The Treasure Hunter สะสมประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะโบราณ (ตอนที่ 2)

จากบทความตอนแรกที่ได้พูดคุยกับคุณอรรถดา คอมันตร์ หรือคุณโอ๊ค กรรมการบริหาร บริษัทในเครือ ไทยสตาร์ กรุ๊ป ผู้ที่รักการสะสมศิลปะโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากการสะสมภาพถ่ายโบราณที่เป็นของหายากเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลกแล้ว คุณโอ๊คยังมีของสะสมน่าสนใจอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือศาสตราวุธโบราณทั้งของไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และศิลปะประจำชาติ

treasure-hunter-scbtv-ep2-01

คุณค่าแห่งศาสตราวุธ


ศาสตราวุธโบราณในคอลเล็กชั่นของคุณโอ๊ค ส่วนใหญ่เป็นเสมือนเครื่องประกอบยศของขุนนางชั้นสูง มีหลากหลายทั้งอาวุธของไทยและประเทศราชแต่โบราณ เช่นดาบมลายูของทางใต้ เป็นดาบยาวโดดเด่นด้วยใบมีดเหล็กดามัสกัสลวดลายสวยงาม ดาบไทยทรงญี่ปุ่น ที่เป็นดาบยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นที่เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ดาบไทยด้ามทองสมัยอยุธยา ดาบหลูบเงินแบบล้านนา ซึ่งคุณโอ๊คเล่าว่าการจะรู้ว่าดาบเล่มไหนเป็นดาบของคนระดับไหน ให้ดูจากลวดลาย วัสดุที่ใช้ กรรมวิธีผลิต และสามารถศึกษาได้จากภาพถ่ายโบราณว่าดาบแบบไหนใครไปคนใช้  นอกจากนี้ยังมีอาวุธยาว ซึ่งแต่ละอันมีลักษณะต่างกัน  มีทั้งแบบคร่ำทองที่เอาเส้นทองมาฝังในเหล็ก เป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย หรือแบบถมทองที่เป็นอาวุธสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยคนที่ใช้ของที่มีทองได้ก็ต้องเป็นบุคคลระดับสูง แล้วยังมีหอกสมัยอยุธยาตอนกลาง ลายบนหอกเป็นลายพันธุ์ไม้ที่ได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซีย มีลายบัว 3 ชั้นบ่งบอกว่าเจ้าของมียศค่อนข้างสูงมาก


สำหรับผู้ที่อยากสะสมศาสตราวุธโบราณ คุณโอ๊คแนะนำว่าอาวุธมีหลายเกรด ถ้ามีโอกาสได้ซื้อของดีและดูเป็นก็ให้รีบซื้อ เพราะเป็นที่นิยมของนักสะสมจากทั่วโลก ศาตราวุธของไทยเราหลายชิ้นคุณโอ๊คก็ได้มาจากต่างประเทศ เป็นของที่ไทยส่งเป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการ การสะสมศาตราวุธมีความพิเศษอยู่ที่มีเรื่องของความเชื่อพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เขากวางคุดที่เป็นของหายาก มีความเชื่อว่าเป็นของทนสิทธิ์ (คงกระพัน) กรรมวิธีในการตีดาบที่มีความพิถีพิถันอย่างมาก

ในส่วนของอาวุธจากต่างประเทศ ที่น่าสนใจคือดาบญี่ปุ่นสมัยเอโดะ ปกติจะแบ่งเป็น 3 ขนาดความยาว ได้แก่ คาตานะ หรือดาบซามูไร ขนาดยาวที่สุด รองมาคือวากิซาชิ ความยาวขนาดกลางเหมาะกับคนไทย และ ตันโตะ ขนาดเล็กสุด เป็นดาบพกติดตัว สำหรับคนญี่ปุ่น ดาบเหล่านี้ถือเป็นสมบัติประจำตระกูลโดยตระกูลเจ้าของดาบจะหวงแหนดาบพวกนี้มาก ดังนั้นการจะได้ดาบญี่ปุ่นมาจึงค่อนข้างยาก นอกจากชนิดของดาบแล้ว ดาบญี่ปุ่นยังมีคุณค่าที่กรรมวิธีตีดาบที่แตกต่างไปแต่ละสำนัก ซึ่งจะมีการสลักชื่อช่างตีไว้ตรงโคนดาบทำให้ในบรรดาชิ้นส่วนทั้งหมด มูลค่าของดาบอยู่ที่ใบมีดมากที่สุด ดาบที่นิยมสะสมกันคือดาบสมัยเอโดะ ซึ่งเราสามารถนำดาบไปของใบรับรองจากสมาคมที่ประเทศญี่ปุ่นได้ เพราะเขามีการจดบันทึกรายชื่อช่างตีดาบไว้อย่างดี ยิ่งถ้าดาบมีใบรับรอง ก็ยิ่งมีมูลค่าสูง นอกจากนี้การจะนำดาบเอาออกจากญี่ปุ่นต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ เพราะถือว่าเป็นศิลปะประจำชาติ สามารถนำออกได้ แต่ก็ทางการจะบันทึกไว้ว่าใครเป็นผู้ครอบครอง


ของสะสมอีกชิ้นที่หาชมที่ไหนไม่ได้ คือ ธงจุฑามณี ซึ่งเป็นธงประจำพระองค์สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นธงผืนแรกที่ชักขึ้นสู่เสาในสยามในสมัยร.3 เมื่อเกือบ 200 ปีมาแล้ว สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ท่านทรงสนใจในวิทยาการสมัยใหม่ สยามขณะนั้นยังไม่มีธงชาติ มีเพียงธงจุฑามณีผืนนี้ที่เจ้าฟ้าน้อยโปรดให้ชักขึ้นในวังของท่าน ก่อนหน้าที่จะมีธงช้างเผือกเป็นธงชาติผืนแรกในสมัยปลายรัชกาลที่ 3

เรือนไทยโบราณ สถานที่ย้อนเวลาสัมผัสคุณค่าแห่งอดีต


ไฮไลท์คอลเล็คชั่นของสะสมโบราณที่น่าทึ่งที่สุดของคุณโอ๊ค เห็นจะไม่มีอะไรน่าชมไปกว่าเรือนไทยโบราณ 8 หลัง 8 สไตล์ในอาณาบริเวณ Villa Musee ซึ่งคุณโอ๊คได้เล่ารายละเอียด 2 หลังเด่นๆ ได้แก่


เรือนไทยมอญที่ได้มาจากอ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งมีคนมอญ-จีนอาศัยอยู่เยอะ เป็นสถาปัตยกรรมเรือนแฝดหน้าจั่วปั้นหยา ด้านหลังเป็นเรือนไทยภาคกลาง ถอดชิ้นส่วนมาเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาประกอบตามกรรมวิธีแบบดั้งเดิมมากที่สุด จุดเด่นของเรือนนี้อยู่ที่พื้นไม้แผ่นใหญ่ เก็บรักษาตามสภาพดั้งเดิม นอกจากตัวเรือนแล้ว ยังมีของตกแต่งที่เป็นไฮไลท์ เช่น ไม้แกะสลักพญาครุฑ อายุ 300-400 ปี จากเมืองอังวะ พม่า ชุดทหารโบราณ หรือที่เรียกว่าเสื้อเสนากุฎ สมัยร.3  ตู้ลายรดน้ำที่เป็นเอกลักษณ์ศิลปะไทย ภาพวาดบนผืนผ้าใบสมัย ร.4-5 คล้ายภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ภาพพระบทที่เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ  เสื้อยันต์แขนยาวกระดุมงาช้าง อายุมากกว่า 200 ปีที่หายากมาก


อีกเรือนหนึ่งคือ เรือนประเสนชิต หรือเดิมคือบ้านเลขที่ 301 ถนนนเรศ เป็นเรือนไม้สักทองทรงปั้นหยา 2 ชั้น สร้างช่วงปลายรัชกาล 5  ซึ่งก่อนจะรื้อจากรุงเทพฯ ทีมงานคุณโอ๊คได้ถ่ายรูปทำทะเบียนเก็บข้อมูลทุกชิ้นส่วนอย่างละเอียด เพื่อนำมาประกอบเหมือนเดิมและบูรณะขึ้นมาใหม่โดยช่างฝีมือไทยโบราณ และที่น่าภาคภูมิใจคือเรือนไทยหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์

คุณโอ๊คเล่าว่าตามประวัติเจ้าของเรือนเกิดในสมัยรัชกาล 5 ได้ไปศึกษาต่อที่ยุโรปแล้วกลับมารับราชการในปลายรัชกาลที่ 5 - 7 โดยคุณโอ๊คจัดฟังก์ชั่นการใช้ห้องเหมือนมีคนอยู่จริงๆ ของที่ใช้แต่งเรือน อย่างเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ก็เป็นของสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ใกล้เคียงในสมัยนั้นจริงๆ  ซึ่งคุณโอ๊คก็สะสมเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์โบราณอยู่แล้ว จึงสามารถนำมาใส่บ้านนี้ได้เลย ชั้นล่างของเรือนแบ่งเป็นห้องกินข้าว ตกแต่งโดยใช้ของเกี่ยวกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่นแผนที่อยุธยาฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพพิมพ์ทองแดงแสดงวิถีชีวิตชาวอยุธยาทำในยุโรปอายุกว่า 300 ปี รูปถ่ายราชอาคันตุกะในรัชกาลที่ 5 ที่มาเยือนอยุธยา  ในส่วนห้องรับแขก มีเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยซึ่งเป็นของเวียดนามยุคแรกในช่วงที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ทำจากไม้ปุ่มมะค่า ไม้ชิงชัง ตกแต่งผนังด้วยภาพถ่ายเรื่องราวในสมัยนั้น แล้วยังมีห้องสันทนาการ โดดเด่นด้วยแกรนด์เปียโนโบราณ ตัวคีย์ทำด้วยงาช้าง เป็นเปียโนที่สั่งทำกับให้ราชวงศ์ในยุโรป ห้องหนังสือทำงาน ที่ในตู้หนังสือเต็มไปด้วยหนังสือโบราณอายุกว่า 150 ปี  บนฝาผนังประดับด้วยภาพจากหนังสือ Le Petit Journal เรื่องราวสมัยร.ศ. 112 และรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก 


เมื่อขึ้นมาชั้นบน จะได้พบกับวัตถุล้ำค่า คือ “ภาพนั่งบัลลังก์” ของรัชกาลที่ 5 เป็นภาพพิมพ์หินสอดสีที่พระองค์ท่านสั่งทำจากยุโรป  ตามโถงบันไดประดับด้วยอาวุธโบราณสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา สะท้อนถึงการแต่งบ้านที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ในห้องนอน มีเครื่องเรือนอย่างเตียงสไตล์ยุคโคโลเนียลมาจากอินเดีย รวมถึงชุดรับแขกเล็กๆ เครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ พรมทอมือ และในห้องแต่งตัว คุณโอ๊คได้สรรหาสิ่งของร่วมสมัยมาตกแต่งอย่างครบครัน เช่นเสื้อผ้าเครื่องแบบทหารในสมัยนั้น รวมถึงกระบี่ขุนนางสมัยรัชกาลที่ 5 กระบี่เสือป่าสมัยรัชกาลที่ 6 ฯลฯ ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกว่าเรือนหลังนี้มีชีวิตราวกับมีผู้อยู่อาศัยจริง 


ผู้ที่สนใจเข้าชมเรือนไทยโบราณที่ Villa Musee  เปิดให้เข้าชมวันศุกร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ 9 โมงเช้า – 4 โมงเย็น ครั้งละไม่เกิน 8 คน  ดูข้อมูลจองล่วงหน้าที่เว็บไซต์ และ Facebook Villa Musee Khaoyai, Thailand

ดีมานด์สร้างคุณค่าของการสะสม


คุณโอ๊คฝากถึงผู้ที่ต้องการเริ่มต้นสะสมวัตถุโบราณว่าสำหรับนักสะสมต้องเริ่มต้นที่ความชอบหรือ Passion ก่อน จากนั้นก็ศึกษาหาความรู้ โดยต้องเคยเห็นของจริง ต้องชอบเสาะแสวงหา เพราะของจริงมีน้อยกว่าของปลอมเยอะ และถ้าการสะสมสามารถมีประโยชน์กับส่วนรวมก็ถือว่ายิ่งเพิ่มมูลค่าทางจิตใจ ซึ่งสำคัญที่สุดนอกเหนือจากมูลค่าเงินตรา จริงๆ แล้วของไทยหลายอย่างเป็นที่ต้องการของนักสะสมจากทั่วโลก นักสะสมจึงควรเก็บของที่มีคุณค่าและความต้องการในตลาดสากล


ที่มา : SCBTV Treasure Your Passion EP 4 : The Treasure Hunter สะสมประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะโบราณ (ตอนที่ 2) ออกอากาศทาง SCBTV วันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2563