รถไฟฟ้าลาว-จีน สร้าง สปป.ลาว จุดยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมอาเซียนกับจีน

เป็นที่ทราบกันดีว่าเส้นทางรถไฟฟ้าลาว-จีน เป็นเส้นทางเดินรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่าง สปป.ลาว และประเทศจีน สำหรับเส้นทางภายใน สปป.ลาวเป็นโครงการสร้างเส้นทางรถไฟตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 แล้วเสร็จเมื่อปลายปี พ.ศ.2564  ส่วนเส้นทางภายในประเทศจีนเริ่มต้นจากเมืองคุนหมิงสิ้นสุดที่เมืองหมัวฮาน หรือเมืองบ่อหานตั้งอยู่ที่จีนตอนใต้ และเชื่อมกับฝั่ง สปป.ลาวที่เมืองบ่อเต็น ขบวนรถไฟที่วิ่งในเส้นทางนี้ เป็นรถไฟหัวกระสุนที่มีความเร็วปานกลาง เฉลี่ย 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยสามารถวิ่งทางราบด้วยความเร็วสูงสุด 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง และวิ่งบนเขาด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง มี 2 ขบวนด้วยกัน คือขบวนชื่อ “ล้านช้าง” ซึ่งมีความหมายต่อ สปป.ลาว เป็นอย่างมาก เพราะเป็นชื่ออาณาจักรที่เคยเป็นเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของ สปป.ลาว ในอดีต และอีกขบวนชื่อ “แคนลาว” สำหรับสีขบวนรถไฟประกอบไปด้วย สีแดง ขาว น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีธงประจำขาติของ สปป.ลาว นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวลาวเป็นอย่างมาก

lao1

ในวันที่ 2 ธันวาคม คือวันชาติของ สปป.ลาว ได้ทำการเปิดตัวรถไฟฟ้าใน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ซึ่งในช่วงเริ่มแรกเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ จึงให้บริการเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางภายในประเทศ และขนส่งสินค้าเท่านั้น และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงจะให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศ


ในส่วนของฝั่งลาวมีจำนวนทั้งหมด 11 สถานี ซึ่งเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารจำนวน 10 สถานี ได้แก่ เวียงจันทน์ โพนโฮง วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงา เมืองไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น และสถานีเวียงจันทน์ใต้ ใช้เป็นสถานีขนส่งสินค้า สำหรับอัตราค่าบริการระยะทางตั้งแต่สถานีเวียงจันทน์ถึงสถานีบ่อเต็น ค่าตั๋วโดยสารชั้น 1 มีราคา 529,000 กีบ หรือประมาณ 1,510 บาท ตู้โดยสารชั้น 2 มีราคา 333,000 กีบ หรือประมาณ 950 บาท และตู้โดยสารรถไฟความเร็วธรรมดา มีราคา 238,000 กีบ หรือประมาณ 680 บาท (อ้างอิงตามอัตราแลกเปลี่ยน 350 กีบ : 1 บาท)

เส้นทางเดินรถไฟฟ้าลาว-จีน สร้างความคาดหวังให้กับ สปป.ลาวเป็นอย่างมาก เป้าหมายคือเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกของภูมิภาคในอนาคต สามารถเชื่อมจีน ซึ่งมีนครคุนหมิงที่เป็นศูนย์กลางการขายผลไม้และดอกไม้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กับประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน แม้ว่า สปป.ลาวจะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ด้วยการคมนาคมทางบกเส้นทางใหม่ จะช่วยร่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างประเทศได้ อีกทั้ง สปป.ลาวนั้นมีธรรมชาติและวัฒนธรรมที่งดงาม ระหว่างทางมีความสวยงามให้ผู้เดินทางได้เก็บความทรงจำที่น่าประทับใจ กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค

เส้นทางรถไฟฟ้าลาว-จีน จะพลิกโฉมการเดินทางของ สปป.ลาว ให้กลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งอาเซียน เป็นสิ่งที่ชาวลาวต่างจับตามองถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศครั้งยิ่งใหญ่


ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเวียงจันทน์ https://www.scb.co.th/th/corporate-banking/international-network/laos.html


ข้อมูลอ้างอิง

1. Business Watch. “เกาะติดรถไฟลาว-จีน เปิดหวูดพลิกโฉมเศรษฐกิจ”. https://www.youtube.com/watch?v=FTaAk32hLTI (ค้นหาเมื่อ 2/11/64)

2. PPTV 36 HD. “เปิดโฉมรถไฟ “ลาว-จีน” ขบวนล้านช้าง-ขบวนแคนลาว”. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/158373 (ค้นหาเมื่อ 2/11/64)

3. ไทยโพสต์. “ขบวนรถไฟลาว-จีนชื่อ “ล้านช้าง”” . https://www.thaipost.net/main/detail/119452 (ค้นหาเมื่อ 2/11/64)

4. กรุงเทพธุรกิจ. “ข้อมูล “รถไฟจีน-ลาว”/วรากรณ์ สามโกเศศ”. https://www.bangkokbiznews.com/columnist/979571 (ค้นหาเมื่อ 12/1/65)

5. BBC News. “รถไฟจีน-ลาว : 6 เรื่องน่ารู้ของโครงการมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท เชื่อมคุนหมิง-เวียงจันทน์”. https://www.bbc.com/thai/international-59498032 (ค้นหาเมื่อ 19/1/65)