จับจุดเหมือนจุดต่าง เอเชีย VS ตะวันตก ส่งสตาร์ทอัพขึ้นแท่นยูนิคอร์น

รู้หรือไม่ว่าในปี 2563 แม้ว่าโลกของการลงทุนจะฟุบลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ความร้อนแรงของธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น หรือที่มีมูลค่ากิจการไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งยังคงเพิ่มจำนวนทั่วโลกจนแตะ 500 ราย หรือเพิ่มเท่าตัวในสองปีที่ผ่านมา 70% เป็นธุรกิจจากประเทศสหรัฐอเมริกายอดมงกุฎจากโลกตะวันตก ที่จำนวน 242 ราย และจีน ที่เป็นหัวหอกฝั่งตะวันออก ตามมาที่ 119 ราย เป็นที่น่าสนใจว่า แม้ตัวเลขฝั่งเอเชียอาจทิ้งห่าง แต่หากสำรวจประเทศที่ให้กำเนิดยูนิคอร์น 10 อันดับแรก ฝั่งเอเชียก็ไม่น้อยหน้า เบียดตัวเองเข้ามาได้ถึง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย


เมื่อส่องไฟไปที่ยูนิคอร์นโลกตะวันตกและเอเชีย กลุ่มที่ขยายตัวสูงเหมือนกันคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอี-คอมเมิร์ซ, ฟินเทค หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านการเงิน และ เฮลธ์ เทค หรือธุรกิจสุขภาพที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะหมวดหมู่หลังสุดที่ได้อานิสงส์จากกระแสตื่นตัวด้านสุขภาพในปีที่ผ่านมา


ทว่าหากเจาะลึกเบื้องหลัง ปัจจัยที่เกื้อหนุนของทั้งสองซีกโลกนั้นแตกต่างกันออกไป

asia-vs-western-unicorn-startup-02

ในปี 2563 ท่ามกลางยูนิคอร์นเกิดใหม่ทั้งหมด ฝั่งตะวันตกจะมี “เทค สตาร์ทอัพ” ที่เน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในขับเคลื่อนจนก้าวสู่ยูนิคอร์นได้มากกว่าในปี 2563 โดยเฉพาะการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เช่น Gong จากอเมริกา ซึ่งประกาศตัวเป็น Revenue Intelligence หรือกลไกสร้างรายได้อัจฉริยะ สำหรับทีมขายแบบ B2B หรือธุรกิจต่อธุรกิจ ชูธงใช้ AI ช่วยวิเคราะห์อีเมล บทสนทนาระหว่างการเจรจาซื้อขาย และนำมาสู่การนำเสนอสินค้าได้ตรงเป้าและปิดการขายได้ดั่งใจ เช่นเดียวกับ o9 Solutions จากอเมริกาเช่นกัน ที่ใช้ AI เป็นหัวใจหลักในการให้บริการแพลตฟอร์มวางแผนธุรกิจ อาทิ การสร้างโมเดล, การวิเคราะห์ดาต้า, คำนวณค่าความน่าจะเป็นด้วยอัลกอริธึ่ม เป็นต้น


การครองความเป็นผู้นำของโลกตะวันตก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการระดมทุนที่หลั่งไหลร้อนแรงมากกว่า ธุรกิจในซิลลิคอนวัลเลย์ หรือในซานฟรานซิสโก ที่เป็นเสมือนเมกะของสตาร์ทอัพ ด้วยธรรมชาติของตลาดอเมริกาที่ไร้ปัญหาความหลากหลายด้านสังคมและวัฒนธรรมสูง ต่างจากยุโรป ทำให้สตาร์ทอัพสามารถมองถึงเป้าหมายระยะยาวใน Growth Stage มุ่ง “ขยายสเกล” ได้รวดเร็วกว่า เพราะไม่ต้องอาศัยการปรับตัวใหม่ทุกครั้งเมื่อกระโจนเข้าสู่ตลาดในประเทศใหม่ๆ นอกจากนั้น ด้วยทุนที่อุ่นหนาฝาคั่งกว่า อเมริกาจึงดึงดูดนักพัฒนา (Developer) ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จากทั่วโลกได้มากที่สุด และนักลงทุนพร้อมทุ่มไม่อั้นใน Growth Stage เพื่อช่วยธุรกิจสร้างฐานลูกค้า สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง


แม้หลายบริษัทที่ทำรายได้สูง ยังมีอัตราการเผาผลาญเงิน (Cash Burning) สูงลิบจนทำกำไรไม่ได้ แต่เส้นทางของยูนิคอร์นที่โตเต็มวัยแล้ว มองเป้าหมายเหนือกว่านั้น คือการ Exit หรือจบการศึกษาไปสู่การเป็นบริษัทมหาชน หรือขายกิจการให้ธุรกิจอื่นๆ สร้างกำไรคืนนักลงทุนได้มหาศาล ทว่าข้อเสียของสตาร์ทอัพฝั่งนี้ก็มีเช่นกัน เพราะเมื่อเล่นกับความเสี่ยงสูง อัตราความล้มเหลวก็สูงเป็นเงาตามตัว เรียกว่า ถ้าไม่ Go Big ก็ Go Home ได้เลย

ในทางกลับกัน เมื่อดูปัจจัยหนุนธุรกิจยูนิคอร์นอย่างยุโรป ยังมีความแตกต่างที่ชัดเจน แม้ว่ายุโรปจะมีสตาร์ทอัพ 1 พันล้านเหรียญประดับวงการ ทว่าจำนวนกลับน้อยกว่าเอเชียที่ 14 ต่อ 33 รายในปี 2562 เพราะระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ของฝั่งทวีปนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเท่ากับอีกฟากมหาสมุทร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องความหลากหลายของตลาดแต่ละประเทศ ที่แทบต้องไปนับหนึ่งใหม่ตลอดเวลา


บริษัท McKinsey & Company ให้ข้อมูลว่าธรรมชาติของสตาร์ทอัพยุโรปแข่งขันสูง เพราะทุนที่จะให้ในขั้น Growth Stage หรือ ในซีรีส์ระดับขยายสเกลนั้น ไม่ได้อู้ฟู่เท่ากับสตาร์ทอัพฝั่งอเมริกา ดังนั้น หัวใจหลักของสตาร์ทอัพยุโรปคือ “ต้องหารายได้” ตั้งแต่เริ่มคลาน เพื่อให้อยู่รอดในระยะยาวด้วยตัวเอง


เมื่อหันกลับมามองฝั่งเอเชีย จะเห็นได้ว่าหลายประเทศที่ผลิตยูนิคอร์นประดับวงการ ค่อนข้างเดินตามรอยสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ เริ่มจาก “จีน” และ “อินเดีย” ที่มีฐานประชากรขนาดใหญ่แบบพึ่งพาตัวเองได้ และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีการระดมทุนพร้อมในอัตราสูง หรือกระทั่ง “อินโดนีเซีย” ที่ผลิตยูนิคอร์นระดับภูมิภาคอย่าง Gojek หรือ Traveloka ก็เข้มแข็งในประเทศก่อน จากฐานประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 267 ล้านคน แต่จุดอ่อนที่เอเชียพบเหมือนยุโรปคือ การขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และทำให้หลายประเทศต้องเร่งโปรแกรมบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาให้ทันกับกระแสการลงทุน ที่เริ่มจะโน้มเอียงมายังเอเชียมากขึ้น


ผลการวิจัยของ PwC ระบุว่า เงินทุนที่สนับสนุนสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตก้าวกระโดด และการระดมทุนนับตั้งแต่ปี 2558-2561 นั้น 65% มาอยู่ที่สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคเฉพาะตัวของสตาร์ทอัพฝั่งเอเชีย คือ กฎหมายและกฎระเบียบ ที่หลายครั้งไม่เอื้อให้แนวคิดใหม่ๆ ได้หยั่งรากเติบโต หรือต้องใช้เวลานานเกินไปในการสร้างการยอมรับจากภาครัฐให้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะเมื่อมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินที่ทั่วโลกไปไกลมากแล้ว


นอกจากนั้นยังมี “ความเปราะบาง” เรื่องการเมืองในบางประเทศที่รัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงกิจการได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีธุรกิจฟินเทคกลุ่ม Ant Group ของแจ็ค หม่า ที่กำลังถูกรัฐบาลจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งที่เตรียมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังต้องเลื่อนออกไปก่อน ดังนั้น ไม่ว่าสตาร์ทอัพจะหมายมั่นปั้นมือจะก้าวสู่ยูนิคอร์น จะมีทุนพร้อมขนาดไหน การเข้าใจตลาดของตัวเองและหาหนทางปราบเซียนขจัดอุปสรรค ดูทางหนีทีไล่ไว้แต่แรก ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

ผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อเป็นทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ คลิกดู รายละเอียด และ สมัครขอสินเชื่อได้ที่นี่

ที่มา
https://asia.nikkei.com/Business/Startups/Unicorns-surge-to-500-in-number-as-US-and-China-account-for-70
https://www.startupgrind.com/blog/the-3-key-differences-between-european-vs-us-startups/
https://www.mckinsey.com/industries/technology-media-and-telecommunications/our-insights/europes-start-up-ecosystem-heating-up-but-still-facing-challenges
https://www.embroker.com/blog/unicorn-startups/
https://www.pwc.com/my/en/assets/publications/2020/pwc-have-unicorns-reached-their-tipping-point.pdf