ไม่จำเป็นต้องวางแผนลดหย่อนภาษีหรอก ถ้าคุณยังไม่มีเงิน

เรื่อง: พรี่หนอม TAXBugnoms


Hi-Light:

  • จริงๆ แล้วการวางแผนภาษีเป็นเรื่องดี เพราะมันช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามองให้ไกลกว่านั้น การจัดการการเงินที่ดีนั้นสำคัญกว่า เพราะว่าถ้าเรามีเงินเหลือ วางแผนดี เราจะยิ่งประหยัดภาษีได้มาก

 

หนอมๆ พี่ปรึกษาหน่อยสิ พี่อยากจะวางแผนภาษีว่ะ” พี่เอ (นามสมมติ) ผู้ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ มีรายได้หลักจากการทำงานประจำราวกับมันคืองานอดิเรก เพราะชีวิตของพี่เขานั้นมีแต่งาน งาน งาน งาน

ผมเคยถามพี่เอว่า งานอดิเรกของเขาคืออะไร เขาตอบกลับมาเล่นเอาอึ้งไป “งานอดิเรกของพี่คือการทำงานว่ะหนอม”

อย่างไรก็ดี เหตุผลที่เขาตอบผมแบบนั้น น่าจะมาจากภาระชีวิตในครอบครัวที่ต้องแบกรับอยู่ ทั้งพ่อแม่พี่น้อง ภรรยาและลูกน้อย นับรวมๆกันแล้วก็ไม่ต่ำกว่า 5 ชีวิตที่ต้องจัดการดูแล เรียกได้ว่านี่แหละแฟมิลี่แมนตัวจริง

“โอเคพี่ ช่วยสรุปตัวเลขออกมาให้ผมทีว่าพี่มีรายได้เท่าไร” ผมให้โจทย์เขาไป ไม่น่าเชื่อ ไม่ทันข้ามวันแกก็ตอบกลับมาได้หมดเลยว่า เงินเดือนรวมโบนัสของแกตลอดทั้งปีเป็นเท่าไร แถมยังมีรายได้งานพิเศษอีกนิดหน่อยที่แกใช้เวลาว่างในวันหยุดไปรับมา สมกับที่บอกว่าทำงานเป็นงานอดิเรกจริงๆ

“โห! รายได้พี่โคตรเยอะเลยว่ะ” ผมดูตัวเลขแล้วเอ่ยปากชม ถ้านับคนในวัย 40 กว่าปีทีเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนๆ กัน รายได้ของแกน่าจะอยู่ในระดับต้นๆ เลยนะเนี่ย

“แล้วพี่ต้องวางแผนลดหย่อนภาษียังไง” แกหยิบสลิบเงินเดือน พร้อมกับหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาให้ผมดู พระเจ้า!! ตัวเลขที่อยู่ในนั้นมันมากเหลือเกิน ภาษีที่แกถูกหักไว้ น่าจะเท่ากับเงินเดือนทั้งปีของคนหลายคน

“ภาษีที่เสียก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกันนะ” ผมเอ่ยปากชมแกมประชดขำๆ “ว่าแต่ทำไมพี่ถึงคิดมาวางแผนภาษีตอนนี้ล่ะ ทำไมไม่ทำตั้งแต่แรก” นอกจากการหยอกๆ ผมลองถามแกต่อถึงเหตุผลในการวางแผนภาษี เพราะจริงๆ พี่เอเคยบอกผมเมื่อนานมาแล้วว่า เสียๆ ไปเถอะ พี่ขี้เกียจเสียเวลา เลยทำให้ผมอยากรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจของเขา

“หลังๆ พี่เริ่มหมุนเงินลำบาก รายจ่ายมันเยอะ” เขาบอกถึงเหตุผลที่ต้องใช้เงินมากขึ้น พร้อมกับระบายเรื่องงานหนักที่มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานราวกับเครื่องจักรมานานนับสิบปี ไปจนถึงภาระครอบครัวที่ต้องแบกและดูแล ทั้งพ่อแม่ที่อยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่ง และลูกที่กำลังมีภาระค่าใช้จ่ายที่เยอะขึ้น

“เอางี้ๆ สมมตินะพี่ ถ้าผมบอกให้พี่เอาเงินสักปีละ 500,000 - 1,000,0000 บาท มาซื้อกองทุน ประกัน เพื่อลดหย่อนภาษี พี่พอจะมีไหม” ผมลองคำนวณคร่าวๆ ในใจ จากตัวเลขรายได้แกสามารถซื้อพวกกองทุนหรือผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อลดหย่อนภาษีได้ปีหนึ่งเยอะมาก ซึ่งตรงนี้จะช่วยประหยัดภาษีไปได้เยอะ

“โอ้ย! เดือนๆ หนึ่งพี่เหลือเงินไม่กี่หมื่น ใช้จ่ายเองก็หมดแล้ว” แกตอบมาเล่นเอาผมเซอร์ไพรส์ เพราะไม่คิดว่ารายจ่ายแกจะขนาดนี้

no-tax-reduction-395918383

“อืม… อันนี้ผมอาจจะถามพี่เรื่องส่วนตัวหน่อยนะ” ผมเอ่ยปากขออนุญาต “พี่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่ายบ้างไหม แล้วเดือนๆ หนึ่งพี่เอาเงินไปทำอะไรหมดครับ”


พี่เออึ้งไปสักพัก ก่อนที่จะตอบออกมาว่า “ไม่เคยทำเลยว่ะ เงินเข้าเท่าไรก็แบ่งให้ที่บ้านหมด เก็บไว้ใช้ส่วนตัวนิดหน่อย บางทีก็เหลือๆ ไว้ใช้จ่ายพาครอบครัวไปเที่ยวบ้าง” ตอนแรกผมนึกว่าที่แกไม่อยากตอบเพราะไม่อยากบอกเรื่องส่วนตัว แต่ความจริงคือ ฐานะการเงินของพี่เออยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยจะดี ผิดกับรายได้ที่มีเยอะมาก


“งั้นพี่ต้องเริ่มต้นจาก จัดการการเงินของตัวเองก่อนแล้วครับ” ผมแนะนำแบบนั้นไป และบอกให้พี่เอหยุดคิดเรื่องวางแผนภาษี “สิ่งที่พี่ต้องทำคือดูว่าพี่มีเงินสดเหลือเยอะแค่ไหน พอที่จะแบ่งมาซื้อพวกลดหย่อนภาษีได้บ้างหรือเปล่า”


แกพยักหน้าหงึกๆ หงักๆ เหมือนไม่ค่อยโอเคกับคำตอบที่ได้ “จริงๆ ก็เคยมีหลายคนมาแนะนำพี่เหมือนกัน แต่พอพี่ดูส่วนใหญ่แล้วก็ติดปัญหาตรงนี้แหละ ตรงที่ไม่มีสตางค์” พูดเหมือนตลก แต่ดูจากแววตาแล้วเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องที่พี่เอจะหัวเราะออกมาได้


สุดท้าย ผมกับพี่เอก็จบกันตรงที่ว่า ให้เขาไปพยายามจัดการกระแสเงินสดของตัวเองก่อน ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่าพี่เอใช้เงินเกินตัว หรือ ภาระชีวิตแกมันจำเป็นขนาดนั้นจริงๆ ที่ทำให้คนที่เงินเดือนหลักแสนต้องบ่นว่าใช้เงินหมดจนไม่มีโอกาสลดหย่อนภาษี


แต่เรื่องพวกนี้มันกำลังบอกเราว่า จริงๆ แล้วการวางแผนภาษีเป็นเรื่องดี เพราะมันช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามองให้ไกลกว่านั้น การจัดการการเงินที่ดีนั้นสำคัญกว่า เพราะว่าถ้าเรามีเงินเหลือ วางแผนดี เราจะยิ่งประหยัดภาษีได้มาก


คำกล่าวที่ว่า “ไม่จำเป็นต้องวางแผนลดหย่อนภาษีหรอก ถ้าคุณไม่มีเงิน” อาจจะดูเหมือนคำพูดประชดประชันไปสักนิด แต่มันซ่อนแนวคิดของความจริงอยู่ในนั้น และมันกำลังบอกเราว่า


สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการประหยัดภาษี คือ การที่เรามีเงินในกระเป๋า