คุณเป็นนักลงทุนแบบไหน

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเกิดความผิดพลาดหรือความล้มเหลวในการลงทุน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการที่นักลงทุน “ไม่รู้จักตัวเอง” นักลงทุนบางท่านไม่รู้เลยว่าตัวเองมีสไตล์การลงทุนเป็นแบบไหน เช่น คิดว่าตัวเองเป็นคนใจเย็น รับความเสี่ยงได้ต่ำ ไม่ชอบซื้อมาขายไปในระยะสั้นๆ แต่เวลาลงทุนจริงกลับลงทุนตามเพื่อน ซื้อเช้า ขายบ่าย หรือบางคนคิดว่าตัวเองเป็นนักลงทุนระยะยาว แต่พอเห็นหุ้นตกแรงๆ ในระยะสั้นๆ ก็ตกใจ ขายหุ้นทิ้งแบบขาดทุน ทำให้พอร์ตการลงทุนสียหาย


ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุน นักลงทุนควรสำรวจสไตล์การลงทุนของตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้ารู้จักสไตล์การลงทุนก็จะสามารถเลือกหุ้นและกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสม และประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ ซึ่งสไตล์การลงทุนสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้


1.   นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน มีลักษณะ ดังนี้

  • การซื้อหุ้น คือ การซื้อกิจการ เข้าเป็นหุ้นส่วนของกิจการ และจะถือหุ้นนานตราบเท่าที่พื้นฐานของกิจการยังดี และมีการเติบโตที่ดี
  • ประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นก่อนเข้าซื้อหุ้น และจะซื้อหุ้นในราคา Undervalued หรือ ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
  • อดทนรอเข้าซื้อโดยมีส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) เช่น ซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง 20%
  • ตัวอย่างนักลงทุนในแนวนี้ เช่น วอร์เรน บัฟเฟต์ นักลงทุนแบบคุณค่า (Value Investor) ชื่อดังระดับโลก


2.   นักลงทุนสายเทคนิค หรือสายกราฟ มีลักษณะดังนี้

  • นักลงทุนในกลุ่มนี้จะมีความเชื่อว่าหุ้นที่จะวิเคราะห์ทางเทคนิค ต้องมีแนวโน้ม (Trend) และปริมาณซื้อขาย (Volume) โดยหุ้นนั้นจะต้องมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น และมีปริมาณการซื้อขายที่มากผิดปกติ แสดงว่าหุ้นนั้นเป็นที่น่าสนใจของตลาด
  • จะพิจารณาซื้อขายจากกราฟเท่านั้น ไม่สนใจปัจจัยพื้นฐาน เพราะเชื่อว่าข้อมูลทุกอย่างได้สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นแล้ว โดยจะเลือกหุ้นที่ราคากำลังจะขึ้น หรือเพิ่งขึ้น และไม่ซื้อหุ้นที่เป็นขาลงเด็ดขาด
invest

3..   นักลงทุนสายผสมผสาน หรือ Hybrid มีลักษณะดังนี้

  • เป็นนักลงทุนที่จะพิจารณาการลงทุนในหุ้น โดยใช้ทั้งปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยเทคนิค และปัจจัยสนับสนุนมาประกอบการตัดสินใจลงทุน
  • ตัวอย่างของการลงทุนแบบผสมผสาน เช่น หลักการเลือกหุ้น CAN SLIM อ่านว่า “แคน สลิม” คือ แนวทางการลงทุนที่คิดค้นโดย วิลเลี่ยม โอนีล นักลงทุนชื่อดัง ได้คิดค้นหลักการตัวช่วยคัดการหุ้นพื้นฐานดี น่าลงทุน จึงได้หลักการมาทั้งหมด 7 อย่าง ดังนี้
    • i.Current Earnings กำไรต่อหุ้นของไตรมาสล่าสุด ควรจะเพิ่มขึ้น 25-50% จากปีก่อนหน้า
    • ii.Annual Earnings บริษัทควรจะมีการเติบโตที่ชัดเจนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของกำไรต่อหุ้นรายปีที่ทบต้นแล้ว ควรจะเพิ่มขึ้น 25-50% ต่อปี หรือ ยิ่งสูงก็ยิ่งดี
    • iii.New Product บริษัทที่จะสามารถสร้างกำไรและโตได้มากๆ มักจะต้องมีปัจจัยที่มีผลบวกใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี บุกตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน หรือมี Business Model ใหม่ๆ ที่ทำให้เพิ่มยอดขายและทำกำไรได้อย่างมหาศาล
    • iv.Shares Outstanding แนวคิดนี้เชื่อว่าจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดซื้อขาย โดยถ้าจำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดในจำนวนที่น้อย โอกาสที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นสามารถทำได้ง่ายกว่า หุ้นที่มีจำนวนหมุนเวียนในตลาดมากกว่า
    • v.Leading Industry หุ้นที่ดีควรจะเป็นผู้นำของตลาดหรือผู้นำของกลุ่มอุตสาหกรรม และแสดงถึงความแข็งแกร่งเหนือหุ้นในธุรกิจที่คล้ายกัน
    •  vi Institutional Sponsorship การที่หุ้นจะขึ้นได้ยาวและแรงต้องอาศัยแรงซื้อที่มหาศาล เงินการลงทุนจากสถาบันใหญ่ๆ จึงเป็นแหล่งที่มีความสำคัญ เราต้องมองหาหุ้นที่สถาบันหรือกองทุนให้ความสนใจ
    •  vii.Market Direction ไม่ว่าหุ้นจะดีแค่ไหนถ้าตลาดรวมลงก็มักจะลงตาม ดังนั้นควรลงทุนเฉพาะในทิศทางตลาดแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) และลงทุนตามเทรนด์ขาขึ้นนั้นไป
       
  • การเลือกหุ้นให้ได้ผลดีนั้นต้องวิเคราะทั้งปัจจัยพื้นฐานและเทคนิคมารวมกัน (Fundamental & Technical Analysis) คือ นอกจากต้องเป็นบริษัทที่ดี จังหวะซื้อขายต้องเหมาะสมด้วย

 

4.   นักลงทุนสายออมแบบ DCA (Passive Investment) มีลักษณะดังนี้

  • การ DCA คือรูปแบบหนึ่งของการลงทุน ซึ่งจะลงทุนอย่างสม่ำเสมอในสินทรัพย์ที่เราเลือกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือกองทุนเป็นจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกครั้ง โดยไม่สนใจว่าสินทรัพย์ลงทุนที่เลือกไว้จะราคาเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ราคาของสินทรัพย์ที่ได้ในภาพรวมนั้นก็จะเฉลี่ยๆ กันไป ซึ่งโดยปกติแล้วความถี่ของการ DCA ก็มักจะอยู่ที่รายเดือน เป็นอีกหนึ่งวิธียอดนิยมที่ใช้สร้างวินัยการลงทุนกัน เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาจับจังหวะการลงทุน แต่อยากลงทุนระยะยาว และมีวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ


5.   นักลงทุนสายตามกระแส (ไม่มีแนว)

  •  จะเล่นหุ้นตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเล่นตามเซียน เจ้าของ หรือผู้บริหารของบริษัท โดยไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูล และไม่มีแนวทางการลงทุนเป็นของตนเอง ซึ่งหากคุณเป็นนักลงทุนในแนวนี้อยู่ บอกเลยว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนจะต่ำมาก ขอแนะนำให้เปลี่ยนแนวทางการลงทุนโดยด่วน


กล่าวโดยสรุป นักลงทุนควรทำความรู้จักตัวเองให้ดีว่ามีสไตล์การลงทุนเป็นแบบไหน เพราะการรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี จะทำให้สามารถเลือกสินทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนได้อย่างเหมาะสมและตอบโจทย์ นอกจากนี้ นักลงทุนทุกคนรู้ดีว่า การลงทุนต้องใช้เวลาในการศึกษาและให้ความใส่ใจติดตามตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไป นักลงทุนต้องหมั่นปรับพอร์ตตามสถานการณ์เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ หากทำได้เช่นนี้ ความสำเร็จในการลงทุนก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม


บทความโดย : 

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร