ทักษะนี้ต้องมี! หากริเริ่มคิดหวนคืนถิ่น

ยุคนี้ “ความไม่แน่นอน” กลายเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยที่มาเยือนแบบไม่รู้ตัว หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว ส่งผลกระทบร้อนๆ หนาวๆ ให้กับอาชีพที่ดำรงอยู่ แต่การคิดจะหวนคืนรังไปตั้งหลักที่บ้านต่างจังหวัดคงไม่ใช่เรื่องง่ายชนิดที่ดีดนิ้วแล้วไปได้ทันที แต่ยังมีความพร้อมอีกมากที่ควรเตรียมไว้

 

1.ถามหัวใจและไลฟ์สไตล์ตัวเองให้ดี

เพราะการกลับไปอยู่ต่างจังหวัด คือการเปลี่ยนบริบทแวดล้อมที่คุ้นชินทั้งหมด โดยเฉพาะความสะดวกรวดเร็วในชีวิตหลายอย่าง ต้องถามตัวเองให้แน่ชัดว่า พร้อมปรับสภาพจิตใจที่เคยได้อะไรทันที มาสู่การรอคอย และต้องทำอะไรด้วยตัวเองให้มากที่สุดแทนหรือเปล่า แม้ว่าบริบทสังคมต่างจังหวัดจะเริ่มขยับมาใกล้ความเป็นเมือง แต่ความครึกครื้นและสีสันไม่อาจเทียบเท่า กิจกรรมในช่วงกลางคืนที่หายไป และเจอความเงียบตั้งแต่ยังไม่พลบค่ำมาแทน และที่สำคัญคือรายได้ลดลง แลกกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่น้อยลงตามกัน ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ว่า มั่นใจว่านี่คือความสุขที่แท้จริงของคุณหรือไม่

 

2.สำรวจครอบครัวและบริบทสังคม

ถึงแม้ว่าเราพร้อมจะกลับบ้านไปคนเดียว ไม่เกี่ยวกับใคร แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบคนรอบข้าง อย่างลืมดูก่อนว่าปัจจุบันสมาชิกที่บ้านแต่ละคนทำอะไร เขามีภาระรับผิดชอบเรื่องใดอยู่ และใช้ชีวิตอย่างไร ถ้าเรากลับมาจะมีผลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร เช่น ที่อยู่อาศัยมีจำนวนสมาชิกอย่างไร หากเราจะเพิ่มตัวเองขยับขยายเข้าไป หรือลงทุนทำธุรกิจเพิ่ม จะมีผลอย่างไรกับคนที่บ้านในรูปแบบไหน สิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับการกลับถิ่นที่ควรจะเริ่มอย่างทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ ดูลู่ทางที่พอเหมาะ ไม่เอาเงินเก็บที่หาได้มาลุยในครั้งเดียวโดยหวังความสำเร็จทันที

skills-back-to-hometown-01

3.เพิ่มทักษะเก็บใส่กระเป๋า

เมื่อเห็นลู่ทางอาชีพใหม่ที่บ้านเกิดแล้ว ก่อนเก็บเสื้อผ้า ควรไปเก็บเกี่ยววิชาอบรมเพิ่มทักษะการเรียนรู้ต่างๆ ที่ต้องใช้เฉพาะหน้า หรืออาจเป็นการอบรมเผื่อไว้สำหรับอนาคตไปเลย อาทิ การเกษตร การตลาดออนไลน์ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง การออกแบบ การแปรรูปอาหาร สินค้า ฯลฯ เพราะสิ่งสำคัญไม่ว่าจะทำอะไร คือต้องสร้างความแตกต่างที่ตรงความต้องการ เพื่อทำให้เกิดการตอบรับที่ดี จากนั้นก็เริ่มฝึกทดลองและประยุกต์จากสิ่งที่มี จากจุดเล็กๆ เพื่อให้แม่นยำและชินกับความถูกและผิดอย่างเข้าใจ ก่อนขยับไปในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป

 

4. หาเพื่อนร่วมทางในถนนที่เลือกเดิน

“เพื่อน” สำคัญสำหรับการจะเริ่มต้นสิ่งใหม่ เพราะการทำอะไรคนเดียวอาจสร้างความรู้สึกท้อมากกว่าหากทำแล้วไม่สำเร็จ แล้วอาจจะพาลหมดแรงผลักดันให้ตัวเองก้าวเดินไปข้างหน้าต่อ ลองทำการบ้านหาคนที่คิดแนวทางเดียวกัน พูดคุยหารือกัน เช่น การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนแบบดั้งเดิม การร่วมทำการเกษตรแบบสร้างสรรค์ เพราะนอกจากจะช่วยกันจับมือเดินแล้ว หลายอย่างคือการร่วมกันแบ่งกันใช้ ตั้งแต่ความรู้ แรงงาน อุปกรณ์ เรื่อยไปจนถึงเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนแบ่งปันสินค้าและบริการต่างๆ (Sharing Economy)

5. ไม่หยุดพัฒนาตัวเองนำโลกใหม่เชื่อมโลกเก่า

แม้ไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง แต่อย่าละเลยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ควรหมั่นอัพเดทเพิ่มเติมความรู้ไว้ เพื่อนำมาต่อยอดกับผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพราะความจริงทั้งสองโลกนี้สามารถเชื่อมโยงกันได้ รวมถึงดูกรณีศึกษาวิจัยและการพัฒนา (R&D) หรือตัวอย่างจากคนอื่น จะทำให้เข้าใจ เห็นภาพ จนเกิดคำถาม และเมื่อศึกษาจนหาคำตอบได้แล้ว ในที่สุดจะตกผลึกเป็นวิธีการในสไตล์ของตัวเอง


อย่าลืมว่า นอกจากใจที่พร้อมกลับถิ่นกำเนิด การทำการบ้านดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่งเพราะจะช่วยสร้างฐานพลังใจให้แน่น และเมื่อถึงเวลากลับบ้านจริง ถ้าใจพร้อม ความมั่นใจพุ่ง อุปสรรคจะเกิดขึ้นมากมายขนาดไหนก็ยากที่ถอยทัพแล้ว


ที่มา

https://adaybulletin.com/life-feature-happy-so-far/25070
https://www.posttoday.com/social/general/534856
https://www.gqthailand.com/views/article/think-farm-life-is-good
https://www.sentangsedtee.com/farming-trendy/article_165062