จะเดทถึงเมื่อไรถึงจะตัดสินใจมีแฟน? เศรษฐศาสตร์แห่งความโสดมีคำตอบ!

เรื่อง: ดร.ศิริศักดิ์ เชยคำแหง


Hi-Light:

  • หลักเกณฑ์ง่าย ๆ ที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันก็คือ เราไม่ควรจะหยุดเร็วเกินไป หรือรอเวลานานเกินไปก่อนค่อยหยุด การหาจุดหรือเวลาที่เหมาะสม (Optimal Point) ระหว่าง เร็วเกินไป กับ ช้าเกินไป นี่แหละคือปัญหาสำคัญในชีวิตสำหรับการเลือกคู่
  • เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาแฟนหรือคู่ครองให้สูงที่สุดด้วยการคิดแบบสมเหตุสมผล จึงควรเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าจำนวนคนที่เราอยากจะเดททั้งหมดในชีวิตไว้ แล้วเริ่มเดทกับคนจำนวน 37% ของทั้งหมดก่อนเริ่มตัดสินใจเลือกคนที่ดีที่สุดที่ดีกว่าคนที่เคยพบในช่วงค้นหา


ท่านผู้อ่านยังโสดกันอยู่หรือเปล่าครับ? คำถามคลาสสิกของคนโสดก็คือ เมื่อไรเราจะเจอคนที่ใช่สักที เราคงอยากเจอคนที่ใช่กันใช่ไหมครับ คนที่เราจะหยุดการค้นหาความรัก (เสียงเพลง “หยุด หยุดชีวิต หยุดกับคนนี้...” ของพี่บุรินทร์ดังก้องอยู่ในหัว) แต่คำถามที่ผุดขึ้นในหัวสมองของคนโสดหรือแม้แต่คนที่มีคู่แล้วก็คือ แล้วเราจะเลือกหยุดที่ใคร? และหยุดตอนไหน? ผมมีเพื่อนที่ลงหลักปักฐานกับแฟนคนแรกและคนเดียวในชีวิตและยังคบกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผมมักจะมีคำถามในใจว่า เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะไม่เจอคนที่ดีกว่าคนๆ แรกที่เขาเลือก ในขณะเดียวกันก็มีเพื่อนบางคนที่เหมือนเป็น “Serial dater” คือคนที่เดทไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุดอยู่กับใครสักทีแม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมาเกินทศวรรษ ผมคิดว่าหลักเกณฑ์ง่ายๆ ที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันก็คือ เราไม่ควรจะหยุดเร็วเกินไป หรือรอเวลานานเกินไปก่อนค่อยหยุด การหาจุดหรือเวลาที่เหมาะสม (Optimal point) ระหว่าง เร็วเกินไป กับ ช้าเกินไป นี่แหละคือปัญหาสำคัญในชีวิตสำหรับการเลือกคู่


หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ การหาจุดเหมาะสมที่จะหยุดนั้นก็คือการตัดสินใจที่ต้องมีการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง (Tradeoff) โดยชั่งน้ำหนักโอกาสที่จะได้กับค่าเสียเวลา (Opportunity cost) ที่จะต้องสูญไปกับการรอคอยและยังไม่หยุด ในเรื่องการออกเดทเพื่อความสัมพันธ์ระยะยาวนั้น เรามักจะได้รับคำแนะนำจำพวกที่ว่า “ให้รอไปก่อนเดี๋ยวจะเจอเอง” หรือ “ไม่ต้องรีบเดี๋ยวเนื้อคู่จะหาเราเจอเอง” บางครั้งก็เป็นคำแนะนำหรือปลอบประโลมที่อุ่นใจ แต่ถ้าเรามองในแง่ความสมเหตุสมผลและถ้าเรามีความจำเป็นหรือต้องการที่จะลงหลักปักฐานเลือกใครสักคนจริงๆ การรอหรือการเลือกไปเรื่อยๆ ย่อมทำให้โอกาสการมีแฟนหรือคู่ครองของเรานั้นลดลงไปเรื่อยๆ


เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์หลายท่านได้มีการคิดหาคำตอบให้กับปัญหาการหยุดหรือไปต่อนี้เป็นเวลามานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยปัญหานี้มักรู้จักกันในวงการวิชาการว่า The Secretary Problem โดยสถานการณ์คือเราจะต้องสัมภาษณ์เพื่อเลือกจ้างคนมาทำงานเป็นเลขานุการ โดยเป้าหมายคือจะต้องมีโอกาสสูงสุดที่จ้างผู้สมัครที่ดีที่สุด โดยมีสมมติฐานว่า (1) ไม่สามารถให้คะแนนผู้สมัครรายบุคคลได้อย่างถูกต้องแต่สามารถจัดลำดับ (Rank) ว่าใครดีกว่าใคร  (2) สามารถสัมภาษณ์ผู้สมัครได้ทีละหนึ่งคนเท่านั้น (3) การตัดสินใจทำได้แค่ตอบรับหรือบอกผ่าน หากตอบรับคนใดคนหนึ่ง ผู้สมัครจะยินดีที่จะทำงาน และการค้นหานั้นจะจบลง แต่หากบอกผ่านผู้สมัครไปก็จะไม่มีโอกาสได้พบกันอีก นักคณิตศาสตร์เสนอให้แก้ปัญหานี้โดยใช้กลยุทธ์ที่มีช่วงเวลาค้นหา (Searching period) ไปเรื่อยๆ สักพักหนึ่งก่อนโดยที่ยังไม่เลือกใครแล้วค่อยตัดสินใจหลังผ่านระยะเวลานั้นไปแล้ว (Decision period) โดยให้ตกลงเลือกคนที่ดีกว่าคนที่ดีที่สุดที่เจอในช่วงเวลาการค้นหา

ลองพิจารณากรณีหากมีผู้สมัครสามคน เราสามารถพบเจอเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ทั้งหมด 6 กรณี (เรียงตาม Ranking) ได้แก่ 1-2-3, 1-3-2, 2-1-3, 2-3-1, 3-1,2, และ 3-2-1 ซึ่งนักวิชาการแนะนำให้ช่วงเวลาค้นหาเพียง 1 คน และตัดสินใจเลือกคนถัดไปที่ดีกว่าคนที่หนึ่ง ซึ่งจะเห็นว่า เราจะประสบความสำเร็จได้ในสามกรณี คือ 2-1-3, 2-3-1, 3-1-2 และจะผิดพลาด 33% หรือ 2/6 เพราะเลือกมากเกินไป ในสองกรณีคือ 1-2-3 และ 1-3-2 (จริงๆ คนที่ 1 ดีอยู่แล้วแต่เราบอกผ่านไปเพราะเป็นช่วงค้นหา) และพลาด 16% หรือ 1/6 เพราะเลือกเร็วเกินไปในกรณี 3-2-1 (เลือกคนที่สอง แต่คนที่สามที่ยังไม่พบดีกว่า) ดังนั้นจะเห็นว่าการตั้งช่วงเวลาการค้นหาแล้วค่อยเลือกนั้นเพิ่มโอกาสที่เราจะได้เจอคนที่เหมาะสม มากกว่าการเลือกสุ่ม (Random) หากเราเพิ่มจำนวนผู้สมัครไปเรื่อยๆ ถึงร้อยคน จะพบว่าโอกาสที่จะเลือกคนสมัครที่ดีที่สุดเจอโดยใช้กฎของนักคณิตศาสตร์จะอยู่ที่ประมาณ 37% (โปรดดูอ้างอิงสำหรับการพิสูจน์และคำนวณตัวเลขนี้ ซึ่งค่านี้เท่ากับ 1/e คือค่าของความน่าจะเป็นที่ทำให้ฟังก์ชั่นโอกาสการเลือกคนที่ดีที่สุดมีค่าสูงที่สุด โดย e คือค่าคงตัวทางคณิตศาสตร์ = 2.71828 และ 1/e = 0.3678794 หรือประมาณ 37%) ส่วนโอกาสการเลือกแบบสุ่มนั้นมีโอกาสสำเร็จเพียงแค่ 1/100 หรือ 1% เท่านั้น


ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการหาแฟนหรือคู่ครองให้สูงที่สุดด้วยการคิดแบบสมเหตุสมผล จึงควรเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าจำนวนคนที่เราอยากจะเดททั้งหมดในชีวิตไว้ แล้วเริ่มเดทกับคนจำนวน 37% ของทั้งหมดก่อนเริ่มตัดสินใจเลือกคนที่ดีที่สุดที่ดีกว่าคนที่เคยพบในช่วงค้นหา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ กฎ 37% ก็คือจุดเปลี่ยนจากช่วงค้นหา (Searching) ไปสู่ช่วงการตัดสินใจ (Decision) ณ จุดที่เป็น 37% ของจำนวนทั้งหมดนั่นเองและเราจะมีโอกาสทำสำเร็จประมาณ 37% อีกเช่นกัน นอกจากนี้มีนักวิชาการอีกท่านคือ Michael Trick ได้คำนวณไว้ว่า หากเรามีช่วงเวลาในการเดทตั้งแต่อายุ 18-40 ปี กฎ 37% จะบอกว่าจุดเปลี่ยนจากช่วงระยะการค้นหาไปสู่ระยะการตัดสินใจคืออายุเท่ากับ 26.1 ปี เลยทีเดียว และถ้าหากเราเปิดโอกาสให้คู่เดทหรือผู้สมัครสามารถปฏิเสธเราได้ นักวิชาการเสนอให้ใช้กลยุทธ์ตัดสินใจเลือกเร็วขึ้นที่จุดเปลี่ยน 25% และลองเสนอกับคนที่ดีที่สุดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีคนตอบรับ


พอจะได้วิธีคิดไปลองใช้ในชีวิตจริงกันไหมครับ กฎ 37% นี่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์อื่นๆ ที่จะต้องตัดสินใจเลือกหรือไปต่อดังที่กล่าวไว้ตอนต้นนะครับ สำหรับคนที่ผ่านวัย 26 ปีไปแล้วเห็นทีจะต้องรีบตัดสินใจ มิฉะนั้นโอกาสความสำเร็จในการเลือกแฟนหรือคู่ชีวิตจะไม่อยู่ข้างเราเสียแล้วครับ!


อ้างอิง:

  • Ferguson, T. S. (1989). Who solved the secretary problem?. Statistical science, 4(3), 282-289.
  • Smith, M. H. (1975). A secretary problem with uncertain employment. Journal of applied probability, 12(3), 620-624.
  • Trick, M. (2011, February 27). Finding Love Optimally [Blog Post]. Retrieved from https://mat.tepper.cmu.edu/blog/index.php/2011/02/27/finding-love-optimally/