทั่วไปในยุค 90 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มอง Rolex เปลี่ยนไป แล้วไปศึกษาเรื่องราวของนาฬิกาวินเทจ เริ่มที่แบรนด์ Rolex ก่อน โดยศึกษาหาข้อมูลจากหนังสือต่างประเทศและรุ่นพี่ที่คร่ำหวอดเรื่อง Vintage Rolex  ซึ่งก็แนะนำให้ซื้อ ExplorerII เรือนนี้ นับเป็นนาฬิกาวินเทจเรือนแรกในคอลเล็กชั่น นำไปสู่ตั้งเป้าสะสมเรือนต่อๆ ไป


ความพิเศษและเสน่ห์ของนาฬิกาวินเทจอยู่ที่เทคโนโลยีการผลิตในขณะนั้น ที่ทำให้นาฬิการุ่นนั้นๆ มีจำกัด ไม่สามารถผลิตเพิ่มได้อีกแล้ว ตัวอย่างเช่น Daytona Paul Newman รุ่นที่อยู่ในคอลเล็กชั่นของคุณท็อป ต้องมีขอบด้านล่าง เลขมีความโบราณมากกว่าตามแบบเทคโนโลยีผลิตในขณะนั้นที่ปัจจุบันไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ สิ่งนี้ยังเป็นข้อดีของนาฬิกาวินเทจด้วย เพราะทำให้ปลอมยากเพราะไม่มีเทคโนโลยีแบบนี้อยู่แล้ว ผิดกับของใหม่ที่ปลอมไม่ยาก สามารถผลิตได้ด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน เช่นตัวยิงเลเซอร์ ฯลฯ  นักสะสมจะศึกษารายละเอียดนาฬิกาวินเทจแต่ละรุ่นว่าผลิตเมื่อไร เทคโนโลยีในตอนนั้นเป็นอย่างไร นับเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของนาฬิกาวินเทจ


ในส่วนเทรนด์ราคาของนาฬิกาวินเทจจะไม่เหมือนนาฬิกาใหม่ ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนว่ารุ่นไหนจะเป็นที่นิยม จากประสบการณ์ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คุณท็อปจับสังเกตได้ว่านาฬิกาที่อยู่กับนักสะสม(Collector) ราคาจะไม่ค่อยตก เพราะไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นนักสะสมจะไม่ปล่อย แต่ถ้านาฬิกาอยู่ในมือพ่อค้าหรือร้านจำหน่าย (Trader) ราคาก็จะลง เพราะถูกขายทิ้งในช่วงเศรษฐกิจขาลง จึงต้องแยกระหว่างกลุ่ม Trader กับ Collector  ซึ่งนาฬิกาวินเทจส่วนมากจะอยู่กับ Collector มากกว่า Trader เพราะไม่ใช่นาฬิกาที่ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนรุ่นใหม่ การประเมินราคานาฬิกาวินเทจต้องดูเป็นเรือนๆ ไป ขึ้นอยู่กับสภาพ สภาพเป็นตัวกำหนดราคา รวมถึงรุ่นและหน้ามาร์คด้วย

ปัจจัยที่ส่งผลราคานาฬิกา


คุณท็อปมองว่าสามารถดูว่าราคานาฬิการุ่นไหนจะปรับตัวขึ้นได้จาก 2 อย่าง คือ 1) ดูจากการประมูลว่าจะประมูลรุ่นไหน  ก็คาดว่ารุ่นนั้นจะเป็นที่นิยม 2) ดูที่ผู้ผลิต เช่น Rolex จะออกรุ่นไหนใหม่ ก็คาดว่าแบบเก่าของรุ่นนั้นจะเป็นที่ต้องการ  นาฬิกาวินเทจที่คนส่วนใหญ่นิยม ได้แก่ Rolex มี Patek Philippe, AP (Audemars Piguet) บ้าง ในวงการนาฬิกาวินเทจ แบรนด์ Rolex ราคาจะแข็งกว่า Patek Philippe ขณะที่นาฬิกาใหม่ Patek Philippe จะดูพรีเมี่ยมกว่า  ส่วนเหตุผลทำไม Rolex มาแรงกว่า เป็นเพราะเป็นแบรนด์แรกที่ทำการตลาดดีมาก คนเห็น Rolex มาตลอด คนมีชื่อเสียงก็ใส่ Rolex จึงเป็นภาพจำทำให้คนก็อยากได้ แล้วมีความจับต้องได้มากกว่า มีความเป็นโมเดิร์นและคลาสสิกที่ไม่ค่อยเปลี่ยนรูปลักษณ์ โดนนาฬิกาแต่ละเรือนมีเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป


ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและค่าเงินหายไป ทำให้ปัจจุบันกลุ่มคนสะสมนาฬิกาวินเทจมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงคนที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่มีกำลังซื้อเยอะขึ้น สามารถซื้อของที่เคยอยากได้ในวัยเด็ก ในส่วนนาฬิกาวินเทจมีจำกัดเพราะผลิตมาเท่าไรก็เท่านั้นไม่มีผลิตเพิ่ม จำนวนอาจลดลงด้วยเพราะเก็บรักษาไม่ดี จึงทำให้ซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์ เช่นเดียวกับนาฬิกาใหม่ ที่บริษัทไม่สามารถผลิตนาฬิกาได้มากเท่ากับความต้องการของลูกค้าที่เจาะจงต้องการแต่เพียงรุ่นบางรุ่นเท่านั้น นาฬิกาวินเทจราคาขึ้นเร็วมากเพราะจำนวนจำกัด คุณท็อปเคยซื้อนาฬิกาที่เคยปล่อยไปกลับมาแพงกว่าเดิม 4 เท่า ที่สำคัญการลงทุนอย่างอื่น อย่างหุ้น พันธบัตร ตราสารต่างๆ ดูได้แค่ตัวเลขราคา แต่ลงทุน Passion Investment อย่างนาฬิกาสามารถจับต้องได้ด้วย

ใช้ Passion หาตัวเองให้เจอ


สิ่งที่คุณท็อปฝากถึงผู้ที่เริ่มสะสมนาฬิกาวินเทจคือใช้ Passion Investment หาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร มองให้ละเอียดมากขึ้นว่าสิ่งที่เติมเต็มตัวเราคืออะไร อาจไม่ใช่ตัวเงินหรือผลตอบแทน แต่เป็นสิ่งที่เราสนุกและมีความสุข ถ้าเจอตัวเองได้เร็ว ก็จะใช้ชีวิตได้อย่างสนุกมีความสุขมากขึ้น สำหรับคุณท็อป นาฬิกามีคุณค่าเป็นของขวัญให้ตัวเอง แล้วยังเป็นของขวัญที่จะส่งมอบสู่คนรุ่นต่อไป


ที่มา : SCBTV Treasure Your Passion Ep.5 : The Timeless Pieces นาฬิกากับคุณค่าที่เหนือกาลเวลา ออกอากาศทาง SCBTV วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563