สปป.ลาว – ไทย เพื่อนบ้านข้ามลำน้ำโขง

ประเทศไทยและสปป.ลาวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทุกมิติ ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ส่งผลให้พื้นฐานความคิดใกล้เคียงกัน ซึ่งป็นปัจจัยบวกเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเกื้อกูลระหว่างกันและสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองประเทศ


จากวิกฤตโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในส่วนเศรษฐกิจประเทศไทย 70% พึ่งพาการส่งออกก็สามารถประคับประคองและเพิ่มการส่งออกได้เรื่อยๆ  โดยมีปัจจัยสำคัญคือการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดในปีพ.ศ. 2564 ในมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาท  6.1 แสนล้านบาท เป็นการค้าไทย-สปป.ลาว 2.3 แสนล้านบาท และสินค้าที่ส่งผ่านลาวไปเวียดนาม สิงคโปร์ 3 แสนกว่าล้านบาท มูลค่าเติบโตจากปีก่อนหน้า 17-18% โดยมี 2 ปัจจัย ตัวแปรให้สปป.ลาวมีความสำคัญมากขึ้น คือ


1) การเป็นคู่ค้าระหว่างกัน ทั้งการค้าไทยและสปป.ลาว และการส่งสินค้าผ่านสปป.ลาวเข้าไปข้ามแดนยังจีน เวียดนาม และสิงคโปร์ (ลาว–เวียดนาม-สิงคโปร์) ซึ่งการค้าไทยผ่านสปป.ลาวไปสิงคโปร์ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 1.5 หมื่นล้าน จากเดิม 2 พันกว่าล้านบาทเมื่อสองปีที่แล้ว

2) นโยบายสปป.ลาว เปลี่ยนประเทศ Landlock เป็น Hub การขนส่งทางบกเป็น Land Link Country โดยมีรถไฟฟ้าจากคุณหมิงมาเวียงจันทน์ข้ามมาไทย ขนสินค้ามาออกทางเรือที่แหลมฉบังไปทั่วโลก และยังขนส่งลงไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ สิ่งที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากเปลี่ยนภาพจำของสปป.ลาวที่มีเศรษฐกิจจำกัดเพราะไม่มีทางออกทะเลไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหัวใจสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ คือ โลจิสติกส์ที่ดีคือมี option ให้เลือก ยิ่งเยอะยิ่งดี เมื่อมีรถไฟจากจีนวิ่งลงมา ประกอบกับขนส่งทางรถที่มีแต่เดิม ก็เป็นการเพิ่มช่องทางขนส่งมากขึ้น


การขนส่งไทย-สปป.ลาวในปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง ตรงจุดข้ามแดนที่หนองคาย มีทางรถไฟอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้เพิ่มเที่ยวรถไฟจากวันละ 4 เที่ยว (ไป 2 กลับ 2) เป็นวันละ 14 เที่ยว (ไป 7 กลับ 7) และเพิ่มโบกี้คอนเทนเนอร์ขนสินค้าด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้ามากขึ้น สิ่งนี้คือภาพใหม่ของสปป.ลาว ที่มีโอกาสการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น

laos-thai-mekong-river-neighborhood-01

รถไฟฟ้าจีน-ลาวเป็นเหมือนการต่อท่อจากตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตรงมาสู่เวียงจันทน์ สามารถขนส่งสินค้าถึงคุณหมิงภายใน 10-12 ชม. และไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะในจีนเองก็มีเครือข่ายรถไฟเชื่อมโยงกันทั่วประเทศแล้ว ดังนั้นเมื่อสินค้าถึงคุณหมิงก็สามารถส่งไปต่อทั่วประเทศจีนได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ทำให้จากเดิมที่นักลงทุนไม่กล้าลงทุนผลิตสินค้าส่งออกในสปป.ลาว เพราะตลาดขนาดเล็ก และการขนส่งมีต้นทุนสูง การมีรถไฟฟ้าจีน-ลาวเข้ามาเป็นจึงเป็นเส้นทางส่งสินค้าที่ต้นทุนไม่สูง ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร และแรงงานราคาถูกที่สปป.ลาวมีอยู่  ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสร้างโฉมหน้าใหม่ให้สปป.ลาว


ล่าสุด สปป.ลาวกับเวียดนามลงนามเพิ่มสิทธิ์การถือหุ้นท่าเรือน้ำลึกเมืองวินห์ 60% ให้สปป.ลาว และปรับปรุงท่าเรือดังกล่าวเป็นทางออกทะเลของสปป.ลาว  ในส่วนไทยกับสปป.ลาว มีพรมแดนยาว 810 กิโลเมตร มีสะพานข้ามแดน 4 แห่ง และกำลังมีแห่งที่ 5 ที่บึงกาฬ เป็นอีกจุดที่จะขนสินค้าข้ามมาขึ้นรถไฟที่เวียงจันทน์ที่อยู่ห่างขึ้นไป 160 กิโลเมตร


เปลี่ยนจาก Landlock สู่ Land Link


จากที่ไม่ค่อยมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะการขนส่งออกลำบาก นโยบายใหม่จะเปลี่ยนให้สปป.ลาวกลายแหล่งลงทุนฐานการผลิตเพื่อส่งออก เพราะมีตลาดใหญ่อย่างจีนรองรับอยู่ จึงเป็นโอกาสของไทยจะรีบเข้าไปลงทุนตัวอย่างเช่น สินค้าอาหารทะเลที่ไทยที่มีออเดอร์จำนวนมากที่คุณหมิง จากเดิมที่ส่งทางรถบรรทุกห้องเย็น ใช้เวลา 5-6 วัน เปลี่ยนมาใช้รถไฟใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง รวมถึงส่งสัตว์ทะเลเป็นๆ ก็ได้ อีกอย่างคือทุเรียนที่ส่งหลายแสนตันต่อปี อาจส่งเพิ่มได้เป็นล้านตัน  ธุรกิจควรสำรวจว่าตลาดจีนต้องการสินค้าอะไร และหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจในลาวเพราะจะได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการลงทุนที่สปป.ลาว


1) โลจิสติกส์ เดิมทีต้นทุนโลจิสติกส์ในสปป.ลาวราคาสูง เพราะตลาดเล็ก คนไปลงทุนทำน้อย แต่เมื่อเป็น New Laos ที่ตลาดแข่งขันมากขึ้น โลจิสติกส์ก็จะมีหลายเจ้า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายถูกลง เช่น Flash Express ก็เข้าไปในสปป.ลาวแล้ว และการแข่งขันส่งสินค้าแบบ Door-to-Door ก็จะขยายตัวพร้อมกับการมาของ e-Commerce ที่แพร่หลายในจีนและเติบโตขึ้นมากในวิกฤตโควิด-19

2) สินค้าเกษตร ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของจีนแทนที่สหภาพยุโรป การที่มีรถไฟวิ่งลงถึงสปป.ลาว เป็นการเชื่อมโยงจีน-อาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญ โดยทรัพยากรที่จีนต้องการจากประเทศกลุ่มอาเซียนคืออาหาร แร่ธาตุอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทองแดง เหล็ก สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ EV  ในฐานะไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดสปป.ลาว ก็มีบริษัทใหญ่เข้าไปลงทุน ทั้งค้าปลีก อาหาร คอนซูเมอร์โปรดักส์ พลังงาน และธุรกิจที่น่าสนใจคือ สาธารณสุข เพราะคนสปป.ลาวและต่างชาติที่อยู่ในสปป.ลาว นิยมมาพบแพทย์ไทย


และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สปป.ลาวเริ่มทดลองทำ Crypto Mining เพราะมีแหล่งพลังงานไฮโดร ราคาถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนจำนวนมาก นำไปสู่การพัฒนาสร้างรายได้ได้อีกมาก ในปีนี้ รัฐบาลสปป.ลาว ได้ให้ License 2 กลุ่มบริษัทในการเทรดสกุลเงินคริปโต รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้สกุลเงินดิจิทัลกีบที่ออกโดยธนาคารกลาง  อันจะนำไปสู่โอกาสการเชื่อมโยงเงินดิจิทัลและพัฒนา Fintech ระหว่างไทยกับสปป.ลาว ต่อไปในอนาคต


ที่มา : สัมมนาออนไลน์ “CLMV Focus 2022: Laos Today เส้นทางรถไฟฟ้าจีน-ลาว โอกาสการค้าไทยสู่แดนมังกร” ในวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565