6 วิธีบริหารเงิน บริหารใจ ช่วงวิกฤต

หากศึกษาย้อนไปในอดีต เราจะพบว่าวิกฤตเศรษฐกิจมักจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเป็นวัฏจักรอยู่เสมอๆ หนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้นเหตุเกิดจากประเทศไทย ก็คือ วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ถัดจากนั้นก็จะเป็น US Subprime Crisis หรือ Hamburger Crisis ซึ่งเกิดในปี 2008 ที่เรียกว่าเป็น Hamburger Crisis ก็เพราะว่าต้นเหตุของวิกฤต เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อดูจากปีที่เกิดวิกฤต ทำให้เราพอคาดการณ์ได้ว่า ทุกๆ ประมาณ 10 ปี อาจจะมีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้


เค้าลางของวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่เริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่ปลายปี 2018 ที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา แต่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั่วโลกก็ยังมองว่าไม่น่าจะทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้ เพราะในท้ายที่สุดจีนและสหรัฐอเมริกาก็จะต้องหันมาเจรจาการค้ากัน ซึ่งก็ได้เริ่มเจรจาเฟสแรกกันไปเมื่อปลายปี 2019


อย่างไรก็ตาม โรคอุบัติใหม่หรือ โควิด – 19 ที่เริ่มต้นจากประเทศจีน และระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลก ณ ปี 2020 ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ผลของการเปิดเสรีทางการเงิน ตลอดจนการออกเดินทางได้อย่างเสรีของคน ทำให้วิกฤตที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่วิกฤตของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่จะพัฒนากลายเป็นวิกฤตของคนทั้งโลก นั่นก็แปลว่าเราได้เข้าไปอยู่ในโลกที่มีความผันผวนสูงขึ้น แม้จะไม่เต็มใจก็ตาม


แล้วเราจะทำอย่างไรดี เราจะบริหารเงิน บริหารใจ ในภาวะวิกฤตนี้อย่างไร?

การวางแผนการเงินที่ดี และการตั้งตนให้ไม่อยู่ในความประมาท จะเป็นหนทางที่ทำให้เราสามารถรอดได้ในทุกวิกฤต อันที่จริงการวางแผนการเงิน ควรเริ่มต้นทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากเริ่มวางแผนตั้งแต่วันแรกที่ทำงานได้เลยจะยิ่งดี เราจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดีไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ก็มีคำแนะนำสำหรับการบริหารการเงินในยามวิกฤตมาฝากกัน

1. ‘Cash is the King!’ หรือ ‘เงินสดคือราชา’ เงินสภาพคล่องสำคัญมาก

ตามหลักการวางแผนการเงิน เราควรมีสภาพคล่องอย่างน้อย 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งทำให้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือถูกให้ออกจากงาน (Lay Off) กะทันหัน เราจะได้อยู่ต่อไปได้อีก 3 - 6 เดือน แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ยังไม่อาจประเมินได้ว่าผลกระทบจากโรคระบาดจะอยูไปนานอีกเท่าไหร่ สภาพคล่อง 3 - 6 เดือนที่เราเตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ เราจึงควรมีแผนสำรองอื่นๆ เตรียมไว้ด้วย


การลงมือทำขั้นนี้
คือ เราต้องไปรวบรวมเงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด (อะไรก็ได้ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงิน หรืออาจรวมไปถึงทองคำ เครื่องประดับต่างๆ) ทั้งหมดว่ามีอยู่เท่าไหร่ จากนั้นก็มาเทียบกับค่าใช้จ่ายต่อเดือนของเรา เพื่อพิจารณาว่าหากเราขาดรายได้ขึ้นมาจริงๆ เราจะอยู่รอดไปได้อีกกี่เดือน


2. การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย

คุณต้องเริ่มรวบรวมรายการค่าใช้จ่ายออกมาทั้งหมด แล้วลองดูว่าอะไรคือค่าใช้จ่ายจำเป็น อะไรคือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ให้ตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทิ้งทั้งหมด นอกจากนี้ หากคุณมีหนี้สิน ที่เริ่มรู้สึกว่าอาจจะจ่ายไม่ไหว คุณต้องรีบติดต่อสถาบันการเงินที่คุณเป็นหนี้อยู่ เพื่อดูว่าจะมีมาตรการอะไรที่พอจะช่วยเหลือ หรือบรรเทาสถานการณ์ได้ ซึ่งตอนนี้หลายๆ ธนาคารก็ออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารอยู่ คุณต้องรีบติดต่อธนาคารของคุณทันที


การลดรายจ่ายสำคัญอย่างไร สำคัญที่หากคุณลดรายจ่ายลงได้ จะทำให้คุณใช้สภาพคล่องของคุณได้นานขึ้น ทำให้คุณได้พอหายใจ หายคอได้ และมีเวลาตั้งหลักเพื่อหาทางออกที่ดีในลำดับถัดไปได้

3. ประกันสุขภาพสำคัญมาก

หากขัดสนเงินทองจนไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ อย่างน้อยอยากให้คุณกัดฟันจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หรือไม่ก็ต้องมาทบทวนว่าคุณมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอะไรบ้าง ประกันสังคม บัตรทอง? ต้องเช็กสิทธิ์โดยด่วน เพราะมิเช่นนั้น หากเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา แล้วไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล คุณก็ต้องใช้เงินเก็บของคุณมาจ่ายค่ารักษา ยิ่งทำให้เงินเก็บของคุณร่อยหรอยิ่งขึ้นไปอีก

 

4. หารายได้เพิ่ม

ซึ่งอาจทำได้โดย ของอะไรที่มีอยู่ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์เนม หากสามารถขายแล้วเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ให้ขายซะ (สำหรับคนที่รู้ตัวว่ามีสภาพคล่องไม่พอ)​ นอกจากนี้ลองพิจารณาว่า เรามีความเชี่ยวชาญอะไร ที่สามารถเปลี่ยนความเชี่ยวชาญนั้นเป็นเงินเป็นทองได้ หรือลองมองไปรอบตัวว่า ตอนนี้คนส่วนใหญ่กังวลอะไร กลัวอะไร ต้องการอะไร แล้วเราสามารถหาสินค้าหรือบริการ ที่จะมาตอบสนองความต้องการของคนในตอนนี้ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ คุณก็จะมีหนทางสร้างรายได้ใหม่ๆ ได้ อย่าลืมว่าทุกวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ มองหาให้เจอ แล้วคุณจะผ่านมันไปได้

 

5. ทำอย่างไรกับพอร์ตการลงทุนในปัจจุบันดี

ก็ต้องกลับไปทบทวนสภาพคล่อง และรายจ่ายของตัวเอง ถ้าคิดว่าสภาพคล่องที่มีอยู่เพียงพอที่จะผ่านวิกฤตนี้ได้ และเราไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ (ต้องทบทวนด้วยว่าเป้าหมายการลงทุนในตอนแรกของเราคืออะไร เรามีระยะเวลาลงทุนนานแค่ไหน และเรารับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน)​ ทั้งหมดนี้เราต้องพิจารณาด้วยตัวเอง เพราะเป้าหมาย ความจำเป็น สไตล์การลงทุน และความสามารถในการรับความเสี่ยงเป็นเรื่องเฉพาะตัว เช่น แม้ว่าเราจะมีสภาพคล่องมากพอที่จะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ แต่เราใจไม่ดีเลยเวลาเห็นหุ้นตกหนักๆ และไม่มีความสุขในการลงทุนในช่วงนี้เลย คุณก็อาจจำต้องปรับพอร์ตด้วยการลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง อาจขาดทุนบ้าง อะไรบ้าง แต่ก็นอนหลับสนิทดี แต่ถ้าคุณพิจารณาแล้วว่าสภาพคล่องที่มีอยู่ไม่น่าพอ ถ้าอย่างนั้นอาจจำเป็นต้องขายการลงทุนออกมา ขายขาดทุนก็จำเป็นต้องขาย เพราะในสถานการณ์แบบนี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสภาพคล่องอีกแล้ว สภาพคล่องเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ หากเส้นเลือดใหญ่ขาด แล้วคุณเลือดไหลไม่หยุด คุณอาจตายได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องเอาชีวิตให้รอด ตราบใดที่เรามีชีวิต เราเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

 

6.การบริหารจิตใจในยามวิกฤต

อย่าเสพข่าวสารในด้านลบจนมากเกินไป กำหนดช่วงเวลาของการเสพข่าวสารให้เหมาะสม หางานอดิเรกทำ ซึ่งการได้ทำงานอดิเรกที่รักจะทำให้เรามีความสุข และยิ่งหากคุณสามารถแปลงงานอดิเรกที่รักให้กลายเป็นรายได้ได้ จะยิ่งดีเป็นหลายเท่า เอาเวลาที่จะวิตกกังวลมาใช้เพื่อหาหนทางใหม่ๆ กันดีกว่า ที่สำคัญอย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย ทานอาหารที่ดีและเป็นประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ และไม่เครียด เพราะกำลังใจที่ดีและการมีสติสำคัญมาก ไม่มีอะไรที่ดีตลอดไป และก็ไม่มีอะไรที่แย่ตลอดไป ในช่วงทุกๆ 10 ปีโดยประมาณ จะเกิดวิกฤตหนักๆ สักครั้ง มันคือบททดสอบที่จะทำให้เราแข็งแรงและเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งหากเรามีสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงแค่ไหน เราก็จะผ่านมันไปได้อย่างแน่นอน

 

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร