ปลุกทักษะผู้นำโต้กระแสคลื่นยุค New Normal

New Normal คือ ความท้าทายใหม่ที่ผู้นำองค์กรต้องจัดกระบวนทัพให้สามารถก้าวเดินต่อไปได้ องค์กรใดหากผู้นำมีวิสัยทัศน์มองทะลุเห็นโอกาสท่ามกลางความไม่แน่นอน ย่อมเปรียบเสมือนมีเข็มทิศธุรกิจให้เดินถูกที่ไม่หลงทาง ผู้นำองค์กรควรศึกษาเรื่องอะไร มีคุณสมบัติแบบไหนที่จะฝ่าฟันกระแสความเปลี่ยนแปลงแห่งยุค New Normal ได้ ไทยพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดอบรมในหลักสูตร NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 ให้กับผู้ประกอบการ SME เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้มีขีดความสามารถนำธุรกิจโต้กระแส New Normal โดยมี คุณอภิวุฒิ  พิมลแสงสุริยา Founding Partner บริษัท SLINGSHOT มาเล่าถึงเทรนด์โลกและไทยหลังวิกฤตโควิด องค์ประกอบความสำเร็จขององค์กรและผู้นำต้องมีทักษะแบบไหนที่จะพาธุรกิจให้อยู่รอด

ld1

เทรนด์โลก - เทรนด์ไทย หลังโควิดจะเกิดอะไรขึ้น

คุณอภิวุฒิกล่าวว่า หลายคนอาจคิดว่าหลังจากวิกฤติโควิดถ้ามีหากมีวัคซีนแล้วทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ธุรกิจก็จะดำเนินต่อไปตามที่เคยเป็น แต่ในความจริงแล้วไม่มีทางที่จะกลับไปเหมือนเดิม สำหรับคนเป็นผู้บริหารจะต้องรู้ว่าต่อจากนี้ไป อะไรจะเป็น New Normal เพื่อเป็นผู้ชี้นำวิสัยทัศน์และทิศทางขององค์กรต่อไป และเมื่อถามว่าเวลาพูดถึง New Normal จะนึกถึงอะไร บางคนอาจบอกว่าคือ การใส่หน้ากาก ขายของออนไลน์ วิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น การใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานจากคน  Work from Home สรุปแล้ว New Normal คือ อะไรกันแน่


เพื่อไม่ให้สับสนว่าโลกหลังจากโควิดอะไรจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขอนำเครื่องมือหนึ่งตัวหนึ่งมาแนะนำให้กับผู้บริหารได้รู้จักมีชื่อว่า Future Platform ซึ่งเป็นการนำงานวิจัยมาผสมกับ AI เพื่อหาปรากฎการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นงานวิจัยที่มีชีวิตเนื่องจากอัพเดทข้อมูลจากแบบ Realtime งานวิจัยนี้มีชื่อว่า The World Radar after Covid เพื่อเป็นการแสดงปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากโควิดสิ้นสุดลงเรียกว่า Future Radar  ปรากฎการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มีวิธีการดูจากภาพตัวอย่างนี้

1.จุดรอบนอก หมายถึง สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่จะเกิดขึ้นภายในอีก 1-2 ปีข้างหน้า  2.จุดใกล้จุดศูนย์กลางหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรืออีกไม่นานจะเกิดขึ้น โดยจุดแต่ละสีจะมีความหมายที่ต่างกันดังนี้  จุดสีเขียว หมายถึง มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก จุดสีน้ำเงิน หมายถึง มีสัญญาณว่าเกิดขึ้นแต่ปรากฎการณ์นี้อาจหายไปก็ได้ และจุดสีแดง หมายถึง ยังไม่แน่ใจว่าปรากฎการณ์นี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่ง Future Radar นี้ อยากให้ผู้บริหารให้ลองใช้เครื่องมือตัวนี้ดูจะได้ทราบความเปลี่ยนแปลงหรือเทรนด์ของโลกหลังโควิดว่าเป็นอย่างไรมีสิ่งใดที่จะมากระทบต่อธุรกิจของเราจะได้ใช้เป็นแนวทางในการปรับธุรกิจหรือรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้  สามารถเข้าไปดูเทรนด์โลกได้ที่ https://www.futuresplatform.com/


จะเห็นได้ว่าจาก Global Trend หลังโควิดจะมีปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ 50-60 ปรากฎการณ์และมีบางปรากฎการณ์ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเลย ดังนั้นเพื่อเจาะลึกลงไปจึงได้มีการทำการสำรวจผู้บริหารคนไทย 300 คนว่าจาก Global Trend ที่เกิดขึ้นให้เลือก 10 อันดับที่คาดการณ์ว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ประกอบด้วย 10 ปรากฎการณ์ดังนี้

  • อันดับ 10 ภูมิศาสตร์การเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป (Geopolitical Impacts) ความเจริญจะเปลี่ยนจากฝั่งตะวันตกมาสู่ฝั่งตะวันออก เพราะโควิดได้ทำลายเศรษฐกิจอเมริกาเป็นอย่างมาก ประเทศแถบเอเชียจะขึ้นมาเป็นผู้นำ ได้แก่ จีน อินเดียและอินโดนีเซีย และต่อไปเงินหยวนจะกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกมากขึ้น

  • อันดับ 9 การค้าขายและการให้บริการหน้าร้าน (Offline) ยังมีอยู่ (Retail in Brick &Mortar Stores) ร้านออฟไลน์จะปรับรูปแบบเปลี่ยนไปเป็นโชว์รูมเพื่อให้คนที่อยากซื้อของได้มาดูของจริงก่อนแล้วกลับไปซื้อของออนไลน์ เพราะการที่คนได้จับได้ลองโอกาสที่จะซื้อสินค้ามีมากกว่า ดังนั้นการใช้ Omni-Channel จึงเป็นสิ่งจำเป็น

  • อันดับ 8 คนจะสนใจดูแลสุขภาพและอาหารการกินมากยิ่งขึ้น (Nature and Food as Remedies) ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยน คนจะทานอาหารเป็นยามากกว่าทานยาเป็นอาหาร

  • อันดับ 7 ธุรกิจแพลตฟอร์มจะเติบโตแบบก้าวกระโดด (Platform Economy) ทุกวันนี้คนใช้แพลตฟอร์มทุกอย่าง เมื่อใช้งานผ่านแพลตฟอร์มสิ่งที่ได้คือ ข้อมูล (Data) ดังนั้นธุรกิจที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ตัวอย่าง ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งใช้ Data ในการวิเคราะห์ว่าในใบเสร็จที่มีรายการซื้อผ้าอ้อมสำหรับเด็ก 50% จะซื้อเบียร์พ่วงด้วย แต่ขณะที่ใบเสร็จที่มีรายการซื้อเบียร์จะไม่มีรายการซื้อผ้าอ้อมสำหรับเด็กพ่วง เมื่อเห็นแนวโน้มแบบนั้น ทางซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงเอาเบียร์ไปวางขายข้างๆ ผ้าอ้อมสำหรับเด็กซึ่งดูจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ปรากฎว่ากลับเพิ่มยอดขายเบียร์ได้เพิ่มขึ้น 30%  ฉะนั้นการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มจึงเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะว่ามี Data ที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ถ้าหากเราสามารถใช้ประโยชน์จาก Data ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

  • อันดับ 6 การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะเด่นชัดขึ้น (Industrial Revolution 4.0) เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แรงงานคนจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร ตัวอย่าง สนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ใช้หุ่นยนต์แทนคนในการให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยว ญี่ปุ่นใช้หุ่นยนต์เตือนคนให้ใส่หน้ากากและรักษาระยะห่าง ญี่ปุ่นสร้างหุ่นยนต์ Gatebox เป็นเหมือนเพื่อนสำหรับคนโสดหรือคนที่อยู่คนเดียว

  • อันดับ 5 เศรษฐกิจทั่วโลกจะถดถอยอย่างรุนแรง (Collapse of World Economy) จากงานวิจัยคาดว่าหลังโควิดจบลงวิกฤตเศรษฐกิจจะตามมาเพราะรัฐบาลต้องรับภาระจากการป้องกันและรักษาโควิดให้กับประชาชน รวมถึงการกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อมาเยียวยาในช่วงโควิด

  • อันดับ 4 ความตื่นตัวในการเตรียมพร้อมจะมีสูงมาก (Need for the Culture for Preparation) จากสถานการณ์โควิดทำให้ทุกองค์กรตื่นตัวกับการทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan:BCP) ซึ่งเป็นแผนที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักหากเจอกับสถานการณ์ไม่ปกติ ทั้งจากภายนอกหรือภายใน

  • อันดับ 3 การเจอกันแบบไม่เจอตัวจะมีมากขึ้น (Telepresence) การทำธุรกิจแบบไม่ต้องเจอกันจะมีมากขึ้น เช่น หาหมอออนไลน์ ตรวจสุขภาพออนไลน์ ช่างออนไลน์ เป็นต้น

  • อันดับ 2 การซื้อขายออนไลน์จะขยายตัวแบบเอกซ์โพเนนเซียล (Online Stores) การซื้อขายออนไลน์จะเติบโตแบบก้าวกระโดด

  • อันดับ 1 รูปแบบการสอนและการเรียนรู้จะเปลี่ยนไป (Teaching & Learning 2.0) เมื่อก่อนการเรียนรู้ครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต แต่ปัจจุบันชุดความรู้จะสั้นลง ความรู้จะหมดอายุทันทีเมื่อคุณเรียนจบเพราะการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ในอนาคตโรงเรียนจะไม่มีครูเพราะเด็กสามารถเรียนรู้เองได้จากอินเทอร์เน็ต ครูจะเปลี่ยนจากผู้สอนมาเป็น Facilitator หรือคนกลางที่ช่วยทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ การคิดเป็นระบบ ให้มีอิสระทางความคิดและสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกันได้อย่างลึกซึ้ง

ทั้ง 10 ปรากฎการณ์ที่กล่าวมานี้ คือ เทรนด์ที่ผู้บริหารองค์กรในไทยโหวตเลือกแล้วว่าน่าจะเป็นปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งผู้บริหารธุรกิจจะต้องมองเห็นเทรนด์ดังกล่าวให้ออกเพื่อที่จะได้ใช้เป็นแนวทางในการวางกลยุทธ์และสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้ และแต่ละปรากฎการณ์นั้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจตามอุตสาหกรรมมากน้อยแตกต่างกันออกไป

เผยปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเคยเฟื่องฟูกลับต้องล้มเหลว

คุณอภิวุฒิกล่าวต่ออีกว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขอยกตัวอย่างบริษัทมือถือหลายแห่งได้ปิดตัวลง ถูกควบรวมกิจการ ไม่ว่าจะเป็น Motorola, Nokia, NEC, Ericson และ Panasonic ลองมาคิดกันดูว่าอะไรที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องล้มเหลว คำตอบคือ 1.ปัจจัยภายใน ได้แก่ นโยบาย,วิสัยทัศน์,วัฒนธรรมองค์กร เป็นต้น และ 2.ปัจจัยภายนอก ได้แก่ คู่แข่ง, พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง, สภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยมีผลทำให้ธุรกิจล้มเหลวได้เช่นกันแต่ทว่าปัจจัยภายในกลับมีผลกระทบมากกว่าปัจจัยภายนอกเพราะเหตุใด

7 ปัจจัยองค์ประกอบแห่งความสำเร็จขององค์กร

อยากให้ลองสังเกตว่าทำไมเวลาที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกจึงมีเพียงบางองค์กรเท่านั้นที่อยู่รอดและบางองค์กรที่ต้องร่วงหายไป นั่นหมายความว่าปัจจัยภายในมีผลกระทบต่อการทำให้ธุรกิจอยู่รอดหรือไม่รอดมากกว่าปัจจัยภายนอก จึงขอแนะนำ  7 ปัจจัยภายในที่เป็นองค์ประกอบที่จะนำความสำเร็จมาสู่องค์กรมีดังนี้

1. มีผู้นำระดับ 5 (Leader Level 5) หมายถึง ธุรกิจต้องมีผู้นำระดับ 5 จึงจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ แล้วผู้นำระดับ 5 คืออะไร   ผู้นำระดับ 5 จะต้องมี 3 คุณสมบัติคือ ก-ก-น หมายถึง  เก่ง-กล้า-น่ารัก  เก่ง คือ ทำงานเก่ง กล้า คือ กล้าเปลี่ยนแปลงทำอะไรใหม่ๆ และน่ารัก คือ ทำตัวน่ารักกับคนรอบข้าง  โดยผู้นำมี 5 ระดับดังนี้

  • ระดับ 5 People Leader - ผู้นำที่เก่งทั้งคนและเก่งทั้งงาน
  • ระดับ 4 Performance Management -ผู้นำสร้างผลงานดีแต่ทีมไม่ Happy
  • ระดับ 3 Executor - ผู้นำแบบผู้ปฏิบัติการ ทำได้หมดแต่ไม่มีไอเดีย
  • ระดับ 2 Team Player – ผู้นำที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม ทำทุกอย่างเหมือนพนักงาน
  • ระดับ 1 Solo - ผู้นำเก่งคนเดียว หากขาดผู้นำไปธุรกิจจะหยุดชะงัก

2. มีพนักงานที่ใช่ (Right People) หมายถึง ไม่ใช่พนักงานทุกคนจะเป็นทรัพยากรที่มีค่า แต่พนักงานที่ใช่เท่านั้นที่เป็นทรัพยากรที่มีค่าขององค์กร ในอดีตองค์กรจะดูยอด Turnover ว่าสูงคือไม่ดี แต่ปัจจุบันจะดูจาก Regret Loss หรือความสูญเสียที่น่าเสียใจถ้ามีมากจะถือว่าไม่ดี เช่น แม้ว่าองค์กรจะมียอด Turnover สูงถึง 30% แต่ถ้าหากในยอดนั้นมี Regret loss แค่ 2% ก็นับว่าดี

3. มีโฟกัส (Focus) หมายถึง ธุรกิจต้องมีโฟกัสเพราะว่ามีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ไม่ควรทำหลายอย่างต้องรู้จักจุดแข็งของตัวเอง ธุรกิจต้องรู้ว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เช่น Netflix ทำเฉพาะหนัง,ซีรีส์,สารคดี แต่ไม่ทำข่าวและกีฬา เป็นต้น

4. มีกลไกในการรับข้อมูลย้อนกลับ (Feedback Mechanism) หมายถึง ธุรกิจต้องมีกลไกเพื่อให้ลูกค้าและพนักงาน Feedback มาถึงผู้บริหารได้ โดยกลไกไม่ต้องซับซ้อนหรือลงทุนอะไรมากมาย เช่น สนามกอล์ฟ มีกลไก Feedback การให้บริการของแคทดี้ โดยให้นักกอล์ฟเอาป้ายเบอร์แคทดี้คืนเวลาออกจากสนามโดยให้หย่อนลงในกระป๋องมีให้เลือก 3 กระป๋อง 1.หน้ายิ้ม 2.หน้าเฉย 3.หน้าเบ้ แม้ว่าจะเป็นวิธีการธรรมดาแต่ก็ทำให้ผู้บริหารสามารถรับรู้ Feedback จากลูกค้าได้

5. มีวัฒนธรรมแห่งความมีวินัย (Culture of Discipline) หมายถึง ธุรกิจมักจะเสียเวลาไปกับเรื่องที่ตกลงกันแล้วแต่ไม่ทำหรือเรื่องที่ไม่เห็นด้วยในห้องประชุมแล้วกลับไม่พูด ฉะนั้นธุรกิจควรมีการสร้างวัฒนธรรมความมีวินัยภายในองค์กร ซึ่งวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีค่านิยมที่ทำกันเป็นระยะเวลานานๆ จากพฤติกรรมของคนหลายๆ คนในองค์กรที่ทำกัน

6. มีเทคโนโลยีเพื่อเร่งความสำเร็จ (Technology to Accelerate Success) หมายถึง ธุรกิจต้องหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้นไวขึ้น

7. มีความปราดเปรียว (Agility) หมายถึง ธุรกิจต้องพร้อมรับกับการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา


จะเห็นได้ว่าผู้นำหรือผู้บริหารธุรกิจในยุค New Normal ต้องมีวิสัยทัศน์พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ติดตามข่าวสารทันต่อเหตุการณ์ เพื่อตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่พลิกผันคาดเดาได้ยาก รวมถึงต้องเสริมปัจจัยภายในให้แข็งแกร่งเพื่อสร้างองค์ประกอบแห่งความสำเร็จให้กับองค์กรอย่างยั่งยืน และสามารถเผชิญกับคลื่น New Normal ที่ไม่มีวันจะกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป


หลักสูตร NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 มีระยะเวลา 10 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สนใจสามารถติดตามสรุปรายละเอียดเนื้อหาการอบรมได้ที่ www.scb.co.th และ https://scbsme.scb.co.th/


ที่มา : หลักสูตร NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 โดยคุณอภิวุฒิ  พิมลแสงสุริยา Founding Partner บริษัท SLINGSHOT  วันที่ 8 ธันวาคม 2563