หุ้นกู้ การลงทุนและความเสี่ยง

หุ้นกู้ คือ "ตราสารหนี้" ที่ออกโดยภาคเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน หุ้นกู้สามารถแบ่งออกเป็นหน่วยๆ แต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่าๆ กัน ในประเทศไทยการออกหุ้นกู้โดยทั่วไปมักจะกำหนดมูลค่าไว้ที่หน่วยละ 1,000 บาท และหุ้นกู้ส่วนใหญ่มักกำหนดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 บาทหรืออาจมากกว่านั้นในกรณีการขายให้นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่


ในการลงทุนผ่านหุ้นกู้ ผู้ซื้อหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ในขณะที่ผู้ออกหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ ที่มาขอยืมเงินพร้อมสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้คืนให้ผู้กู้ในอัตราที่แน่นอน ตามระยะเวลาของสัญญาการกู้เงิน ซึ่งเป็นสัญญาระยะปานกลางถึงยาว เช่น หุ้นกู้อายุ 3 ปีจนถึง 10 ปี ซึ่งหุ้นกู้จะมีลักษณะเหมือนพันธบัตรรัฐบาล แตกต่างเพียงพันธบัตรรัฐบาล ออกโดยรัฐบาล ในขณะที่หุ้นกู้ออกโดยบริษัทเอกชน


ผลตอบแทนของหุ้นกู้ จะอยู่ในรูปของดอกเบี้ย การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน แต่สำหรับหุ้นกู้บางรุ่น อาจจ่ายปีละ 4 ครั้ง หรือทุกๆ 3 เดือน ก็ได้ และดอกเบี้ยที่ได้รับจากหุ้นกู้ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ 15% เช่นเดียวกับรายได้จากดอกเบี้ยชนิดอื่นๆ

ประเภทของหุ้นกู้

ในปัจจุบัน บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ได้ออกหุ้นกู้หลายหลายรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้สนใจหุ้นกู้ของบริษัท และเพื่อให้บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ตัวอย่างของหุ้นกู้ที่มีออกจำหน่ายในปัจจุบัน เช่น

  • หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond) ในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย

  • หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ

  • หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) เป็นตราสารหนี้ที่นักลงทุนสามารถเปลี่ยนจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ตามราคาที่กำหนด โดยบริษัทผู้ออกจะออกหุ้นสามัญในจำนวนที่มีมูลค่าเท่ากับตราสารหนี้ที่ถืออยู่   สถานะของนักลงทุนจึงเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของ และด้วยสถานะการเป็นเจ้าของ จึงทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อและราคาขาย (Capital Gain) หากราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่หากราคาหุ้นในตลาดยังคงต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในการแปลงสภาพ นักลงทุนก็สามารถเลือกที่จะไม่แปลงสภาพเป็นหุ้น และถือเป็นตราสารหนี้ต่อไปเพื่อรับดอกเบี้ยแต่ละงวดตามที่กำหนดไว้ (ซึ่งจะต่ำกว่าหุ้นกู้ปกติของผู้ออกเดียวกัน) และรับเงินต้นคืนที่ราคาพาร์ ณ วันหมดอายุ

  • หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Bond) คือ หุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสาร นำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ และผู้ถือจะมีสิทธิเต็มที่ในสินทรัพย์ที่วางเป็นประกันนั้นเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ  โดยปกติในทางปฏิบัติมักจะมีการตั้งบุคคลทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond Holder Representative) เพื่อทำการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน

  • หุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Bond) คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ วางไว้เป็นประกันในการออก ซึ่งหากผู้ออกตราสารล้มละลายต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วน


ส่วนหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) นั้นไม่ใช่ประเภทของหุ้นกู้ แต่เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน คล้ายกับหุ้นสามัญ เพียงแต่ว่าไม่มีสิทธิออกเสียงในการบริหาร มีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญ คือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับสิทธิในการชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ

ประโยชน์จากการลงทุนในหุ้นกู้

  • เป็นแหล่งรายได้ประจำ เนื่องจากหุ้นกู้และตราสารหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ให้แก่ผู้ลงทุน และจะจ่ายคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรายได้ประจำ และต้องการให้เงินต้นของการลงทุนนั้นยังอยู่ครบ

  • ได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน มักจะเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีลักษณะและอายุการลงทุนใกล้เคียงกัน ดอกเบี้ยส่วนที่สูงขึ้นนี้เป็นการชดเชยให้กับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนจะมีความเสี่ยงในด้านการผิดนัดชำระหนี้ มากกว่าพันธบัตรรัฐบาล สำหรับส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนนั้นจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของหุ้นกู้ ซึ่งจะถูกจัดอันดับจากสถาบันจัดอันดับเครดิต ซึ่งเป็นบริษัทคนกลางที่ประเมินว่าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้แต่ละแห่งอยู่ในอันดับเครดิตเช่นใด ถ้าอยู่ในอันดับสูงหรือเครดิตดี ตีความได้ว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากหุ้นกู้ ก็มีแนวโน้มต่ำกว่าเช่นกัน เมื่อเทียบกับบริษัทที่อันดับเครดิตต่ำกว่า

  • สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ข้อดีของการซื้อหุ้นกู้อีกข้อหนึ่ง คือ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนมือกันได้ในตลาดรอง เช่น ตลาดตราสารหนี้หรือ Bond Electronic Exchange (BEX) จัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ต้องรอให้ถึงวันครบกำหนดอายุ อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องการซื้อขายอาจแตกต่างไปตามขนาดและเงื่อนไขของแต่ละหุ้นกู้ หากนักลงทุนสนใจซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรอง สามารถติดต่อซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ หรือบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้


การจัดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ (Credit Rating)

การจัดอันดับเครดิต หรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตวิธีหนึ่งที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากอันดับเครดิตแต่ละระดับจะมีสัญลักษณ์ตัวอักษร เช่น AAA หรือ AA เพื่อบ่งบอกความเสี่ยงในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกตราสาร สถาบันการเงินผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และนักลงทุน สามารถเข้าใจตรงกันได้ง่ายขึ้น ว่าทั้งผู้ออกตราสารหนี้ และตัวตราสารหนี้นั้นๆ มีความเสี่ยงมากกว่า เท่ากัน หรือน้อยกว่าตราสารอื่นๆ อย่างไร


อันดับเครดิตที่เปิดเผยสู่สาธารณะนั้น จัดทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) โดยมีทั้งสถาบันระดับสากล Standard & Poor’s (S&P’s), Moody’s และ Fitch Ratings ทำหน้าที่จัดอันดับเครดิตตราสารของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงอันดับเครดิตของประเทศ และส่วนในประเทศไทยก็จะมี ทริสเรทติ้ง และ ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) อันดับเครดิตมีความหมายโดยย่อดังนี้  โดยอันดับที่จัดว่าลงทุนได้คือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป

 

ระดับที่น่าลงทุน

TRIS

Fitch

Moody’s

S&P

คำอธิบาย

AAA

AAA(tha)

Aaa

AAA

อันดับเครดิตสูงที่สุด มีความเสี่ยงต่ำที่สุดที่จะไม่สามารชำระหนี้ได้ตามกำหนด

AA

AA(tha)

Aa

AA

อันดับเครดิตรองลงมา และถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมากที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

A

A(tha)

A

A

ความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ

BBB

BBB(tha)

Baa

BBB

ความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง

ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นกู้

  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หากเลือกลงทุนในหุ้นกู้ระยะยาวโดยปราศจากการวางแผน อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่คุณมีความต้องการใช้เงินก่อนครบกำหนดอายุการลงทุน จนต้องนำไปขายที่ตลาดรอง และส่งผลให้คุณอาจต้องขายขาดทุนหรือไม่ได้รับเงินตามที่ควรจะได้ถ้าถือต่อจนครบอายุ

  • ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย คือ โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการลงทุนที่คุณลงทุนอยู่ เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดมีค่าสูงขึ้น จะทำให้ตราสารหนี้มีราคาหรือมูลค่าลดลง เช่น หากคุณลงทุนในหุ้นกู้ที่ได้ดอกเบี้ย 4% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี เงินของคุณจะถูกล็อคอยู่ที่อัตราผลตอบแทน 4% ตลอดระยะเวลา 5 ปี ถ้าเวลาผ่านไป แล้วอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดมีค่าสูงขึ้น คุณก็จะเสียโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น หุ้นกู้ชุดใหม่ที่อาจจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 4% อันนี้เราเรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส หรือ Opportunity Cost (เสียโอกาสที่คุณจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าที่คุณได้รับอยู่ในปัจจุบัน)   ดังนั้นถ้าคุณต้องการนำเงินมาลงทุนในหุ้นกู้ชุดใหม่ แล้วอยากขายการลงทุนในหุ้นกู้ชุดเก่าออกมา คุณจะต้องขายในราคาที่มีส่วนลด เพราะถ้าคุณจะเอาหุ้นกู้ชุดเก่ามาขายกับนักลงทุนในตลาดรองด้วยราคาหน้าตั๋วที่คุณซื้อมา จะไม่มีนักลงทุนคนไหนซื้อกับคุณ เพราะทุกคนย่อมอยากจะไปลงทุนในหุ้นกู้ชุดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ถ้าสมมติหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% มีส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ 1% ดังนั้นนักลงทุนจะซื้อหุ้นกู้ต่อจากคุณก็ต่อเมื่อ คุณมีส่วนลดให้จนเท่ากับส่วนต่างดอกเบี้ยที่ต่างกันอยู่ 1% นั้น
     
  • ความเสี่ยงด้านเครดิต คือ โอกาสที่บริษัทที่คุณนำเงินไปลงทุน ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้ ผลที่ตามมา คือ บริษัทอาจไม่ยินยอมที่จะชำระหนี้ต่อ หรืออาจถูกฟ้องล้มละลาย ส่งผลให้การลงทุนของคุณเกิดความเสียหายได้นั่นคือ คุณอาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้ หรือคุณอาจจะสูญเสียเงินต้นทั้งหมดที่คุณลงทุนไปได้


ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ ควรพิจารณาเป้าหมายการลงทุน และระยะเวลาในการลงทุนให้ชัดเจน รวมทั้งพิจารณาอันดับเครดิตของหุ้นกู้นั้นๆ ว่าตรงกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้หรือไม่ และวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ว่านำเงินไปทำอะไร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า นอกจากอันดับเครดิตที่ถูกประเมินแล้ว มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่บริษัทจะนำเงินกู้มาคืนเมื่อครบกำหนด

 

บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร