หลงรักสวนครัวขนาดนี้ อย่าปล่อยรายได้ดีๆ ลอยนวล

ความหลงใหลรักการปลูกพืชผักสวนครัว ทำให้หลายคนเพลินกับการเพิ่มกำลังการผลิตจนเกินการบริโภคในครัวเรือนตัวเอง หรือบางครั้งอาจมาจากการเผลอใจกดสั่งอุปกรณ์ปลูกผักน่ารักๆ จนทำให้ขนาดการปลูกใหญ่โตกว่าที่คิด ถ้ารู้สึกรักในการปลูกผักขนาดนี้ ลองขยายความรักเป็นครอบครัวใหญ่ ต่อยอดสิ่งที่ปลูกให้เติบโตและสร้างโอกาสที่ไกลกว่าเดิม นอกจากได้เติมความสุขแล้ว เผลอๆ ยังสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ด้วย เรียกว่าลงมือทำครั้งเดียวแต่ได้ผลบวกในระยะยาวกันไปเลย

 

1. เริ่มต้นจากแบ่งปันก่อนลงสนามขายจริง


หากปลูกผักสวนครัวอินทรีย์แบบไร้สารเคมีได้ผลผลิตมากพอ ควรเริ่มต้นจากการ “แบ่งปัน” กับคนรอบตัวก่อน เพื่อจะได้เป็นการทดลองระบบ เรียนรู้ข้อผิดพลาด ฟังคำแนะนำจากลูกค้าจำลองเหล่านั้น และนำปรับปรุงก่อนเริ่มสตาร์ทสู่สนามการขาย และยังถือเป็นการจุดประกายส่งต่อความรู้สึกดีๆ ที่ได้กินผักสดสะอาดและหวานกรอบให้คนอื่นไปก่อน จากนั้นค่อยเริ่มเข้าสู่การเป็นแม่ค้ามือใหม่ เริ่มวงแคบๆ ในกลุ่มญาติสนิทมิตรสหาย และใช้การบอกต่อในหมู่เพื่อนที่ทำงาน กลุ่มคนในหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม หรือชุมชนเดียวกัน เชื่อเถอะว่าอานุภาพของปากต่อปากเมื่อได้พบ “ของดี” จะเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้เราก้าวสู่วงการแม่ค้าพ่อค้าได้ไม่ยาก

homegrown-vegetable-income-01

2. ผักสดที่แตกต่างและอัดแน่นด้วยคุณค่า


การหาจุดแตกต่างหรือเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่เดิม มักจะได้รับการตอบรับที่ดีกว่าเสมอ การปลูกผักสวนครัวก็เช่นกัน นอกจากปลูกผักพื้นฐานทั่วไป ลองมาปลูกผักที่มีคุณสมบัติดีต่อสุขภาพ เช่น ผักที่ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาหรือราชินีให้สารคุณประโยชน์ประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือการปลูกผักแบบไมโครกรีน (ยอดต้นอ่อนของเมล็ดผักต่างๆ) ที่ขนาดต้นสูงไม่เกิน 3 นิ้ว แต่คุณค่าที่ได้เกินกว่าความสูงนั้นมาก เพียงแต่ต้องคัดสรรเมล็ดที่ดีและดินที่สะอาดเพียงพอ


3. ร่ายเป็นเมนูชูสุขภาพดี


หนึ่งในการขยายผลที่ดีอีกอย่างสำหรับคนที่มีต้นทุนเรื่องฝีมือการทำอาหาร หรือมีเคล็ดลับเมนูเด็ด คือการนำไปสร้างสรรค์รเป็นอาหารเมนูต่างๆ ทั้งแบบสดหรือแบบปรุงสุก แรกๆ อาจทำขายในวันหยุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ถ้ามีพื้นที่บริเวณบ้านก็อาจเปิดมุมเล็กๆ ไว้สำหรับลูกค้า หรือถ้ามั่นใจในการทำสวนผักตัวเองก็เปิดให้เข้ามาชมสวนผักสวนครัวเล็กๆ เพื่อให้คนซื้อมั่นใจถึงกระบวนการที่สะอาดเอี่ยม หรือหากมีกำลังผลิตมากพอ อาจลองกระโดดเข้าสู่การขายออนไลน์แบบไม่พึ่งหน้าร้านดู สมัยนี้มีแอปพลิเคชันที่ช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการรายเล็กมากมาย เช่น Robinhood จาก SCB ที่ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ เช่นกัน ไม่มีค่าสมัคร  ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) ร้านอาหารได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ทำให้สามารถขายอาหารที่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม


4. ปั้นสิ่งที่อยู่ในดินให้เป็นดาว


เกษตรยังสามารถแปรรูปส่ิงที่ใช้ในทุกกระบวนการ เสมือนการปั้นดินขึ้นมาเป็นรายได้อีกมากมาย เช่น ปรุงดินหรือปุ๋ยพร้อมปลูก ยิ่งเมื่อดินมีระบบบนิเวศน์ดีก็จะมีไส้เดือนมากมาย นำไปสู่การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อขายมูลไส้เดือน รวมถึงผลผลิตที่รังสรรค์มาจากผักสวนครัวอีกหลายอย่าง อาทิ ชาดอกไม้ หรือผลิตเครื่องดื่มน้ำผักเพื่อสุขภาพ หรือนำไปแปรรูปเป็นของชำระล้างอย่างแชมพูสระผมจากอัญชันหรือมะกรูด ปัจจุบันมีคอร์สอบรมให้เรียนและฝึกปฏิบัติมากมาย สำหรับคนที่ต้องการจริงจังกับการสวมบทเกษตรกรในระดับสูงไปอีกขั้น

5. ออฟไลน์และออนไลน์เป็นของคู่กัน


ไม่ว่าจะขายของเป็นผลผลิตสด ผ่านการปรุงสุกและแปรรูปมา ส่วนใหญ่การค้าขายมักเริ่มต้นแบบออฟไลน์ใช้การบอกต่อกับคนใกล้ชิด แต่อย่าลืมว่าควรเตรียมตัวไปสู่หนทางช่องทางออนไลน์ด้วย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะคนในเมือง ต่างใช้ช่องทางการตลาดในโลกออนไลน์สรรหาวัตถุดิบและรสชาติอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราเตรียมตัวให้ดีและเดินไปพร้อมกันทั้งสองทาง ลองดูว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นใคร แล้วสร้างแพลตฟอร์มและระบบไว้สื่อสาร เช่น สร้างบัญชีผู้ใช้แอปพลิเคชันไลน์ หรือ Messenger เชื่อมเฟซบุ้คให้ผู้ซื้อเลือกดูสินค้า ราคา และสอบถามข้อมูลได้ทันท่วงที


ด้วยวิธีการเหล่านี้ การทำการเกษตรในแบบที่รัก จึงสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้ครอบครัวมีความมั่นคงได้อีกทาง ไม่แน่นะ! งานนี้อาจะมีใครหลายคนที่เฝ้ามองและอยากมาลองทำตามก็ได้


ที่มา
http://www.thaicityfarm.com/2019/06/12/เพาะงอกง่ายๆ-ได้กินไวทั/
http://www.thaicityfarm.com/category/ชวนปรุง/ห้องครัวคนเมือง/
https://www.sentangsedtee.com/career-channel/article_40502
https://goodlifeupdate.com/healthy-body/141131.html
https://www.posttoday.com/social/goodstory/627027