ส่องโอกาสที่นักธุรกิจไทยจะได้รับจากรถไฟฟ้าจีน-ลาว

ต่อเนื่องจาก “จับตาโอกาสธุรกิจไทยในสปป.ลาว ในวันที่รถไฟฟ้าจีน-ลาว เปลี่ยน Landlock สู่ Land Link”  คุณกวิน วิริยพาณิชย์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียงจันทน์ คุณลัญชนา ทัตตานนท์  ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจ สายงานธุรกิจต่างประเทศ SCB คุณกนก สกุลคู ผู้จัดการ SCB สาขานครเวียงจันทน์ มาพูดคุยเพิ่มเติมถึงโอกาสที่นักธุรกิจไทยจะเก็บเกี่ยวได้จากเส้นทางรถไฟฟ้าจีน-ลาว


รถไฟฟ้าจีน-ลาวส่งผลอย่างไรกับธุรกิจไทย


คุณกวิน กล่าวถึงรถไฟฟ้าจีน-ลาวที่เปิดบริการเมื่อวันชาติสปป.ลาว 2 ธันวาคม 2565 ว่าได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนสปป.ลาวเป็นอย่างมาก ส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย คือถือเป็นการเพิ่มช่องทางขนส่งเดินทางระหว่าง 2 ประเทศ จากเดิมที่มีการขนส่งทางรถที่หนองคายและรถไฟที่สถานีท่าบกท่านาแล้งที่ฝั่งสปป.ลาว อยู่แล้ว ต่อไปก็จะมีการพัฒนาสถานีรถไฟนาทาเพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าจีน-ลาว


แม้ปัจจุบันเห็นได้ว่าจีนเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์กับรถไฟสายนี้เป็นหลัก เช่น การส่งสินค้าจีนเข้ามาสปป.ลาวและไทย ธุรกิจหัวรถลาก ทำโกดังจัดเก็บสินค้าที่ท่าบกท่านาแล้ง แต่ส่วนธุรกิจไทยที่จะได้รับประโยชน์จากรถไฟฟ้าจีน-ลาว แบ่งเป็นหลายส่วนได้แก่


· การท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาสปป.ลาวและไทยอย่างสะดวกรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้าสายนี้ สร้างโอกาสให้ธุรกิจท่องเที่ยวบริการในจังหวัดชายแดนและใกล้เคียง


· ธุรกิจขนส่งและจัดเก็บสินค้า : เมื่อสินค้าจำนวนมากมาลงที่ท่าบกท่านาแล้ง ก็ต้องมีรถบรรทุกหัวรถลากจากฝั่งไทยไปนำสินค้าข้ามฝั่งมาและมีโกดังจัดเก็บเพิ่มขึ้น


· ธุรกิจการนำเข้าส่งออกสินค้า : ตามแนวชายแดนที่ติดกับสปป.ลาว รวมถึงส่วนอื่น จะนำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่ายได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น ส่งผลต่อธุรกิจ e-Commerce นำเข้าสินค้าจากจีนขยายตัวมากขึ้น


ในแง่มุมประโยชน์ที่ธุรกิจไทยได้รับคือ สินค้านำเข้าเกษตร สินค้า Border e-Commerce จะเข้ามาได้สะดวกขึ้น แต่ในทางกลับกันสินค้าต้นทุนถูกจากจีนก็จะเข้ามาแข่งขันในไทยเช่นเดียวกัน ธุรกิจไทยจึงควรมองหาโอกาสที่จะได้ประโยชน์ร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้ และต้องปรับตัว ลดต้นทุนการผลิตเพื่อรับมือกับสินค้าจีนที่จะเข้ามา รวมถึงพยายามผลักดันส่งสินค้าไทยไปจีน เช่น ผลไม้สด ทุเรียน มังคุด ผลไม้แปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นสินค้าส่งออกหลักไปจีน


คุณกนก สกุลคู ผู้จัดการ SCB สาขานครเวียงจันทน์
กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่าได้รับการสอบถามจากธุรกิจไทยที่สนใจจะมาลงทุนธุรกิจในสปป.ลาว เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ในสปป.ลาว คุณกนกมองว่าการนำสินค้าจีนเข้ามาในประเทศไทย เช่นผักผลไม้ จะเป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการและคนไทยได้มีโอกาสใช้สินค้าที่มาจากจีนในราคาที่ถูกลง

thai-business-opportuinity-in-laos-03

โอกาสระยะสั้น-กลาง-ยาวในสปป.ลาว


ในมุมมองสถาบันการเงิน คุณลัญชนา ทัตตานนท์  ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจ สายงานธุรกิจต่างประเทศ SCB มองโอกาสของธุรกิจเช่นเดียวกับคุณกวิน โดยแบ่งโอกาสเป็นระยะสั้น-กลาง-ยาว


โอกาสระยะสั้นที่เห็นชัดเจนคือโลจิสติกส์ จากเดิมที่ขนส่งสินค้าจากไทยไปทางตอนใต้ของจีน ใช้รถ 2 วันครึ่ง รถไฟฟ้าจีน-ลาวช่วยให้ประหยัดเวลาไปได้มาก และมีการสร้างจุดพักสินค้าที่แถวหนองคายขนาดใหญ่กว่าเดิม ขยายจุดตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดน รวมถึงขยายสถานีรถไฟที่นาทา จ.หนองคาย


ในส่วนการท่องเที่ยว รถไฟฟ้าจีน-ลาว ถือเป็นประสบการณ์เดินทางรูปแบบใหม่ จากแต่ก่อนที่เดินทางโดยเครื่องบินไปคุณหมิง สปป.ลาว แต่การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงเป็นของใหม่ไม่เคยมีมาก่อน สามารถแวะที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ อย่าง หลวงพระบาง วังเวียง ที่สำคัญ Supply Chain ในธุรกิจท่องเที่ยวไม่ได้มีแค่โรงแรม แต่รวมถึงร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ขนส่ง ด้วยความที่ผู้ประกอบการไทยเชี่ยวชาญด้าน Hospitality อยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวในอนาคต


การส่งออกผลไม้ไทย และสินค้าอุปโภคบริโภคไทยเป็นที่นิยมในจีนไปยังมณฑลยูนนานที่มีประชากร 50 ล้านคนด้วยรถไฟสามารถช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายถูกลง  ในด้านธุรกิจการเงิน การพัฒนา Money Transferring Agent ในประเทศจีนนับเป็นโอกาสที่น่าสนใจต่อไป


ในระยะกลางและระยะยาว  จีนมีแผนการพัฒนารถไฟฟ้าจีน-สิงคโปร์เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าจีน-ลาว ซึ่งทางมาเลเซีย สิงคโปร์ก็จะใช้เส้นทางนี้ขนส่งสินค้าและผู้คนไป-กลับจากประเทศจีน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเวลาการขนส่ง โดยประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมต่อลงใต้ไปมาเลเซีย สิงคโปร และเมียนมาร์ ทางด้านตะวันตก

ข้อแนะนำ & ข้อควรระวังการทำธุรกิจในสปป.ลาว


คุณกวินกล่าวถึงการที่สปป.ลาวได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสินค้า 14 รายการจากประเทศจีน เป็นสินค้าเกษตร 13 รายการ (มันสำปะหลัง ข้าวโพด กล้วย ส้มเปลือกหนา ส้มโอ ถั่วแขก ถั่วฝักยาว เสาวรส มันเทศ แตงโม ฯลฯ) และสินค้าปศุสัตว์ (เนื้อวัว) 1 รายการ จึงแนะนำให้นักธุรกิจที่สนใจทำธุรกิจในลาวเพื่อส่งสินค้าไปจีนลงทุนในสินค้ากลุ่มนี้ ด้วยไทยและสปป.ลาวอยู่ติดกัน และคนไทยเองก็มีความเชี่ยวชาญการเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ คุณกวินกล่าวย้ำว่านักลงทุนควรศึกษาสิทธิพิเศษทางภาษีที่จะได้จากประเทศปลายทาง จึงรู้ว่าควรจะลงทุนธุรกิจอะไร


แม้ว่านโยบายยุทธศาสตร์ 5 ปีของสปป.ลาวจะสนับสนุนให้นักลงทุนเข้ามาในหลากหลายธุรกิจ ทั้งภาคบริการ การศึกษา การลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงสิทธิพิเศษทางภาษีที่จะได้รับจากการส่งออกสินค้าไปจีน คุณกวินเตือนให้นักลงทุนไทยระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงสูงต่างๆ เช่น ตลาดแรงงานสปป.ลาวที่ยังไม่สามารถรองรับธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญเฉพาะ รวมถึงธุรกิจบริการด้านสาธารณสุข รวมถึงค่าเงินอ่อนค่า เงินเฟ้อ ฯลฯ การตัดสินใจจึงต้องระมัดระวังโดยใช้ข้อมูลเชิงลึก พิจารณาปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้นักธุรกิจไทยทำธุรกิจสินค้าบริการที่รองรับตลาดจีน ซึ่งเป็นธุรกิจที่คนไทยมีความเชี่ยวชาญ และคนจีนยังลงทุนน้อย เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ นักธุรกิจต้องระมัดระวังในเรื่องความละเอียดของสัญญาการซื้อขาย เช่าที่ดิน ตลอดจนเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับประเทศคู่ค้าปลายทาง โดยนักธุรกิจไทยสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้จากสำนักงานส่งเสริมการค้าในสปป.ลาว รวมถึง ธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาในสปป.ลาว อย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่พร้อมให้บริการด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุน กฎระเบียบในการทำธุรกิจ แก่ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS -ประเทศกัมพูชา สปป. ลาว ประเทศเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) สนใจติดต่อ – ที่นี่