มีสัญญาณอะไรบ้าง ที่บอกว่าควรเริ่มลงทุนแล้วหลังวิกฤต

ในช่วงภาวะวิกฤต จะดูเหมือนว่ามีข่าวร้ายอยู่เต็มไปหมด จนทำให้นักลงทุนเกิดความกลัว ผลจากความกลัวก็อาจทำให้ขายสินทรัพย์การลงทุนออกมาอย่างไม่ยั้งคิด (Panic Sell) เพื่อต้องการที่จะถือเงินสดให้มากที่สุด เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าจุดต่ำสุด หรือ bottom ของราคาสินทรัพย์นั้นจะอยู่ที่ไหน


แม้ว่าจะมีคำกล่าว ‘ในทุกวิกฤตจะมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ’ แต่ด้วยภาวการณ์เช่นนี้ หลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่า เราควรจะกลับเข้าไปลงทุนที่จุดไหน บทความนี้มีคำตอบ


ในการวิเคราะห์การลงทุน เราต้องพิจารณาให้ได้ก่อนว่าตอนนี้ เราอยู่ในวัฏจักรเศรษฐกิจระยะไหน เพราะเราควรจะลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจนั่นเอง ในการพิจารณาว่าตอนนี้เราอยู่ในวัฏจักรเศรษฐกิจระยะไหน เราจะพิจารณาจาก เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่เราควรรู้จัก คือ

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือตัวเลขการขยายตัวของจีดีพี (Gross Domestic Product: GDP) เป็นตัวเลขที่แทบจะนำตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวมาสะท้อนรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก และการ นำเข้า


2.อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นดัชนีชี้วัดราคาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคว่าปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยมากน้อยเพียงใด เช่น เงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ก็หมายถึง ราคาสินค้าแพงขึ้นเฉลี่ย 3% ซึ่งกรอบเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 0 - 3.5%


โดยปกติตัวเลขทั้ง 2 ตัวนี้มักจะไปด้วยกัน กล่าวคือ เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจมีการขยายตัว เงินเฟ้อก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและหากเศรษฐกิจหดตัว เงินเฟ้อก็ปรับลดลงตามวัฎจักรเศรษฐกิจ โดยการขึ้นลงของเศรษฐกิจนั้นจะถูกแบ่งเป็น 4 ระยะด้วยกัน คือ ระยะฟื้นตัว (Recovery) ระยะเฟื่องฟู (Peak) ระยะถดถอย (Recession) และระยะตกต่ำ (Trough) ซึ่งแต่ละวัฎจักรเศรษฐกิจมีลักษณะดังนี้


1. ระยะฟื้นตัว (Recovery) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลังจากเผชิญภาวะตกต่ำถึงขีดสุด เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ สินค้าที่เหลือค้างสต็อกค่อยๆ ทยอยขายออก ราคาสินค้าเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ผลประกอบการของธุรกิจดีขึ้น การผลิตเพิ่มขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้ดี ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยสังเกตจาก GDP Growth ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งตัวอย่างของระยะฟื้นตัว คือ การฟื้นตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โดยที่หาก GDP Growth ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกันเราจะนับว่าเข้าสู่ระยะฟื้นตัว


แล้วเราควรลงทุนอย่างไร?

ช่วงเวลานี้เหมาะกับการลงทุนใน “หุ้น” มากที่สุด เพราะหุ้นจะได้ผลบวกโดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และเศรษฐกิจที่ขยายตัว ในขณะที่ตราสารหนี้และเงินฝากจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า


2. ระยะเฟื่องฟู (Peak) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจผ่านช่วงฟื้นตัว และก้าวเข้าสู่ช่วงขยายตัว เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้มากกว่าเงินเฟ้อ การเติบโตของ GDP จะเริ่มช้าลงจาก  ไตรมาสก่อนหน้า หลังจากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับระดับการจ้างงาน แต่การเติบโตค่อนข้างทรงตัว ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น


แล้วเราควรลงทุนอย่างไร?

การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะเฟื่องฟู จะเน้นลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ อาหาร และน้ำมัน เพราะราคาปรับตัวดีขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจที่ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น หุ้นที่เกี่ยวกับโภคภัณฑ์ก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นอาจจะลดความน่าสนใจลง (ยกเว้นหุ้นโภคภัณฑ์) เพราะในช่วงเวลานี้ ดอกเบี้ยจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น กำไรของกิจการจึงลดลงลง ราคาหุ้นจึงมีโอกาสปรับตัวลดลงบ้าง

3. ระยะถดถอย (Recession) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณการชะลอการขยายตัว สามารถสังเกตเห็นได้ผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่องมากกว่า 2 ไตรมาส เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น ตัวเลขการผลิตและจ้างงานเริ่มลดลง เช่น วิกฤตจากโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดประมาณไตรมาส 1 ของปี 2020 จะส่งผลให้ GDP Growth ในไตรมาส 1 และ 2 จะติดลบ 2 ไตรมาสติดกันและอาจจะเห็นการฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3 และ 4 หากควบคุมโรคระบาดได้ดี และไม่มีการระบาดซ้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากผลกระทบของโรคระบาดต่อระบบเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ จะส่งผลให้เราเข้าสู่ระยะตกต่ำได้ ผลของโรคระบาดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก อีกทั้งยังมีผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุฯ และรัสเซียทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ เราจึงไม่เห็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ระยะตกต่ำนั่นเอง


แล้วเราควรลงทุนอย่างไร?

ลดสัดส่วนการลงทุนใน “หุ้น” เนื่องจากกำไรของบริษัทจะเริ่มค่อยๆ ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ส่วน “ตราสารหนี้ระยะยาว” ก็ไม่น่าสนใจ เพราะดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวต่ำลง นอกจากนี้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้มีแนวโน้มลดลง ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยเฉพาะที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งค่อนข้างต่ำ มีความเสี่ยงมากขึ้น “เงินฝาก” จึงเป็นทางเลือกที่ดีสุด

 

4. ระยะตกต่ำ (Trough) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างเต็มตัว GDP Growth หดตัว จนทำจุดต่ำสุดใหม่และมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน ประชาชนไม่ค่อยมีกำลังซื้อ เพราะรายได้ลดลงมาก เงินเฟ้อปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการลดอัตราการผลิตลง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มเข้ามามีบทบาทโดยจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


แล้วเราควรลงทุนอย่างไร?

ผลตอบแทนของหุ้นอาจจะยังไม่ดีขึ้นมากจากช่วงระยะถดถอย ยังคงแนะนำให้ลดสัดส่วนหุ้นในพอร์ตลง ถ้าจะลงทุนจำเป็นต้องเลือกอย่างระมัดระวังมากๆ โดยแนะนำหุ้นที่มีราคาไม่แพง และกิจการควรมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ เช่น หุ้นสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) เพิ่มสัดส่วนการลงทุน “ตราสารหนี้ระยะยาว” เนื่องจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น (ราคาตราสารหนี้ระยะยาวจะวิ่งสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย) โดยควรเลือกตัวที่มีอัตราเครดิตเรตติ้งที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงที่บริษัทที่ออกตราสารจะล้มละลาย


ดังนั้นหากเราต้องการจะลงทุนหลังเกิดวิกฤต สัญญาณสำคัญที่เราต้องพิจารณา คือ GDP Growth เราต้องมั่นใจได้ว่า GDP Growth ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นตัว นั่นคือเริ่มเห็น GDP Growth ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกันนั่นเอง


อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างแม่นยำ นั่นคือในแต่ละช่วงของวัฏจักรจะใช้เวลานานแค่ไหน? สิ้นสุดเมื่อไหร่? บางครั้งในแต่ละช่วงอาจใช้เวลาถึง 5 ปี 10 ปี ก็เป็นไปได้ ดังนั้นสิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญที่สุด ไม่ใช่การคาดการณ์ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เป็น “คุณจะลงทุนอย่างไรในแต่ละช่วงของวัฏจักรต่างหาก


บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร