ข้อกฎหมายที่ Start up ควรรู้ก่อนทำธุรกิจ

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องกฎหมาย ลองมาทำความรู้จักความหมายของคำว่า “สตาร์ทอัพ” ก่อน


สตาร์ทอัพ (Start up) คือ ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่พร้อมใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ธุรกิจเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดและสามารถสร้างรายได้จำนวนมาก โดยมีกูรูให้คำนิยามเกี่ยวกับสตาร์ทอัพไว้ เช่น Steve Blank บิดาแห่งสตาร์ทอัพให้คำนิยามว่า “สตาร์ทอัพ คือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้และเติบโตแบบก้าวกระโดด” ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ โดยส่วนใหญ่มักมีจุดเริ่มต้นจากไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เห็นช่องทางหรือโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อน เช่น ธุรกิจทำคอนเทนต์ ธุรกิจ YouTuber และการรีวิวสินค้า ธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่ในอุตสาหกรรม Creative Economy ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ระดับ 10% ของ GDP ขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 8% ของ GDP หรือมากกว่า 1 ล้านล้านบาท และที่สำคัญกว่านั้นธุรกิจสตาร์ทอัพจะรอดหรือจะร่วงพิจารณาจากขนาดของไอเดียและกลยุทธ์เป็นสำคัญ ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพควรคำนึงถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้


กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดในเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของนิติบุคคลประเภทต่าง ๆ โดยผลของกฎหมายแล้ว “นิติบุคคล” ถือได้ว่าเป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่มีขึ้นได้ด้วยอำนาจของกฎหมาย นิติบุคคลมีหลายประเภท เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือ “บริษัทจำกัด” ซึ่งเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการทั้ง SMEs และสตาร์ทอัพ

กฎหมายแรงงาน

กฎหมายแรงงานบัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง องค์กรของนายจ้าง และองค์กรของลูกจ้าง รวมทั้งมาตรการที่กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรดังกล่าวปฏิบัติต่อกัน เพื่อให้การจ้างงาน การใช้งาน และการประกอบกิจการและความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อได้สัมภาษณ์คนที่เข้ามาสมัครงานแล้วเห็นว่าเหมาะสมที่จะมาทำงานให้กับเรา ก็จะเป็นขั้นตอนการจ้างงาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการเซ็นสัญญาจ้างแรงงาน และเมื่อเซ็นสัญญาเรียบร้อยต่อมาก็จะเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า “การทดลองงาน” ซึ่งการทดลองงานนั้น โดยมากจะกำหนดกันประมาณไม่เกิน 4 เดือน ทั้งนี้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยกรณีการเลิกจ้างโดยมิชอบ โดยกำหนดจำนวนเงินชดเชยเอาไว้ตามระยะเวลาที่ลูกจ้างได้ทำงานมาแล้วเป็นระยะ ๆ ไป โดยระยะแรกได้แก่ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน


การเลิกจ้าง
หากเป็นจากฝั่งลูกจ้างก็จะเป็นการลาออก หรือถ้าเป็นจากฝั่งนายจ้างก็เป็นการเลิกจ้าง ซึ่งการเลิกจ้างหรือการไล่ออกตามกฎหมายมี 2 แบบ คือ การเลิกจ้างแบบมีเหตุอันควรและการเลิกจ้างแบบไม่มีเหตุอันควร โดยที่การเลิกจ้างแบบไม่มีเหตุอันควรนั้นจะเป็นผลทำให้นายจ้างต้องรับผิดในส่วนของค่าชดเชยให้กับลูกจ้างด้วย เหตุในการเลิกจ้างหรือไล่ออกโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างมีอยู่ 6 ข้อ ได้แก่


1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดทางอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง


2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย


3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง


4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน


5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร


6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก


หากการเลิกจ้างใด ไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งในเหตุการณ์เลิกจ้าง 6 ข้อข้างต้นแล้ว กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 6 อัตราคือ


1. ครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน


2. ครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน


3. ครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน


4. ครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน


5. ครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน


6. ครบ 20 ปี ขึ้นไป ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน


ทั้งนี้ลูกจ้างสามารถร้องเรียนหรือฟ้องร้องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หากเจ้าของกิจการไม่ยอมจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง ลูกจ้างอาจร้องเรียนที่แรงงานเขตหรือฟ้องที่ศาลแรงงานก็ได้


ทรัพย์สินทางปัญญา

สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เป็นส่วนสำคัญในการประกอบธุรกิจ ซึ่งความเสี่ยงที่คุณจะสูญเสียสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น เจ้าของกิจการ สตาร์ทอัพ ควรตรวจสอบว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น YouTuber นำเพลงที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ประกอบคลิปของตนเองโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงก่อน

ประเด็นข้อควรพิจารณาที่สำคัญๆ เช่น ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียน ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหลังจากที่สร้างสรรค์งานขึ้นมา (แต่เครื่องหมายการค้าต้องไปจดทะเบียนเพื่อป้องกันการละเมิดเครื่องหมายการค้า) กรณีที่เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมกัน อย่าง Co-Creator แล้ววันหนึ่งต้องแยกย้ายไม่ได้ทำธุรกิจด้วยกัน ทางแก้คืออาจทำสัญญาที่ชัดเจนไปเลยแต่แรกว่าใครจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อนำสัญญาดังกล่าวเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ แต่ถ้าเป็นกรณีลูกจ้าง เช่น ถ้าคุณเป็นสตาร์ทอัพต้องการจ้างโปรแกรมเมอร์เพื่อออกแบบหรือพัฒนาโปรแกรม แนะนำว่าให้ทำสัญญาจ้างให้ชัดเจน ว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของบริษัทหรือโปรแกรมเมอร์ คนอื่นไม่มีสิทธินำไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ใด ๆ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์


การเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องหมั่นฝึกฝนทักษะในด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพียงแต่ทักษะด้านเทคโนโลยีหรือทักษะการทำธุรกิจเท่านั้น ทักษะพื้นฐานทางด้านกฎหมายก็เป็นอีกทักษะหนึ่งที่จะเป็นเพิ่มศักยภาพให้กับสตาร์ทอัพ


บทความโดย: อังค์วรา ไชยอนงค์