เหตุผลที่ไม่มีเงินเก็บ

ลองสำรวจเงินฝากในบัญชี หรือเงินที่ตัวเองนำไปลงทุนในช่องทางต่างๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล รวมถึงเงินที่เก็บในรูปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ ว่ารวมกันแล้วมีอยู่เท่าไหร่ หากอายุ 23 ปี เพิ่งเริ่มต้นวัยทำงาน เงินเก็บออมอาจจะมีไม่มาก  


แต่หากอยู่ในวัย 40 หรือกำลังจะเกษียณอีก 10 ปีข้างหน้า แต่มีเงินเก็บแต่ระดับแสนบาท คงต้องถามตัวเองแล้วว่าที่ผ่านมา เงินที่หามาได้หายไปไหนหมด คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้น “ใช้จนเพลิน” เลยไม่มีเงินเก็บ หรือบางคนเก็บเงินแต่เก็บได้นิดเดียว เพราะที่ผ่านมา “ใช้แบบเกินตัว”

  • หาเงินได้ 10,000 บาท ใช้ไป 9,000 บาท
  • หาเงินได้ 10,000 บาท ใช้ไป 15,000 บาท
  • หาเงินได้ 10,000 บาท ใช้ไป 10,000 บาท


หากใครไม่สนใจเก็บเงินเลย แต่ยังมีกินมีใช้ไม่ขาดมือไปจนหลังเกษียณ ถ้าไม่ได้เป็นเศรษฐี แสดงว่าดวงดีมากๆ


สำหรับมนุษย์เงินเดือน เรื่องหนึ่งที่ต้องปฏิบัติทุกๆ เดือน หลังเงินเดือนถูกโอนเข้าบัญชีได้ไม่กี่ ชั่วโมง ก็คือ การแบ่งเงินบางส่วน อย่างน้อยๆ ก็ 15% ของเงินเดือน ไปเก็บออมเอาไว้ในรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละคน


โดยเงินเก็บออม ควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก เพื่อใช้ยามฉุกเฉิน ด้วยการนำไปฝากไว้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน


ส่วนที่สอง เพื่อใช้สร้างครอบครัว เช่น ซื้อบ้าน แต่งงาน ส่งลูกเรียน ด้วยการนำไปลงทุนกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน


ส่วนสุดท้าย เพื่อวัยเกษียณ ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวและให้ผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 

หลายคนอาจคิดว่าตอนอายุยังไม่มาก เมื่อหาเงินมาได้ก็ควรรีบๆ ใช้สร้างความสุขให้กับชีวิต


พออายุสัก 40 กว่าๆ ค่อยคิดเรื่องเก็บเงินเอาไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า ซึ่งแน่นอนเก็บเงินตอนไหนก็ไม่มีคำว่าสาย แต่จะเหนื่อยตอนจะเกษียณ ถ้าเป็นแบบนี้ทางที่ดีควรเก็บออมเงินกันตั้งแต่เนิ่นๆ


อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคนไทยชอบ “ใช้เงิน” มากกว่า “ชอบเก็บเงิน” เพราะสิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2561 หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 78.6% เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย (ที่มา : สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)


ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการสำรวจครัวเรือนตัวอย่าง 1,500 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ยังคงมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีหนี้ ทั้งค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายไม่ประจำ เช่น ค่าแต่งรถ ทั้งนี้ ค่าแต่งรถที่สูงมากส่วนหนึ่งอาจสะท้อนเรื่องการให้ความสำคัญกับความมีหน้ามีตาทางสังคม


ขณะเดียวกันกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงิน พบว่ามีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเป็นประจำอยู่ในระดับสูง เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงและค่าซื้อเสื้อผ้า สะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างสุรุ่ยสุร่าย


 จากผลสำรวจ กล่าวได้ว่าสาเหตุสำคัญของการก่อหนี้และการมีปัญหาชำระหนี้ ล้วนเกิดจากรายจ่ายที่ไม่เพียงพอกับรายได้ โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและเกินฐานะ หรือขาดการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมในระยะยาว และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินหมดไว


1. ไม่จดบันทึกรายรับรายจ่าย

การที่ไม่รู้ว่าเงินในกระเป๋าหมดไปอย่างรวดเร็ว และไม่รู้ว่าหมดไปกับอะไรบ้าง แสดงว่าไม่มีการ “จดบันทึกรายรับรายจ่าย” ทำให้ไม่รู้พฤติกรรมด้านการเงินว่ามีรายรับเท่าไหร่ มาจากทางไหนบ้าง ที่สำคัญไม่รู้รายจ่ายทั้งหมดของตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์ของการไม่จดบันทึกรายรับรายจ่าย ก็คือ ไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน ไม่เห็นภาพเกี่ยวกับการใช้จ่ายและความสามารถในการหาเงิน ส่งผลให้ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการการเงิน  

  

2.ชอบจ่าย

เวลาเพื่อนชวนไปสังสรรค์เฮฮาก็ไม่เคยปฏิเสธ คาดเดาได้ว่าคนๆ นั้นอาจไม่มีเงินเก็บหรือมีก็ไม่เยอะ ซึ่งความใจอ่อนหรือขี้เกรงใจ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บเงินไม่อยู่ ลองคิดดูหากไปปาร์ตี้กับเพื่อน ทุกเย็นวันศุกร์ หรือแม้แต่หลังทานข้าวกลางวันก็ต้องเดินไปซื้อกาแฟ จะเหลือเงินในบัญชีเท่าไหร่

3. เรื่องเงินเรื่องเล็ก

หลายคนเชื่อมั่นว่าตัวเองมีความสามารถในการหาเงิน ดังนั้น เวลาใช้เงินก็จะใช้แบบไม่ยั้งมือ ที่สำคัญเงินมักหมดไปกับสิ่งของฟุ่มเฟือย และยิ่งหากคิดว่า “มีเงินแล้วก็ต้องใช้ ถ้าไม่ใช้แล้วจะหามาทำไม” ยิ่งกระตุ้นให้คนๆ นั้นใช้จ่ายมากขึ้น ผลที่ตามมา คือ ไม่คิดจะเก็บออม ไม่มีการวางแผนการเงินเพื่ออนาคตและจนตอนแก่


4. จัดสรรเงินลงทุนไม่เหมาะสม

สำหรับผู้ที่เก็บเงินแต่พบว่าดอกผลไม่ค่อยงอกเงย สาเหตุก็คือ การจัดสรรเงินลงทุนไม่เหมาะสม เช่น เงินเก็บส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินฝาก ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับอยู่ในระดับต่ำ หรือนำเงินทั้งหมดไปลงทุนหุ้น ทำให้ผลตอบแทนไม่มีความมั่นคง เพราะจะได้ผลตอบแทนดีหากตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น แต่ขาดทุนในช่วงตลาดเป็นขาลง

       

สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการเก็บเงินไม่อยู่ ไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยการไปเสริมดวง แต่ควรลงมือทำทันทีด้วยการหยุดใช้จ่ายกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น แล้วเริ่มต้นวางแผนการเงิน โดยเฉพาะเมื่อมีรายได้ก็ให้กันเงินไปเก็บออมเป็นอันดับแรก เหลือเก็บเท่าไหร่ก็ค่อยนำไปใช้จ่าย หากมีวินัยเก็บเงินทุกเดือนไม่ขาดตกบกพร่อง รับรองมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต