กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ คืออะไร ลงทุนอย่างไรให้ตอบโจทย์วัยทำงาน

กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้าง และลูกจ้าง ร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต  โดยเงินกองทุนจะมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้า กองทุน เพื่อตนเองส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" ซึ่งกฎหมายกําหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2 - 15% ของเงินเดือน และเงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนให้อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" โดยในปัจจุบันลูกจ้างสามารถเลือกที่จะสะสมเงินได้เท่าไหร่ก็ได้แต่สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินเดือน


อย่างไรก็ตามลูกจ้างหรือสมาชิกกองทุนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ด้าน การลงทุน ทำให้เลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมาะสม จึงมีความเสี่ยงที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีจะไม่พอใช้ในวัยเกษียณ นอกจากนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทย (www.thaipvd.com) พบว่าสถานการณ์การออมเพื่อวัยเกษียณในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมกับประชากรวัยแรงงาน โดยพบว่าการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการออมภาคสมัครใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตัวเลข ณ สิ้นปี 2560 มีนายจ้างตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานเพียง 17,561 บริษัท คิดเป็นประมาณ 2.7% ของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด 659,766 บริษัท และจากนายจ้าง 17,561 รายที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีสมาชิกที่เป็นพนักงานรวมกันเพียง 3 ล้านคน มีเงินสะสมทั้งหมดในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉลี่ยคนละ 300,000 บาทเท่านั้น

การจัดสรรเงินลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดย 3 อันดับแรกของสินทรัพย์ที่มีการลงทุนมากที่สุดในปี 2560 ได้แก่ ตราสารหนี้ (54.5%) ตราสารทุน (18.5%) และเงินฝาก (14.7%) โดยการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นสามัญยังมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พนักงานที่ไม่เข้าใจการลงทุน ทำให้เลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้สูงถึง 90-100% ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำ ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วตลอดการลงทุนจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำเพียง 2-3% ต่อปีเท่านั้น เงินที่ได้รับหลังเกษียณไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพแน่นอน แต่หากลงทุนในกองทุนที่จัดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้มีความเสี่ยงและผลตอบแทนเหมาะกับแต่ละช่วงอายุ จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดอายุการลงทุนที่สูงขึ้น


สำหรับบางบริษัทที่มีนโยบายการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเลือกลงทุนในหุ้นได้ด้วย (Employee’s Choices) ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แล้วควรจะแบ่งไปลงทุนในหุ้นสักกี่เปอร์เซ็นต์ดี คําตอบคือ ขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนที่คุณคาดหวังว่าจะได้จากเงินกองทุนสํารองเลี้ยงชีพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายวัยเกษียณ  นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวคุณเอง รวมไปถึงทางเลือกในนโยบายการลงทุนที่กองทุนสํารองเลี้ยงชีพของคุณมีให้เลือกอีกด้วย


อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเลือกนโยบายการลงทุนควรพิจารณาจากระยะเวลาการลงทุนประกอบด้วย หากมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานก็ควรพิจารณาการลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้นได้ แม้ว่าหุ้นจะมีความเสี่ยงสูงแต่ก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว เพราะระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานจะลดความผันผวนของการลงทุนในตราสารทุนลงได้ การที่เรากังวลในความเสี่ยงจนมากเกินไป อาจทำให้เงินไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และอาจมีไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายยามเกษียณอายุ

คำแนะนำสำหรับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามช่วงอายุต่าง ๆ

  • ช่วงอายุ 22 – 30 ปี เป็นช่วงเริ่มต้นการทำงาน และยังไม่มีภาระมากเท่าไหร่ อีกทั้งมีระยะเวลาการลงทุนที่นาน รับความเสี่ยงได้สูง สามารถเลือกลงทุนในหุ้นได้ถึง 80 – 90% และอีก 10 – 20% ก็เลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย
  • ช่วงอายุ 31 – 45 ปี เป็นช่วงของการสร้างครอบครัว หน้าที่การงานเริ่มมั่นคง รายได้สูงขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายก็สูงตามไปด้วย อีกทั้งยังมีภาระต่างๆ ให้รับผิดชอบมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการรับความเสี่ยงน้อยลง ดังนั้นแนะนำให้ลงทุนหุ้นประมาณ 50% ส่วนอีก 50% ให้นำไปลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากประจำเพื่อเป็นการลดระดับความเสี่ยงของพอร์ตลง
  • ช่วงอายุ 46 – 55 ปี เป็นช่วงของการเตรียมเงินเพื่อการเกษียณอายุ ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาการลงทุนที่เหลือสั้นลง ทำให้ช่วงนี้ต้องทยอยลดการลงทุนในหุ้นให้เหลือประมาณ 30 – 40%
  • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เป็นช่วงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณ ต้องระมัดระวังการลงทุนให้มากที่สุด เพราะไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้มากเหมือนวัยอื่นๆ แนะนำปรับพอร์ตการลงทุนให้เหลือการลงทุนในหุ้นประมาณ    10 – 15%


แล้วเราควรจะสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไหร่ดี?

ในเบื้องต้น หากไม่มีวินัยในการออม ไม่สามารถเก็บเงินด้วยตัวเอง หรือไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุน แนะนำสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างน้อย 10% ของเงินเดือน แต่ถ้าเป็นไปได้ขอให้ลงทุนเต็มสิทธิ์ 15% ของเงินเดือน เพราะข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ บริษัทจะหักเงินสะสมออกจากบัญชีเงินเดือนเลยทันที ทำให้เราได้ “Pay Yourself First” หรือ ได้จ่ายตัวเองก่อนนั่นเอง


เราควรเลือกสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียงขั้นต่ำ แล้วเอาไปลงทุนที่อื่นแทนได้หรือไม่?

คำตอบคือ หากคิดว่าสามารถหาการลงทุนที่ได้อัตราผลตอบแทนคาดหวังสูงกว่าที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทำได้ และมีวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เช่น ลงทุนได้อย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง ก็อาจเลือกเอาไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นแทนได้ แต่อย่าลืมว่าเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงใดๆ เราต้องมีวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และควรเป็นการลงทุนระยะยาว


กล่าวโดยสรุป กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับได้ว่าเป็นแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณอายุที่สำคัญมากสำหรับพนักงานบริษัทเลยก็ว่าได้ เราจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน สนใจติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่เสมอ รวมไปถึงเลือกแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ตอบโจทย์เป้าหมายการเกษียณอายุของเราได้นั่นเอง


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร