อยู่กับ “เงิน” อย่างไรให้มีความสุข

เงินมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งแม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวจริงหรือ? หลายคนอาจบอกว่า “เงิน” ทำให้ความสัมพันธ์แข็งแรงขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่ในทางกลับกันเงินอาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายครอบครัว เพราะทุกวันนี้เงินกลายเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ บางครั้งคนเราก็แสดงว่ารักกันเพียงเพราะผลประโยชน์ที่ตัวเองได้รับ

ในความจริงเราต้องตระหนักว่าเงินเป็นแค่เหรียญหรือกระดาษอะไรบางอย่างที่ถูกสมมติขึ้นมา ซึ่งสามารถสร้างความสุขให้เราเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งที่ซื้อหรือขายไม่ได้ หลายคนมุ่งมั่นแค่จะหาเงินให้ได้มากๆ จนสุดท้ายไม่มีเวลาที่จะใช้กับคนที่รัก แน่นอนว่าการมีเงินมากๆ เป็นเรื่องสุดยอด แต่ถ้าเราไม่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างการหาเงินกับการใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง สุดท้ายแล้วถึงจะมีเงินมากแต่เราก็ไม่สามารถมีความสุขที่แท้จริงได้ เราอาจมีเงินมากมายที่จะสามารถเที่ยวได้รอบโลกแต่จะมีความสุขได้อย่างไรถ้าเราต้องไปเพียงลำพัง

สิ่งสำคัญในชีวิตคนเราคือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว กับครอบครัวกับเพื่อนฝูงเพื่อสร้างความสุขในชีวิต ช่วยทำให้เรามีจิตใจที่แข็งแรง เพราะคนที่รักเราจะยอมรับในตัวเราไม่ว่าจะเป็นมุมบวกหรือมุมลบ ถึงแม้ว่าชีวิตอาจจะลำบากถ้าเราไม่ร่ำรวย แต่การมุ่งที่จะหาเงินเพียงอย่างเดียวอาจมีผลต่อสุขภาพใจและทำลายความสัมพันธ์กับคนที่มีค่าต่อเราได้ ต้องสร้างความสมดุลอย่าหลงอยู่กับเงิน แค่รู้ว่ามันคือเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการดำเนินชีวิตก็แค่นั้นเอง

bn

อาจมีบางเวลาในรอบปีที่ความสัมพันธ์ของเรากับเงินมาถึงจุดที่ก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล จากผลการวิจัยพบว่าในบางจังหวะของชีวิตคนเราอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสัมพันธ์กับเงิน เราไม่รู้สึกว่าเรากับเงินมีความสัมพันธ์กันแม้แต่น้อย และหลายๆ ครั้งเราไม่อยากพูดถึงเรื่องเงิน ผลการวิจัยยังพบว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องที่พูดยากที่สุด การต้องมีบทสนทนาเรื่องเงินทำให้หลายคนอึดอัด และจากการศึกษาเดียวกันยังพบอีกว่าคนรู้สึกว่าการพูดเรื่องเซ็กหรือความตายยังง่ายกว่าพูดเรื่องเงินด้วยซ้ำไป

ในมุมมองด้านจิตวิทยา อาจพูดได้ว่าเงินเป็นเหมือนเงาในตัวเรา เราวัดคุณค่าของตัวเองตามจำนวนเงินที่เรามี หรือคิดว่าควรจะมี หลายๆครั้งเราอาจรู้สึกว่าเราเป็นทาสของเงิน พยายามที่จะหาเงินให้มากขึ้นๆ และบ่อยครั้งที่เรานั่งคิดว่าทำไมเงินไม่มาหาเราในวิธีการที่เราทำ ความรู้สึกลึกๆ ในใจอาจบอกตัวเองว่าเราไม่มีความสามารถมากพอที่จะเป็นเจ้าของเงินจำนวนนั้น มันเป็นสามเหลี่ยมความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา การให้คุณค่าของตัวเราและเงิน

เงินยังมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมและวัฒนธรรมที่เราอยู่  สังคมมักชื่นชมคนที่มีความมั่งคั่ง คนที่กระหายเงินกลายเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ “Greed is Good” ถึงแม้เราจะพูดว่าเงินเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการแลกเปลี่ยน แต่ในความจริงเงินก็เป็นพลังสำคัญที่ต้องใช้ในการดำเนินชีวิต สร้างความมั่นคง สร้างอำนาจ สร้างอิสรภาพ ความสะดวกสบาย และสิ่งอื่นๆ อีกมากมายในชีวิตของเรา

เงินทำให้เรามีความสุขได้จริงหรือไม่?

โดยสัญชาติญาณเราจะรู้ลึกๆ ว่าแท้จริงแล้วเงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุขได้อย่างแท้จริง เมื่อเรามีเงินมากถึงจุดหนึ่ง ระดับความสุขของเราจะหยุดแม้ว่าเราจะมีเงินมากขึ้นอีกแต่เราก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นตามจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นอีกแล้ว เพราะความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับเงินไม่ได้เดินคู่กันไปตลอดเวลา ความสุขที่ได้จากการมีเงินจะหยุดแค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งจุดอิ่มตัวของเงินกับความสุขของแต่ละคนอาจต่างกัน ทฤษฎีนี้ได้รับการยืนยันจากการศึกษาที่ชื่อว่า Hedonic Treadmill ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเงินที่แต่ละคนหาได้กับความสุข ยิ่งคนมีความต้องการเงินมากเท่าไหร่และพยายามหาเงินได้มากยิ่งขึ้น กลับปรากฎว่าความสุขที่ได้จากการมีเงินมากขึ้นไม่ได้สูงตามและเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน

นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ Oliver James ศึกษาเรื่องการระบาดของโรคทางจิตวิทยาในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ในกลุ่มคนที่เรียกว่า Affluenza (คนหนุ่มสาวที่ร่ำรวย แต่ไม่มีแรงจูงใจ รู้สึกผิดและรู้สึกโดดเดี่ยว) Oliver James กล่าวว่า คนที่มั่งคั่งกลายเป็นพวกวัตถุนิยม จากการศึกษาของ James กล่าวว่า ความคลั่งไคล้ในวัตถุส่งผลให้คนเกิดความเครียด ความวิตกกังวล และความยึดติด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรากับเงินเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน อย่างที่ James Hillman เขียนไว้ในปี 1982 ว่า เงินเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องจำเป็น หยุดมีไม่ได้ เงินเป็นยิ่งกว่าพระเจ้า (“Money problems are inevitable, necessary, irreducible, always present, and potentially if not actually overwhelming. Money is devilishly divine.”) เงินสามารถดึงจิตวิญญาณ หรือทำให้คนกลายเป็นพวกวัตถุนิยม ซึ่งความเป็นจริงแล้วในตัวของเงินไม่ได้มีทั้งสองอย่างนั้นไม่ได้มีทั้งจิตวิญญาณหรือเป็นวัตถุนิยม แต่คนต่างหากที่เชิดชูคุณค่าของการมีเงิน ถ้าเราเข้าใจว่าเงินเป็นแค่เครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเราอาจจะพูดว่า “ฉันอยากเป็นคนที่มีรายได้เยอะๆ ต้องการมีของใช้ที่ดีมีราคาแพง แต่ในขณะเดียวกันฉันก็อยากเป็นคนดีด้วย”  Hillman พยายามเสนอว่า ทั้งเงินและจิตวิญาณควรอยู่คู่กัน เป็นการยากที่มนุษย์เราจะสามารถแยกวัตถุและจิตวิญญาณออกจากกันได้  ถ้าเราลองมองย้อนกลับมาที่เทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ เช่น วันคริสต์มาส หรือวันขึ้นปีใหม่ เราจะพบว่ามันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกระหว่างเงินกับเรื่องจิตใจ เราต้องการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสเพื่อรำลึกถึงพระเยซู และฉลองเทศกาลวันหยุดยาวมีความสุขร่วมกับคนในครอบครัวเราก็ต้องใช้เงิน ใช้เงินเพื่อซื้ออาหารมาเลี้ยงฉลอง ใช้เงินเพื่อซื้อของขวัญที่มีคุณค่าให้กับคนที่เรารัก  หรือเราต้องการสร้างบุญกุศลด้วยการสร้างโบสถ์ สร้างวิหารเรามีจิตศรัทธาแต่เราก็ต้องใช้เงิน ดังนั้นชีวิตเราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีความสัมพันธ์กับเงินและอยู่กับเงินไปจนลมหายใจสุดท้าย แต่จะอยู่อย่างไรให้ไม่ตกเป็นเบี้ยของเงิน  ถ้าเราหาจุดสมดุลระหว่างการครอบครองวัตถุที่หาซื้อได้ด้วยเงินกับความสุขทางใจ เงินกับเราก็จะมีมิตรภาพที่ดีต่อกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


อ้างอิง

https://welldoing.org/article/psychology-money-what-does-our-relationship-money-say-about-us


https://www.stumagz.com/in/influence-of-money-on-human-relations-/