ระยะห่างทางสังคมไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากใจเราใกล้กัน

การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นศัพท์ใหม่ที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นหูกันมากนัก  พึ่งจะได้ยินบ่อยๆ ก็ในช่วงนี้ที่เกิดการระบาดของ COVID-19  นี่เอง  ทำให้คิดถึงประโยคที่มักพูดกันเล่นๆ ว่า  “อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ”  หรือ  “คิดถึงแต่ไม่ต้องแสดงออก”  คงเป็นการอธิบายนิยามของการรักษาระห่างทางสังคมหรือ Social Distancing ได้เป็นอย่างดี


สำหรับคนชอบอยู่ติดบ้าน  ไม่ค่อยได้ออกไปไหนมาไหน  การอยู่บ้านจึงไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไรนัก  แต่พอที่มีมาตรการ  Work  from Home  เพื่อลดการติดเชื้อ COVID  กลับทำให้หลายคนรู้สึกหงุดหงิดใจอย่างบอกไม่ถูก   เพราะไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเลย  ทั้งการปิดห้างสรรพสินค้า,  สถานที่ชุมชน,   ฟิตเนต,  สถานบันเทิง,   ร้านทำผม,  ร้านนวด ฯลฯ   แม้กระทั้งร้านอาหารจะต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น  คนส่วนใหญ่คงมีเพียงแค่ตลาดนัดใกล้บ้านหรือรถพุ่มพวงที่ขับวนเวียน เป็นเสมือนแหล่งรื่นรมย์เดียวที่จะได้พักผ่อนหย่อนใจออกไปนอกบ้านบ้างเพื่อเลือกซื้อของสดผักผลไม้มาเก็บไว้เป็นเสบียงที่บ้าน

social-distancing

เมื่อคนส่วนใหญ่ต้องกักตัวอยู่กับบ้านเป็นเวลานาน  มักใช้เวลาว่างเสพข่าวสารออนไลน์หรือสื่อหลักอย่างทีวีสาธารณะเป็นส่วนใหญ่   ยิ่งติดตามข่าวตัวเลขคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างกับแชร์ลูกโซ่ที่ไม่มีท่าทีว่าจะหมดลงง่ายๆ เหมือนอย่างเงินในกระเป๋าของเรา   ทำให้บางคนรู้สึกว่าโรคนี้ใกล้ตัวเกินไปจนแทบประชิดขนตา        หลายคนเตรียมเสบียงข้าวสารอาหารแห้งเพราะไม่รู้ว่าจะระบาดไปจนถึงขั้นปิดเมืองหรือไม่   บ้างก็ตุนหน้ากากอนามัย   แอลกอฮอร์  เจลล้างมือ  น้ำยาฆ่าเชื้อโรค  ซึ่งสินค้าพวกนี้กลายเป็นแรไอเท็มที่ทุกคนจะต้องขวนขวายหาซื้อมาครอบครองให้จงได้


แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะมีข่าวสารการกักตุนหน้ากากอนามัยให้เห็นอยู่บ้าง   แต่ก็ยังมีข่าวสารที่ทำให้เรายิ้มได้ คือ  คนส่วนใหญ่ช่วยกันบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน  ทั้งเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์  ชุดป้องกันเชื้อโรคส่วนบุคคล (PPE)  บางคนที่ถนัดงานฝีมือก็ทำ  Face Shield  เย็บถุงหุ้มรองเท้า  ส่งไปตามโรงพยาบาล  บางคนก็เขียนโปสการ์ดส่งกำลังใจไปให้หมอพยาบาล  ขณะที่นักประดิษฐ์ต่างก็คิดไอเดียใหม่ทำอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยใช้วัสดุบ้านๆ เพื่อช่วยเชฟชีวิตหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่   ทั้งการประดิษฐ์ตู้คัดกรองคนติดเชื้อ   บางคนก็ออกแบบรถเข็ญ  เตียงนอนสำหรับผู้ป่วยโควิท  ในส่วนสถาบันการศึกษาก็ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมผลิตนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจ  ขณะที่คนขายอาหารหรือร้านอาหารบางแห่ง  ก็ช่วยกันทำข้าวกล่องส่งตามโรงพยาบาล    บางร้านแจกข้าวกล่องฟรีสำหรับคนที่ตกงาน  บางแห่งส่งข้าวกล่องฟรีสำหรับคนที่ต้องกักตัว 14  วัน  แม้กระทั่งคนที่มีอาชีพประมงยังทำอาหารทะเลไปส่งให้โรงพยาบาลในตัวจังหวัด

ขณะที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมหรืออพาร์ทเม้นท์ที่ใกล้โรงพยาบาล  ก็ให้ใช้สถานที่เป็นที่พักสำหรับบุคลากรทางการแพทย์  แถมยังมีอาหารและบริการซักเสื้อผ้าให้ฟรี   เจ้าของห้องเช่าให้ผู้เช่าที่เดือดร้อนอยู่ฟรี 3 เดือน   ปั๊มน้ำมันตั้งจุดเติมเจลแอลกอฮอล์ฟรี    สถาบันการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าช่วงโควิด   โรงงานผลิตชุดชั้นใน  เสื้อเชิ้ต  ต่างเปลี่ยนสายพานการผลิตมาทำหน้ากากอนามัยเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ    สำหรับคนทำธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเช่นกลุ่มโรงแรมมีหลายแห่งที่หยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง   แต่ก็มีไอเดียช่วยพนักงานให้ใช้ห้องครัวโรงแรมทำอาหารออกไปจำหน่ายตามแหล่งต่างๆ เพื่อเป็นรายได้ทดแทนค่าจ้างที่ขาดไป     ขณะที่ภาครัฐได้ออกมาตรการน้ำ-ไฟ และมาตรการเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทเสริมกำลังใจให้ประชาชนที่ขาดรายได้    เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่สะท้อนน้ำใจของคนไทยที่มีให้แก่กันไม่แบ่งแยกฐานะหรือชนชั้น   ข่าวสารเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้หัวใจของเรายิ้มได้   เพราะไม่ว่าประเทศจะเจอวิกฤตหนักหนาขนาดไหน  ถ้าหากคนไทยรักกัน  ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน  เชื่อมั่นว่าประเทศจะสามารถฝ่าฟันวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปได้   เพราะว่าระยะห่างทางกายไม่ใช่เรื่องใหญ่   ถ้าหากหัวใจของเราใกล้กัน