8 วิธีดูแลกระเป๋าสตางค์ให้กระเป๋าตุง

เมื่อโควิด-19 พ่นพิษไปทั่วโลก แม้เราจะรักษาสุขภาพกายให้รอดพ้นจากโรคร้าย แต่มิวายที่ผลพวงจะลุกลามมาถึงสุขภาพเงินในกระเป๋า ในยามที่หลายคนยังต้องตื่นมาลุ้นรายวันว่า ค้าขายวันนี้จะรุ่งหรือรอด หรืองานที่ทำวันนี้จะยังมั่นคงดีหรือไม่ วันนี้เราจึงชวนมาลดความรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กลายมาเป็นความอุ่นใจด้วยการเก็บเงิน และลดรายจ่ายให้ปลิดปลิวจากกระเป๋าสตางค์ให้น้อยที่สุดดีกว่า


1. เปลี่ยน Mindset หรือกระบวนการทางความคิด ตั้งรับให้ทันและยอมรับให้มั่นว่าผลกระทบโควิด-19 อาจมาแวะพักร้อนบนโลกระยะยาวหน่อย แบบยังไม่มีกำหนดเช็คเอาท์ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการบอกกับตัวเองว่า “เราจะต้องเป็นผู้อยู่รอดจากวิกฤตนี้ให้ได้” เมื่อตั้งใจแล้วก็จดจำเป็นคาถาไว้ว่า จากนี้ไปต้องใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น โอบกอดเงินสดไว้ให้ได้มากที่สุด ยิ่งถ้ามีโอกาสหารายได้เพิ่มเมื่อใด ใส่เกียร์ลุยไม่ยั้ง!

8-wallet-money-01

2. กำหนดค่าใช้จ่ายรายวัน ให้แอปพลิเคชันเป็นผู้ช่วย ตั้งโจทย์ให้ตัวเองเลยว่า จะมีค่าใช้จ่ายรายวันกี่บาท พร้อมทำรายรับรายจ่ายแบบใหม่ที่ช่วยสะท้อนการใช้ชีวิตแบบเรียลไทม์ ด้วยการโหลดแอปพลิเคชันมาจัดสรรและ ส่งสัญญาณเตือนว่า ตอนนี้เงินจะเริ่มติดลบแล้ว ซึ่งมีแอปพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดฟรีมากมาย เช่น Money Lover, Money Manager Expense & Budget, Oh My Cost หรือ Metang เป็นต้น


3. ประหยัดอะไรได้ก็ประหยัด ค่าใช้จ่ายหรือการซื้อของหลายอย่างถ้าหาเพื่อนมาร่วมหารได้ก็ช่วยให้จ่ายน้อยลงกว่าต้องจ่ายคนเดียวทั้งหมด ลองหาเพื่อนร่วมหารได้จากแอปพลิเคชั่น “ PartyHaan ” ที่สร้างมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ที่สำคัญอย่าสร้างหนี้เพิ่ม หันมาโฟกัสกับการใช้หนี้ที่มีอยู่ก่อน เพราะไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะซึมลึกยาวขนาดไหน


4. อย่าหมิ่นเงินน้อย หมั่นเก็บเงินยิบย่อยที่อาจเปลี่ยนเป็นเงินสำรองฉุกเฉินในอนาคต กลับบ้านแต่ละวัน ลองเก็บแบงก์ย่อยหรือเศษเหรียญมาหยอดกระปุก จะถือเป็นการเก็บเงินทางอ้อมที่อาจให้ผลลัพธ์เกินคาดในวันหนึ่ง

5. ใช้เหตุผลนำอารมณ์ ก่อนตัดสินใจ CF หรือสวมบทเสือโอนไวสินค้าอะไรก็ตาม ลองนับหนึ่งถึงสิบในใจ ใช้เหตุผลเป็นตัวนำในการตัดสินใจ มากกว่าใช้อารมณ์ ‘อยากได้’ เป็นคำตอบ หันมาคอนเฟิร์มที่ใจตัวเองว่า ของชิ้นนั้นจำเป็นหรือไม่กับชีวิต อย่ามองแค่สินค้านั้นราคาถูกหรือมีโปรโมชั่นพิเศษ


6. DIY เพราะเป็นยุคประหยัดอะไรที่คิดว่าซ่อมได้ซ่อมไปก่อน หรือของบางอย่างที่เก่าและโทรม อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจทิ้ง ลองนำมาปรับแต่งแบบ Do it yourself ก่อน อาจทำให้รู้สึกเหมือนได้ใช้ของใหม่ ที่มาพร้อมกับความภาคภูมิใจในฝีมือตัวเอง เช่น เฟอร์นิเจอร์บางอย่างที่ต้องใช้มากขึ้นในช่วง Work From Home ถ้านำมาปัดฝุ่นตกแต่ง เปลี่ยนผ้าปูใหม่ๆ แค่นี้ก็อาจจะสร้างบรรยากาศดีๆ กว่าการไปทุ่มซื้อของใหม่แล้วก็ได้


7. กินสิ่งที่ปลูก ปลูกสิ่งที่กิน ช่วงเก็บตัวอยู่บ้านหนีโควิด-19 หนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนลองทำคือ ปลูกผักไว้กินเอง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนเริ่มติดใจ เพราะไร้ยาฆ่าแมลงดีต่อสุขภาพตัวเองและครอบครัว แถมยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้แน่นอน โดยเฉพาะบ้านที่มีครอบครัวใหญ่

8. ฝึกงานอดิเรกให้เป็นอาชีพที่สอง เป็นวิธีที่ไม่มีเอาท์ ตราบใดที่การทำอาชีพเดียวยังถือเป็นความเสี่ยง เพราะไม่มีใครการันตีได้ว่างานที่ทำอยู่จะมั่นคงเป็นเสาเอกที่ล้มไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่จะฝึกปรืองานอดิเรกที่ชอบจน สามารถเป็นจุดขายให้ตัวเอง หรือพัฒนาเป็นอาชีพที่ 2 เป็นการหารายได้เพิ่มให้กระเป๋าสตางค์ได้ อย่างที่เราเห็นมา แล้วในตลาดซื้อขายแบบรวมกลุ่มเฉพาะกิจที่ผุดเป็นดอกเห็ดที่มีหลายคนสามารถเอาดีกับการใช้ฝีมือของตัวเองมาสร้าง รายได้เสริม เช่น ทำอาหาร, ทำเบเกอรี, ขายงานฝีมือ ถ่ายภาพ ฯลฯ


ถ้าสามารถลองทำได้หมดทุกข้อ เชื่อได้ว่าจะกี่มีอีกกี่วิกฤตเข้ามาท้าทาย คุณก็สามารถทำให้กระเป๋าสตางค์ยังตุง ได้อย่างสุขภาพดี อย่างลืมว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่ เราจริงใจและมีวินัยจะทำเรื่องนี้จริงจังแค่ไหน ว่าแล้วจะช้าอยู่ทำไม ลองมาเริ่มลงมือทำกันเลย!