สำรวจพฤติกรรมการเงินของคุณเป็นแบบไหน

หากได้ยินคำถามว่า “คุณมีพฤติกรรมการทางการเงินอย่างไร” คำตอบมีทั้งรู้จักพฤติกรรมทางการเงินของตัวเอง และไม่ทราบว่าตัวเองมีพฤติกรรมการเงินเป็นอย่างไร


พฤติกรรมทางการเงิน คือ พฤติกรรมการใช้จ่ายและการออม รูปแบบการเก็บออม การแก้ปัญหาทางการเงิน เช่น การไตร่ตรองก่อนซื้อ การชำระค่าใช้จ่ายตรงเวลา การเปรียบเทียบศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ และการตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาว


พฤติกรรมทางการเงินสามารถทำนายอนาคตความมั่นคงทางการเงินได้ ซึ่งหากทำความเข้าใจก็จะช่วยให้สามารถกำหนดแนวทางในการใช้จ่าย การออม และการลงทุน โดยลักษณะนิสัยเบื้องต้นเกี่ยวกับการเงินมี 5 รูปแบบ มาลองสำรวจตัวเองดูว่าตรงกับพฤติกรรมการเงินรูปแบบใดมากที่สุด

saving-behavior-1947417748

1.นักใช้จ่าย

ผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้เงินแบบนี้จะมีลักษณะใช้เงินเพื่อซื้อข้าวของครั้งละจำนวนมาก เช่น ซื้อหลาย ๆ ชิ้น ซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมครั้งละหลาย ๆ ชุด เป็นกลุ่มที่ชอบตามแฟชั่น ชื่นชอบการมีข้าวของรุ่นล่าสุดและดีที่สุด และไม่ชอบต่อรองราคา จึงมีความสบายใจที่ได้ใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ไม่กลัวการก่อหนี้ และมักจะชอบเสี่ยงสูง ๆ หากต้องการลงทุน


2.นักประหยัด

ผู้ที่ประหยัดเงินจะมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับนักใช้จ่าย โดยจะซื้อข้าวของก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ที่สำคัญจะทำการเปรียบราคาก่อนซื้อและซื้อด้วยเงินสด (ไม่นิยมการใช้จ่ายบัตรเครดิต) จึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่ชอบก่อหนี้ และโดยธรรมชาติจะรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับต่ำ จึงพึงพอใจกับการเก็บเงินในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น


3.นักช้อปปิ้ง

โดยธรรมชาติของนักช้อปปิ้งมักมีความพึงพอใจทางอารมณ์จากการใช้จ่ายเงิน ไม่สามารถต้านทานการใช้จ่ายเพื่อช้อปปิ้งครั้งละจำนวนไม่มากผ่านบัตรเครดิต และที่พบเห็นได้บ่อยสำหรับคนกลุ่มนี้ คือ มองหาสินค้าราคาถูกและมีความสุขเมื่อได้เป็นเจ้าของสินค้านั้นเป็นคนแรก ๆ และแสดงออกด้วยการถ่ายรูป บรรยายสรรพคุณสินค้าและโพสต์ลงสื่อโซเชียล


อย่างไรก็ตาม นักช้อปปิ้งมีความแตกต่างจากนักใช้จ่ายตรงที่รู้สึกกังวลกับระดับหนี้ที่เกิดขึ้นและหยุดใช้จ่ายเมื่อเริ่มใช้เงินเกินตัว ส่วนการลงทุนของคนกลุ่มนี้ก็มีแบ่งเงินไปเก็บออมบ้าง เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


4.นักก่อหนี้

ลักษณะของนักก่อหนี้ จะไม่มีการวางแผนด้านการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ไม่สามารถแยกการก่อหนี้ดีและหนี้ที่ไม่ดีออกจากกัน หรือไม่ไตร่ตรองเกี่ยวกับการใช้เงินจึงไม่เคยสำรวจว่าใช้จ่ายอะไรและมีจุดประสงค์อย่างไร ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะมีรายจ่ายมากกว่าเงินที่หามาได้และมีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนด้านการออมจะไม่ให้ความสำคัญนักเพราะไม่มีเงินเหลือเพื่อนำไปเก็บออม


5.นักลงทุน

นักลงทุนจะตระหนักถึงการใช้เงินอย่างมีสติ ไม่มีปัญหาด้านการใช้จ่าย เข้าใจสถานการณ์ทางการเงินและพยายามนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวผ่านการตัดสินใจอย่างรอบคอบ เข้าใจระดับความเสี่ยงและมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน

การปรับพฤติกรรมการเงิน

เมื่อเข้าใจพฤติกรรมการเงินของตัวเอง ก็ถึงเวลาสำรวจว่าสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านการเงินสูงสุดในระยะยาว

1.นักใช้จ่าย

ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นนักใช้จ่ายก็ต้องประหยัดให้มากขึ้น เหลือเฉพาะข้าวของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริง ๆ หากมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินซื้อข้าวของ ควรถามตัวเองก่อนว่ามีความคุ้มค่าในระยะยาวหรือไม่ หรือเป็นแค่ความพึงพอใจในระยะสั้น ถ้าคำตอบคือ ไม่คุ้มค่าก็ให้หยุดซื้อ สำหรับการลงทุนก็ศึกษาระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้และเริ่มต้นลงทุนสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงและสไตล์การลงทุนของตัวเอง


2.นักประหยัด

ถึงแม้ว่าการประหยัดเป็นเรื่องที่ดี แต่หากประหยัดมากจนเกินไปอาจทำให้พลาดโอกาสที่ดี โดยเฉพาะด้านการลงทุนด้วยการพยายามมองหาสินทรัพย์การลงทุนที่เสี่ยงสูงขึ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น เป็นต้น


3.นักช้อปปิ้ง

นักช้อปปิ้งต้องปรับพฤติกรรมด้านการใช้เงิน คือ ควบคุมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและคำนึงถึงผลของระดับหนี้สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในการซื้อ ขณะเดียวกันพยายามลบความเชื่อผิด ๆ ว่าการช้อปปิ้งอาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ลดความเครียด เพราะหากช้อปปิ้งจนเกินตัวอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงินและยิ่งเครียดมากขึ้น ส่วนด้านการลงทุนควรแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายขึ้น เช่น กองทุนรวม SSF และ RMF


4.นักก่อหนี้

วางแผนการเงินด้วยการจดบันทึกรายรับ รายจ่ายเป็นประจำ เพื่อให้รู้ว่าตัวเองมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และพยายามลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อนำเงินไปเริ่มต้นลงทุน


5.นักลงทุน

พยายามติดตามพอร์ตการลงทุนและศึกษาหาความรู้และช่องทางการลงทุนใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง เพื่อเพิ่มโอกาสผลตอบแทนในระยะยาว


ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถปรับพฤติกรรมการเงินได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่หากรู้ว่าตนเองมีข้อด้อยจุดไหนและลงมือทำ เรียนรู้วิธีหาเงิน การใช้จ่าย การทำให้เงินงอกเงย และการทำให้มีเงินใช้อย่างเพียงพอก็จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการได้