Health at Home สตาร์ทอัพผู้ขับเคลื่อน Future of Health Care

หมออายุรกรรม ผู้เป็นนักเขียนคอลัมน์ที่ใช้นามปากกาว่า “เด็กผู้ชายที่ไม่เตะบอลตอนกลางวัน” ได้เล่าที่มาของนามปากกาให้ฟังว่า ในสมัยเรียนมัธยม เพื่อนๆ มักจะชวนกันไปเตะบอลช่วงพักกลางวัน ตัวเขาเองก็อยากลงไปเตะบอลกับเพื่อน แต่เพราะเล่นฟุตบอลไม่เก่ง จึงได้แต่รอไปเรื่อยๆ ไม่ได้ลงสนามสักที จนกระทั่งจบมัธยม 6  ชีวิตหลังจากก้าวออกจากรั้วโรงเรียนไป ไม่มีการเล่นเตะบอลตอนกลางวันกันแล้ว เขาจึงใช้นามปากกานี้เตือนตัวเองในสิ่งที่ครั้งหนึ่งตัวเขาเคยอยากทำ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ทำ ปล่อยให้ช่วงเวลาที่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตผ่านเลยไป


มาวันนี้ นายแพทย์คณพล ภูมิรัตนประพิณ หรือ หมอตั้ม เจ้าของนามปากกาที่กล่าวถึง เลือกที่จะไม่รีรอในการทำสิ่งที่ตนเองอยากจะทำ เขาผันตัวเองมาเป็นสตาร์ทอัพ ทั้งที่การเป็นหมอในโรงพยาบาลก็ดูมั่นคงอยู่แล้ว ไม่ต้องท้าทายตัวเองมากก็ได้ แต่เขาก็ตัดสินใจทำตามสิ่งที่หัวใจเรียกร้องเมื่อโอกาสมาถึง เป็นการตัดสินใจในจังหวะที่เหมาะ และเวลาที่ใช่ ทำให้วันนี้มีสตาร์ทอัพชื่อ “Health at Home” เข้ามาช่วยขับเคลื่อน Future of Health Care ของประเทศให้มีทางเลือกมากขึ้น

health-at-home-1686528847

จุดเริ่มต้นของ Health at Home

หมอตั้มชอบการดูแลคนไข้แบบองค์รวม พอเรียนจบด้านอายุรกรรมจึงมองหาสาขาเฉพาะทางแบบภาพรวม พอดีช่วงนั้นมีสาขาใหม่เกิดขึ้นคือ “เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ” ซึ่งสอดรับกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงมีทุนให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอเมริกาด้วย หมอตั้มจึงตัดสินใจเลือกเรียนเฉพาะทางในสาขานี้ ซึ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พอเรียนจบก็ต้องไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ในโรงพยาบาลชุมชน ที่นั่นหมอจะเป็นฝ่ายออกไปเยี่ยมคนไข้ถึงบ้าน ทำให้เห็นความเป็นอยู่ของคนไข้ รู้จักและเข้าใจคนไข้มากขึ้น ซึ่งประสบการณ์ในการเยี่ยมผู้ป่วยถึงบ้านนี้ ได้จุดประกายความคิดเรื่องการดูแลผู้ป่วยจากที่บ้านขึ้นในใจของหมอตั้ม ประกอบกับในช่วงที่ไปอเมริกา หมอตั้มมีโอกาสไปเยี่ยมคนไข้ตามบ้าน ได้เห็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไฮเทค แพทย์และพยาบาลสามารถตรวจรักษาคนไข้ได้เหมือนกับอยู่ที่โรงพยาบาล  สามารถมอนิเตอร์ข้อมูลทุกอย่างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เหมือนคนไข้ Admit อยู่ที่บ้าน มีพยาบาลมาเยี่ยมทุกวันจนกว่าจะหาย ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ Nursing Home ซึ่งดีต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก


หลังจากที่หมอตั้มกลับมาเมืองไทยได้สักพัก เทรนด์สตาร์ทอัพเริ่มมาแรง มีการระดมทุนเกิดขึ้นมากมาย หมอตั้มในวัย 32 ปีในตอนนั้น และกำลังจะมีลูกคนแรก เขาจึงคิดท้าทายตัวเองด้วยการเข้าสู่สนามสตาร์ทอัพ เพราะหากไม่ลอง ก็จะมีเรื่องค้างคาใจ หากผ่านโมเมนต์นี้ไป อาจจะไม่ได้ทำเลยก็ได้ และถ้าเขาอายุมากขึ้น ก็ไม่อยากจะเล่าให้ลูกฟังในสิ่งที่เขาได้แต่คิด แต่ไม่ได้ลงมือทำ แต่ถ้าทำสำเร็จ เขาจะดูเท่มากในสายตาของลูก แต่หากทำแล้วไม่สำเร็จ ก็ยังได้ประสบการณ์สนุกๆ  มาเล่าให้ลูกหลานฟัง


หมอตั้มตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางธุรกิจ กลายเป็นคุณหมอสตาร์ทอัพ ผู้มีความฝันอยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดีอยู่ที่บ้าน (Healthy at Home) อยากทำให้บริการทางการแพทย์หลายๆ อย่าง สามารถทำได้จากที่บ้าน หรือป้องกันได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล แม้ความฝันนี้จะต้องใช้เวลาก็ตาม และในที่สุด ในปี 2015 เขาก็ก่อตั้ง บริษัท Health at Home ขึ้น ในเดือนเดียวกับที่ลูกของเขาลืมตาดูโลก หากมีใครถามว่าบริษัทก่อตั้งมานานเท่าไร หมอตั้มก็สามารถตอบตามอายุของลูกได้ในทันที 

กลเม็ดเริ่มต้นธุรกิจ พิชิตความท้าทาย

ความฝันที่อยากให้บริการทางการแพทย์แบบยกโรงพยาบาลมาไว้ที่บ้านคือภาพใหญ่ในความคิดของหมอตั้ม เขาเริ่มจากการเช็กความต้องการของตลาดด้วยการทำเว็บไซต์ขึ้นมาหนึ่งหน้า จดโดเมนในชื่อ healthathome.in.th บนเว็บไซต์มีข้อความสั้นๆ สำหรับให้ผู้สนใจหาผู้ดูแลคลิกเพื่อติดต่อ จากนั้นซื้อโฆษณาในกูเกิ้ลประมาณสามสี่ร้อยบาทเพื่อดูว่า มีคนสนใจคลิกเข้ามาหรือไม่ คลิกเข้ามาแล้วติดต่อมาหรือไม่ เมื่อพบว่ามีความต้องการเกิดขึ้น จึงเริ่มหาผู้ดูแล โดยเพื่อนหมอตั้มที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท รู้จักพี่คนหนึ่งที่นิสัยดี เคยดูแลญาติที่เพิ่งเสียไป หมอตั้มจึงชวนมาทำงานด้วยกัน พอมีคนติดต่อมาก็ให้พี่คนนี้ไปดูแล ในช่วงนั้นยังไม่มีระบบ จึงเริ่มจากการให้ลูกค้ากรอกข้อมูลสุขภาพผ่าน Google Form ทำรายงานส่งให้ลูกค้าด้วยโปรแกรม Photoshop หากลูกค้ามีข้อสงสัยก็สามารถปรึกษาได้ จ่ายเงินด้วยวิธีโอนเงินแบบธรรมดา จบเคสแรกทุกฝ่ายแฮปปี้ จึงเริ่มหาผู้ดูแลมากขึ้น พอมีผู้ดูแลมากขึ้น ก็มาดูองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การสร้างทีมงาน การทำระบบงาน นอกจากนี้หมอตั้มยังได้เข้าร่วม “dtac accelerator” ที่เป็นโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยในช่วงนั้นด้วย ทำให้ได้เงินทุนมาพัฒนาแพลตฟอร์ม และเว็บไซต์ เป็นการเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจากสิ่งที่ทำได้ก่อน


ปัจจุบันเพลตฟอร์มของ Health at Home ถูกพัฒนาให้ใช้งานผ่านทาง LINE Application ผู้ดูแลและผู้ขอรับบริการ สามารถเลือกงานและบริการได้ตามความต้องการของตนเอง มีทั้งแบบไป-กลับ และพักกับคนไข้ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล สำหรับคนไข้ที่มีข้อจำกัดในการพักที่บ้าน เช่น อาศัยอยู่ในคอนโดที่มีพื้นที่จำกัด หรือมีปัญหาความรุนแรงของผู้ป่วยกับคนในครอบครัว ก็จะมี Care Center ที่ออกแบบให้มีบรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน มารองรับลูกค้ากลุ่มนี้

“ผู้ดูแล” อาชีพที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์

อาชีพผู้ดูแลถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นสำหรับสังคมไทย หมอตั้มจึงอยากให้คนที่ทำอาชีพนี้เกิดความภูมิใจ เมื่อเกิดความภูมิใจ ก็จะทำงานได้ดี เขาจึงเรียกผู้ดูแลว่า “Care Pro” โดยการจะเป็นผู้ดูแล หรือ Care Pro ที่ Health at Home ได้นั้น ต้องผ่านการสัมภาษณ์เพื่อดูทัศนคติก่อน จากนั้นต้องเข้าอบรบทักษะทางการพยาบาล (Hard Skill)  ทักษะในการสื่อสารและเข้าใจผู้ป่วย (Soft Skill)  ควบคู่กันไป


งานของผู้ดูแลครอบคลุมถึงการทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น การดูแลผู้ป่วยติดเตียง ทั้งการพลิกตัว ป้องกันแผลกดทับ การอาบน้ำเช็ดตัวบนเตียง และการทำความสะอาดห้องของผู้ป่วย มีรูปแบบการทำงานเป็นทีม สามารถส่งต่อกะ หรือทำงานแทนกันได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีความเข้าอกเข้าใจคนไข้ ดูแลเหมือนคนในครอบครัว หากผู้ดูแลไม่มีมาตรฐานเพียงพอ เช่น ไม่รับผิดชอบต่องาน เคลื่อนย้ายผู้ป่วยผิดวิธี หรือให้ยาผิด ก็สามารถสร้างความเสียหายทั้งกับผู้ป่วย ตัวผู้ดูแลเอง รวมทั้งบริษัทได้ จึงต้องใช้บุคลากรที่มีคุณภาพสูง และมีทัศนคติที่ดีต่องาน

โอกาสจากสถานการณ์ โควิด-19

ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทย หลายองค์กรให้พนักงาน Work from Home รวมถึงเจ้าของกิจการหลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราว ความต้องการผู้ดูแลระยะสั้นจึงลดลง แต่ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องการผู้ดูแลระยะยาว ปัญหาผู้ดูแลไม่เพียงพอจึงเกิดขึ้น เนื่องจากหลายคนอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถเดินทางมาอบรมได้ จึงต้องมีการสัมภาษณ์ออนไลน์ และฝึกอบรมผ่านทางออนไลน์แทน เพื่อให้ผู้ดูแลที่เข้ามาใหม่สามารถเรียนรู้งานได้ก่อน ส่วนผู้ดูแลที่อยากทบทวนทักษะก็จะมีคอร์สให้เข้ามาเรียนเพิ่มเติม มีทั้งคอร์สที่หมอตั้มสอนเอง และคอร์สที่สอนโดยทีมพยาบาล


สำหรับการเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน ถือเป็นโอกาสได้ทดลองนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้ง Virtual Visits และ Telemedicine ซึ่งครอบครัวคนไข้พอจะมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว ทำให้ทีมแพทย์และพยาบาลสามารถให้คำแนะนำและติดตามอาการคนไข้ได้ ส่วนการเยี่ยมเยียนผู้ดูแล ก็เปลี่ยนมาใช้ Video Call แทน นอกจากนี้ยังได้ทดลองนำออนไลน์มา Collaborate ในองค์กรมากขึ้น ทำให้ทีมงานสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวขึ้น

เตรียมพร้อมรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

แม้สถานการณ์โควิดในบ้านเราจะดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่คนไทยต้องใส่ใจให้มาก ซึ่งหมอตั้มได้ให้ข้อแนะนำเพื่อเตรียมเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีเงิน มีเวลา มีแรง ไว้สามข้อ ดังนี้

  1. ลงทุนเรื่องเงิน: วางแผนเตรียมเงินหลังเกษียณให้พอใช้ไปตลอดรอดฝั่ง

  2. ลงทุนเรื่องสุขภาพ: ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยิ่งลงทุนก่อนยิ่งได้เปรียบ เพราะสุขภาพดีก็ต้องอาศัยการสะสมต้นทุน ในวันที่เกษียณจะได้มีแรงไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมที่ชอบ

  3. ลงทุนด้านสังคม: วัยเกษียณจะเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า มีความหมาย ถ้าเกษียณแล้วมีสังคม ได้นัดกินข้าวกับเพื่อน ได้ถามไถ่ทุกข์สุขกัน ใครที่มีเพื่อน หมอตั้มจึงแนะนำให้ติดต่อกันไว้ ส่วนคู่ชีวิตก็ต้องดูแลความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน


จากประสบการณ์คลุกคลีกับผู้สูงอายุมามาก สิ่งที่หมอตั้มอยากให้ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีลูกหลาน ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าก็คือ “ลองวางแผนอนาคตเวลาเกิดปัญหากับตัวเอง” หากเจ็บป่วยขึ้นมา อยากให้ลูกหลานทำอย่างไร ทั้งเรื่องแนวทางการรักษาพยาบาล การจัดการเรื่องการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดรอยร้าวในครอบครัวจากการไม่ได้วางแผน หรือพูดคุยกันให้ชัดเจนก่อน

 

เคล็ดไม่ลับสู่ความสำเร็จของสตาร์ทอัพ

การมาเป็นสตาร์ทอัพก็เหมือนวิ่งมาราธอน คนสมัครวิ่งมีน้อย แต่ทุกคนอยากเข้าเส้นชัย ซึ่งตอนวิ่งเข้าเส้นชัยนั้นต้องอาศัยแรงอึดอีกเฮือก ไม่ต่างจากการทำสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ

 

  • Start: เริ่มทำทันที อย่ารีรอ แต่เริ่มให้เล็ก ค่อยเป็นค่อยไป
  • Stop: ตัดสิ่งไม่จำเป็นออก เอาเวลามาโฟกัสกับงาน และเป้าหมาย
  • Continue: ทำต่อไป อย่าหยุดเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็ต้องหันกลับมาทบทวนสิ่งที่ทำ และนำมาพัฒนา


การเป็นหมอผู้สูงอายุ เหมือนการได้เข้าไปอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตร่วมกับคนไข้ ทำให้หมอตั้มพบว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญคือ “ความสัมพันธ์ที่มีคุณค่า” เพราะความหมายของชีวิต สุดท้ายแล้วก็คือการได้อยู่กับคนที่รัก ได้เห็นคนที่รักมีความสุข ซึ่งหมอตั้มได้นำเรื่องของการรักษาคุณภาพของความสัมพันธ์มาปรับใช้กับตนเองทั้งในชีวิตครอบครัวและการทำงาน พยายามดำเนินชีวิตเพื่อให้จบได้ “Happy Ending” เหมือนประสบการณ์ที่ตัวเขาได้พบเห็นมา ชีวิตในช่วงเวลาสุดท้ายไม่ได้ซับซ้อน และไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ดังนั้นอย่าลืมให้ความสำคัญกับคนที่มีความหมายกับเราในระหว่างที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่


ที่มา: SCB TV ซีรีส์ "START NEVER GIVE UP" ตอน “Health at Home” โดยนายแพทย์คณพล ภูมิรัตนประพิณ วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2563