อยู่รอดและอยู่ร่วมกับ AI อย่างมีความสุขในโลกที่เปลี่ยนแปลงวันต่อวัน

ในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน เราแทบจะเดาไม่ออกด้วยซ้ำว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร อย่าว่าแต่อีก 10-20 ปีข้างหน้า แค่เราลองนึกว่าปีหน้าโลกจะเป็นอย่างไร มีใครนึกออกบ้าง


อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยถึงโลกที่เปลี่ยนแปลง บอกเล่าวิธีที่เราจะรับมือตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปถึงภาครัฐ

‘การเปลี่ยนแปลง’ เริ่มจากทิ้งคำว่า ‘อาชีพ’

‘ทิ้งคำว่าอาชีพ โดยคีย์เวิร์ดสำคัญที่ อ.เกียรติอนันต์ให้ความสำคัญในโลกยุคใหม่ที่ต้องใช้ ‘ทักษะ’ ทำมาหากิน


“เวลาพูดเรื่องอาชีพตอนนี้ไปถึง 30 ปีข้างหน้า เราจะไม่พูดถึงอาชีพตลอดชีวิตแล้ว เพราะอาชีพจะเปลี่ยนทุก 5 หรือ 8 ปี ฉะนั้นคนที่กำลังทำงานอยู่ หรือคนที่จบใหม่ โจทย์เดียวกันหมดเลยคือ โลกกำลังจะเปลี่ยน อาชีพจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเองตามไปด้วย


นี่คือยุคที่ต้องทิ้งคำว่าอาชีพ นี่คือยุคที่เราใช้ทักษะทำมาหากิน เมื่อก่อนเราพูดว่าคนที่รักษาคนต้องเป็นหมอ คนเรียนวาดเขียนต้องเป็นจิตรกร แต่เดี๋ยวนี้ทักษะการรักษาคนอาจไม่จำเป็นต้องเป็นหมอก็ได้ จะเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพก็ได้ หรือไปผลิตอาหารสุขภาพก็ได้ หรืออยู่ฟิตเนสดูแลคนเจ็บป่วยก็ได้ ฉะนั้นถ้าเราเอาทักษะเป็นตัวตั้งเราจะเห็นโอกาสที่หลากหลายมากขึ้น”


อย่าเพิ่งนอยด์ เรามีในสิ่งที่ AI ไม่มี และทำแทนไม่ได้

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มใจแป้วว่า เอ๊ะ แล้วฉันจะรอดไหมเนี่ย อย่าเพิ่งตกใจ เพราะเรามีในสิ่งที่เทคโนโลยีและ AI ไม่มี


“อาจารย์/ผู้สอนจะถูกแทนแน่นอน แต่ไม่ได้ถูกแทนได้ทั้งหมด ถ้าเกิดเป็นอาจารย์สอนที่เปิดแต่สไลด์ ให้ลูกศิษย์เปิดยูทูบดูก็ได้ อันนี้ถูกแทนแน่นอน แต่ลองนึกดูว่าระหว่างนั่งเรียนหน้ายูทูบกับเรียนวาดรูปกับอาจารย์เฉลิมชัย จะเลือกอะไร มันมีบางอย่างที่ต่อให้เป็นหุ่นยนต์ซับซ้อนแค่ไหน ก็ไม่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของสิ่งเหล่านี้ได้ มนุษย์แสวงหาอะไรมากกว่าแค่การเป็นเครื่องจักรของเหตุและผล เราเกิดมาเพื่อบางอย่าง ฉะนั้นก็เป็นยุคแห่งโอกาสเหมือนกันนะว่าในเมื่อมันมีเทคโนโลยีทำให้เรามีศักยภาพมากกว่าเดิม เราจะดันตัวเองให้เก่งไปถึงไหน”

เตรียมพร้อมทุกขั้น มั่นใจทุกก้าว

จะอยู่รอดและไปต่อได้ในโลกอนาคตได้ ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่เด็ก โรงเรียน การทำงาน ภาคธุรกิจ ไล่ไปจนถึงระดับรัฐ


พ่อแม่: เตรียมลูกสู่โลกเทคโนโลยี ความรู้พื้นฐานต้องแน่น

ความเข้าใจผิดๆ คือการเตรียมลูกในโลกเทคโนโลยี คือให้ลูกชินกับเทคโนโลยีตั้งแต่เด็กๆ มันไม่ใช่ ยิ่งเทคโนโลยีมีความซับซ้อนเท่าไหร่ ยิ่งต้องเตรียมองค์ความรู้พื้นฐานให้มากขึ้น เขาจะรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องวางแทบเล็ตแล้วต้องไปอยู่ในโลก


มีพ่อแม่ไม่รู้จะทำอะไรกับลูก ขี้เกียจเล่านิทาน แล้วยื่นมือถือให้ลูกเลย เด็กจะไม่มีการยับยั้งชั่งใจ แต่พ่อแม่ที่เตรียมลูกให้ดีก่อนแล้วปล่อยเข้าสู่เทคโนโลยี เขาจะไม่โดนมันกลืน เขาจะไม่ใช่คนสมาธิสั้น เขาจะรู้ว่าควรเลือกหรือไม่เลือกอะไรมาใช้ เขาจะรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องวางแทบเล็ตแล้วต้องไปอยู่ในโลก พ่อแม่ต้องสอนให้รู้ว่าเทคโนโลยีไม่ใช่ตัวแทนพ่อแม่ แต่มาเพื่อเป็นทาสเรา อย่าให้มันมาครอบงำ


แต่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ติดเกมมาก เขาเอาแทบเล็ตไปใช้ทำงาน การบ้านที่เมื่อก่อนจะต้องรอโทรศัพท์ ก็ไลฟ์คุยกัน วาดในบอร์ดของตัวเอง ให้เพื่อนเห็นพร้อมกัน ช่วยกันแก้โจทย์ไปด้วยกันโดยไม่ต้องเจอกัน ดึงความรู้จากทุกที่มาแชร์กันได้ นี่คือเทคโนโลยีตัวเดียวกับที่เล่นเกม มันขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่เตรียมเด็กอย่างไร และเตรียมเขาพร้อมแค่ไหน

สถานศึกษา: ใช้เทคโนโลยีขยายพลังให้แข็งแกร่ง

ต้องต่อยอดว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเสริมพัฒนาการและศักยภาพเด็กได้อย่างไร ไม่ใช่ให้คิดแทนเรา เช่นนั้นสมองเราจะฝ่อ แล้วจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งหมด


อีกอย่างคือถ้าเราเจอคนที่ให้เทคโนโลยีคิดแทน อย่าลืมว่าเทคโนโลยีมันก็อปปี้ง่ายมาก AI ตัวแรกสร้างได้ ตัวที่สองสร้างได้ทันทีด้วยการก็อปปี้โปรแกรม แล้วคนสองคนใช้ AI คู่กัน คนไหนใช่เก่งกว่า ขึ้นอยู่กับเขาว่าคิดอะไรได้ดีกว่า


AI เหมือนกับแว่นขยายที่ขยายพลังเรา แต่ถ้าเราไม่รู้จักขยายพลังตัวเอง เราก็ร่วง ใช้อะไรไม่ได้


โลกของการทำงาน: อย่ากลัว เทคโนโลยีจะเป็นมิตรกับเรา

ต้องเริ่มอย่างแรกคือ ต้องมองเทคโนโลยีเป็นมิตร อย่ากลัว มองว่าเราจะใช้มันทำอะไรได้บ้าง ท่าทีที่เราเข้าหาเทคโนโลยีคือสิ่งที่จะมากำหนดอนาคตเรา เทคโนโลยีเป็นกลาง AI ไม่ได้ดีหรือเลว แต่วิธีที่เราเข้าหามัน จะทำให้มันเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูก็ได้


ที่บอกว่าเป็นพนักงานขายในซุปเปอร์สโตร์กำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี กระแสนี้มันเข้ามาตั้งแต่ยังไม่มี AI แล้ว เพราะต่างประเทศเขาลดคนมาตลอด พอเป็นอย่างนี้เราจึงเกลียดเทคโนโลยี เพราะมาแทนฉัน  แต่ทำไมไม่มองว่า ถ้าเราเอาเทคโนโลยีแบบนี้ไปใช้เหมือนกัน ไปเปิดร้านชำเล็กๆ ไม่ต้องมีต้นทุนเยอะ ก็สบายได้


เทคโนโลยีที่มาแทนที่ เอาจริงๆ มันสร้างงานให้เราได้นะ ถ้าเราทำมันดีพอ

โมเดลธุรกิจ: เอา AI มาเสริมศักยภาพจะยิ่งรุ่ง

การวางยุทธศาสตร์ของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพของบริษัท ถ้ามองเทคโนโลยีในเชิงลดต้นทุน เราจะไล่คนออกหมด แต่ถ้าเอาเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพของคน ปรับมุมมองว่าจะทำอย่างไรให้คนสามารถเอาเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละแผนก แต่ละหน่วยงานให้คล่องตัว เราจะดีไซน์องค์กรใหม่อย่างไรให้คนเป็นแกนกลาง แล้วเทคโนโลยีเข้ามาทำให้คนพวกนี้เก่งขึ้น

ยกตัวอย่าง  Amazon เขาบอกว่าในอนาคตจะมีร้านชำอัตโนมัติ คนจะสั่งออนไลน์ แต่เขายังต้องใช้คน เพราะสุดท้ายแล้ว มิติความเป็นคนยังสำคัญ AI ไม่มีความรู้สึก ฉะนั้นการตัดสินใจบนเหตุผล 100%  โอกาสผิดเยอะกว่าเหตุผลบวกสัญชาตญาณ อย่าลืมว่าธุรกิจต้องทำกับคน เพราะถ้ามีแต่หุ่นยนต์กับหุ่นยนต์ มันไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ธุรกิจทำเพื่อหาเงิน ฉะนั้นถ้าธุรกิจยังต้องยุ่งกับคน


รัฐบาล: ตี ‘เทคโนโลยีให้แตก’ ยุทธศาสตร์ชาติจะยิ่งชัดเจน

รัฐบาลทำหน้าที่ประเมินภาพใหญ่ หากเรามียุทธศาสตร์ชาติชัดเจนว่าต้องการเทคโนโลยีเพื่อเสริมศักยภาพคนไทย ทำให้คนไทยทุกคนมีงานทำแบบเก่งขึ้น ถ้าโจทย์เป็นแบบนี้ ยุทธศาสตร์ วิธีคิดก็จะยิ่งชัดเจน

ความเปลี่ยนแปลงคือความงาม

“อย่ามองว่าเป็นความเสี่ยง เพราะจะทำให้รู้สึกเชิงลบ ควรมองว่ามันคือความเปลี่ยนแปลง ทุกการเปลี่ยนแปลงมันมีความงามและโอกาส


โลกหน้าจะเป็นโลกที่แยกคนชัดกว่าที่ผ่านมา เพราะการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมันทดสอบคน บททดสอบของการเปลี่ยนแปลงจะเทสต์ว่าใครผ่านไม่ผ่าน เมื่อก่อน 25 ปี 30 ปี ถึงเกิดวิกฤตสักครั้งหนึ่ง เช่นปี 40 ต้มยำกุ้ง แล้วเป็นอีก 10 ปีถึงจะเกิด hamberger crisis แต่หลังจากนี้บททดสอบจะมาถี่ การทดลองจะเยอะ เราอาจจะเจอ test รายเดือน รายปีด้วยซ้ำไป”