ชีวิตหลังจากถูกหักภาษีของฟรีแลนซ์ ต้องเดินไปทางไหน?

เรื่อง: พรี่หนอม TAXBugnoms


Hi-Light:

  • แม้ว่าจะถูกหักหรือไม่ถูกหักภาษีก็ตาม ควรจะนำรายได้มายื่นภาษีให้ถูกต้อง
  • ถ้าถูกหัก สิ่งที่ต้องทำ คือ เก็บหลักฐานการหักภาษี (หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย) ทำบัญชีรายได้ (เพื่อสำหรับตรวจสอบและยื่นภาษี) และเตรียมตัวยื่นภาษีตอนปลายปี


“งานนี้คุณหนอมจะให้หักภาษีไหมคะ?”

เวลาได้ยินคำถามแบบนี้ทีไร บอกตรงๆ ในฐานะคนทำงานด้านภาษีอย่างพรี่หนอมรู้สึกหวั่นใจจริงๆ ครับ เพราะเชื่อว่าประโยคนี้ต้องมีคนเข้าใจผิดแน่นอนครับ เนื่องจากคำว่า ‘ไม่หักภาษี’ มีความหมายที่ทำให้เข้าใจผิดได้ 2 แง่ นั่นคือ

  • ไม่หักภาษีแต่มีหลักฐานการจ่ายและให้เอกสารหลักฐานการหักภาษีที่มียอดศูนย์บาท เนื่องจากจำนวนเงินที่จ่ายไม่ถึงเกณฑ์ แต่มีการแจ้งยอดสรรพากรว่ามีการจ่ายเงินให้กับบุคคลนี้
  • ไม่หักภาษี เพราะเป็นการจ่ายนอกบัญชี ไม่มีการแจ้งสรรพากรแต่อย่างใด


ดังนั้น ถ้าใครเป็นฟรีแลนซ์ให้ถามคำถามก่อนว่า “คำว่าไม่หักภาษีหมายถึงกรณีไหน” ถ้าเป็นกรณีแรก แม้ว่าจะไม่หัก แต่มีหลักฐานการจ่ายและแจ้งสรรพากร ถ้าเราไม่ยื่นภาษีก็แปลว่ามีปัญหาแน่นอนครับ เพราะสรรพากรมียอดข้อมูลรายได้ของเราแล้ว


ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือ ไม่มีหลักฐานการจ่าย ถ้าพูดโดยหลักการของกฎหมาย เรายังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีอยู่นะครับ แม้ว่าจะไม่หักไว้ เพราะรายได้ที่เราได้รับไม่ได้รับสิทธิยกเว้นตามกฎหมายครับ แม้ว่าจะสรรพากรจะไม่รู้จากข้อมูลที่ผู้จ่ายส่งให้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีสิทธิตรวจสอบหรือตรวจสอบไม่ได้นะครับ อย่าเข้าใจผิดไป


ดังนั้น เคลียร์ให้ชัดประเด็นแรกก่อน เวลาได้รับคำถามนี้ว่าหมายความแบบไหน และถ้าอยากปลอดภัย ไม่ว่าจะได้แบบไหนก็ตาม ผมแนะนำให้ยื่นภาษีอย่างถูกต้องครับ


“หักไปเลยครับ ผมขี้เกียจวุ่นวาย”
ผมมักจะตอบแบบนี้ไปเสมอ ไม่ใช่ต้องการจะบอกว่าตัวเองเป็นคนดีนะครับ แต่ทุกวันนี้เข้าใจแล้วว่ามันเป็นหน้าที่ และที่สำคัญควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่นด้วย แหม่… คนสอนเรื่องภาษีกลับมาหนีภาษีซะเอง แบบนี้เกรงว่าจะไม่น่าดูสักเท่าไร เหมือนไม่ได้ใช้ความรู้ที่สอนมาเลยล่ะครับ

ทีนี้ถ้าถูกหักแล้วให้ทำยังไง สิ่งที่ต้องมองต่อไปคือ ทำความเข้าใจก่อนว่า รายได้ที่ได้รับนั้นคือจำนวนเต็ม เช่น ถ้าหากมีรายได้ 10,000 บาทแล้วถูกหักภาษีไป 3% คือ 300 บาท เรายังมีรายได้เท่าเดิมคือ 10,000 บาทอยู่ แต่ได้เงินจริงแค่ 9,700 บาท และ 300 บาทที่หายไป คือภาษีที่จ่ายล่วงหน้าไว้ รอให้เราไปยื่นคำนวณภาษีปลายปีอีกที ถ้าคำนวณได้เท่าไรให้เอาภาษีตัวนี้มาหักออกแล้วจ่ายเพิ่มหรือขอคืนตามที่คำนวณได้นั่นเองจ้า


เช่น กรณีนี้ ถ้าไปยื่นแล้วต้องเสียภาษีทั้งหมด 2,000 บาท ก็จะจ่ายเพิ่มแค่ 1,700 บาท เพราะถูกหักภาษีไว้แล้ว 300 บาทนั่นเองครับ หรือถ้าหากไปยื่นภาษีแล้วไม่ต้องเสีย ก็สามารถขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้จำนวน 300 บาทนี้คืนจากกรมสรรพากรได้นั่นเองครับ


สรุปประเด็นสำคัญสำหรับชีวิตที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายของฟรีแลนซ์อีกที นั่นคือ

  1. แม้ว่าจะถูกหักหรือไม่ถูกหักภาษีก็ตาม ควรจะนำรายได้มายื่นภาษีให้ถูกต้องครับ
  2. ถ้าถูกหัก สิ่งที่ต้องทำ คือ เก็บหลักฐานการหักภาษี (หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย) ทำบัญชีรายได้ (เพื่อสำหรับตรวจสอบและยื่นภาษี) และเตรียมตัวยื่นภาษีตอนปลายปี


หลักการง่ายๆ มีอยู่ 2 ข้อนี้แหละครับ ได้โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าไม่หักภาษีไว้ = ไม่ต้องเสีย เพราะชีวิตอาจจะเพลียเมื่อโดนตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และอย่าวู่วามคิดว่าการหักภาษีไว้นั้น คือการจ่ายภาษีเรียบร้อยแล้ว เพราะจริงๆ มันคือหน้าที่ที่เราจะต้องมายื่นภาษีให้ถูกต้องต่อไปครับ


ดังนั้น…ทบทวนให้ดีทุกครั้งที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้นะครับ