เรียนรู้จากเคยล้ม(ละลาย)

ใครจะรู้ว่ากว่าจะเป็นคนหน้ากล้องที่ประสบความสำเร็จมีชีวิตที่สวยงามอย่างในวันนี้ ชีวิตอาจเคยพังเป็นนางฟ้าตกสวรรค์มาก่อน จากคุณหนูลูกเจ้าของบริษัทที่ชีวิตมีครบทุกอย่าง อยู่บ้านหลังใหญ่ ขับรถคันหรู แต่ชีวิตต้องผลิกผันในวันที่ครอบครัวล้มละลาย มีหนี้กว่า 20 ล้านบาท! เธอมีวิธีคิดอย่างไร ต่อสู้แบบไหน จึงสามารถลุกกลับขึ้นมายืนใหม่ในชีวิตฟ้าหลังฝนได้อย่างสง่างาม มาฟังวิธีสู้ชีวิตพลิกวิกฤตหนี้สู่เส้นทางการงานและการเงินที่มั่นคงจากคุณหญิง กัญญา ไรวินทร์ นักแสดง พิธีกรและนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง รวมทั้งบทบาทของนักธุรกิจกับกิจการอีกหลายที่ต้องดูแล

1

พิษต้มยำกุ้งเปลี่ยนคุณหนูไฮโซเป็นเด็กสาวจอมถึก

จากชีวิตนิสิตจุฬาฯ ชั้นปีสอง ที่ชีวิตมีครบทุกอย่าง แต่ชีวิตกลับต้องผลิกผันในชั่วข้ามคืน เพราะครอบครัวล้มละลายมีหนี้กว่า 20 ล้านบาท ต้องเปลี่ยนจากการอยู่บ้านหลังใหญ่โตไปอยู่ทาวน์โฮม ขายรถเบนซ์มาใช้รถญี่ปุ่นธรรมดาๆ ซึ่งเธอเป็นคนบอกให้คุณแม่ขายรถเอง เพราะอายที่ขับรถหรูหราแต่ไม่มีเงินในกระเป๋า หลังจากนั้นต้องตัดใจ เปลี่ยนแปลงตัวเอง เอาของใช้ฟุ่มเฟือยของแบรนด์เนมไปขาย  อะไรที่ขายได้ขายหมด เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินมาดูแลครอบครัว แต่ฟ้าก็ไม่โหดร้ายเกินไปกับเด็กสาวที่กตัญญู เธอมีโอกาสได้เข้ามาทำงานในวงการบันเทิง เริ่มแคสงานถ่ายโฆษณา มีงานที่ไหนก็ไปหมด ทั้งๆ ที่บางงานรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้แต่ก็ไป เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองสำหรับงานอื่นๆ ในอนาคต ทำงานถึกแบบไม่เลือก ไม่เกี่ยง ไม่เคยปฏิเสธงาน ถ้างานนั้นไม่ทำร้ายใครและเป็นงานสุจริต “มีงานหนึ่งได้เงินแค่สามพันบาทแต่ทำสองวันได้หกพันก็เลยไป” คุณหญิงเล่าถึงความอดทนไม่หมิ่นเงินน้อย เคยรับงานโฆษณาติดกันสามตัว ทำงานหนักมากเพื่อเก็บเงินผ่อนบ้าน พยุงครอบครัว “ แปรงสีฟันไม่เคยแห้ง เลิกงานตีหนึ่ง หกโมงเช้าต้องทำงานต่อ เหนื่อยแต่มีความสุข” ทำงานเองรับงานเองทุกอย่างโดยไม่มีผู้จัดการ สุดท้ายด้วยความขยันและฉลาดใช้เงินก็สามารถเก็บเงินผ่อนบ้านสี่ล้านกว่าบาทในได้เวลา 8 ปี “วันที่ผ่อนบ้านหมด เห็นโฉนดตราครุฑสีแดงที่เป็นชื่อเรา เป็นความภูมิใจ เป็นสมบัติชิ้นแรกในชีวิต” ด้วยความอดทนไม่ย่อท้อทำให้เธอทำเป้าหมายแรกได้สำเร็จทั้งๆ ที่อายุยังน้อย


ติดพลังบวกเพื่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง

จากชีวิตที่มีแต่คนอิจฉาว่าโชคดีเกิดมามีพร้อม เมื่อถึงวันที่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่สบายไม่หรูหราเหมือนเดิม แต่ก็ได้คำคุณแม่ที่บอกว่า “อย่าอายที่เราจน ให้อายถ้าเราเลว” จึงไม่ยึดติดและปรับตัวกับชีวิตใหม่ และเธอยังโชคดีที่มีเพื่อนๆ ที่ดี ที่ไม่ดูถูก ไม่ซ้ำเติมแถมยังคอยช่วยเหลือให้กำลังใจ แบ่งข้าวให้ทาน ขับรถมารับไปเรียน ทั้งคนรอบตัวที่เป็นกำลังใจและพลังบวกในตัวเองทำให้เธออดทนและฝ่าฟันมาได้ ถึงในวันนั้นเด็กสาวอายุแค่ 18 -19 จะต้องร้องไห้บ่อยครั้ง แต่เธอบอกว่า ไม่เคยท้อถึงขั้นคิดจะฆ่าตัวตาย การร้องไห้ทำให้ได้แบ่งเบาและได้ปลดปล่อย  “ ร้องเสร็จตั้งสติเดินหน้าต่อ” คุณหญิงเล่าถึงประสบการณ์การต่อสู้กับความยากลำบากที่ผ่านมา


เมื่อถามว่าตอนนั้นเธอเห็นแสงสว่างในความมืดบ้างมั้ย เธอตอบว่าไม่เห็นแสงสว่าง แต่รู้ว่ามีผืนน้ำอยู่ข้างบนต้องไปให้ถึง ต้องรอด “ไม่ต้องเห็นแสงสว่างก็ได้ แต่เราต้องเชื่อว่ามีแสงสว่างอยู่ และเราต้องไปให้ถึง” นั่นสอนให้เธอแกร่งและอดทนเพื่อทำให้ตัวเองและครอบครัวรอดจากความมืดมิดใต้น้ำไปสู่แสงสว่างเหนือผิวน้ำที่เปล่งประกายระยิบระยับ


บทเรียนเรื่องการเงินและการงานที่ได้เรียนรู้จากวิกฤต

ในเรื่องการเงินวิกฤตทำให้เธอเป็นคนฉลาดใช้เงิน คุณหญิงสรุปบทเรียนเรื่องการเงินให้เราฟังว่าต้อง:

  • มีวินัยทางการเงิน จ่ายหนี้ตรงกำหนด ไม่จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ
  • จัดสรรเรื่องของรายได้ ทั้งลงทุนและใช้ ที่เหลือจึงใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง
  • ออมก่อนใช้ ได้เงินมาให้ออมก่อน เหลือค่อยใช้ ไม่อย่างนั้นจะใช้เงินเพลินเกินตัว
  • กระจายการลงทุน อย่าใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียว ถ้าจะลงทุนอะไรให้ใช้เงินเย็นก่อน
  • มีเงินเก็บฉุกเฉิน อย่าเอาเงินอนาคตมาใช้ มีสายป่านยาวพอ
  • ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้ที่จำเป็น
  • มี passive income เช่น การลงทุนต่างๆ หรือการซื้อประกัน
  • ส่วนบทเรียนในเรื่องงาน คุณหญิงเล่าว่างานบางอย่างเราอาจไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบแต่ต้องทำให้ดีที่สุด ความชอบของเรากับงานอาจตรงข้ามกัน งานที่เราชอบอาจไม่ได้ผลดี แต่งานที่เราไม่ชอบในตอนแรกอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีก็ได้  ดังนั้นไม่ว่างานอะไรเราต้องทำให้ดีที่สุดไม่ว่าเราจะชอบงานนั้นหรือไม่ เธอยกตัวอย่างละครเรื่องหนึ่งที่ต้องเล่นบทเป็นคนไม่สวย ไม่อยากทำแต่ก็ให้ที่บ้านมาเป็นกำลังใจ สุดท้ายละครเรื่องนั้นเธอได้รับฟีดแบคที่ดีมากจากผู้ชมว่าตัวละครน่ารักและแสดงได้ดี


ปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อประมือกับโควิด

นอกจากการเป็นนักแสดง เป็นพิธีกรคุณหญิงยังมีธุรกิจที่ต้องดูแลอีกหลายอย่าง ซึ่งหลักๆ คือร้านทำผม Phoenix ที่ทำมาแล้วกว่า 10 ปี รวมทั้งคลื่นวิทยุ มัน FM ที่เชียงใหม่ บริษัทอีเวนท์ รวมทั้งโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเรียกว่าเกือบทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งหมด ทำให้รายได้หายไปกว่า 90% แต่ยังโชคดีที่ตอนนี้เธอไม่มีหนี้สิน คุณหญิงบอกว่ามีน้อยก็ต้องใช้น้อย และสิ่งที่ต้องทำคือ ปล่อยวาง ตั้งสติ หาช่องว่างทางธุรกิจที่เราจะทำได้ ต้องหาโอกาสในวิกฤต และอย่าเศร้า อย่าโทษโน่นโทษนี่

อย่างร้านทำผมก็พยายามส่งเสริมให้ลูกน้องพัฒนาฝีมือ เสริมความรู้เพื่อให้เขาเก่งขึ้น รวมทั้งให้กำลังใจ และยังมีโครงการตอบแทนสังคมโดยการจัดโครงการตัดผมฟรีให้คุณหมอที่โรงพยาบาล นอกจากนั้นยังต้องปรับตัวโดยการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด ศึกษาช่องว่างทางการตลาดที่เหลืออยู่ ปรับตัวตามลักษณะและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยพัฒนาธุรกิจให้บริการตัดผมแบบเดลิเวอรี่ ส่วนบริษัทอีเวนท์ก็ปรับเป็นการจัดแบบ virtual event  โรงเรียนกวดวิชาก็ปรับมาสอนออนไลน์แทน ซึ่งตอนนี้ถึงแม้จะมีการคลายล็อคดาวน์แล้วแต่ก็ยังไม่ได้มุ่งหวังกำไรมากมาย ขอเพียงให้ธุรกิจอยู่รอดและมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลพนักงานก็พอใจแล้ว

ครอบครัวคือแบตเตอรี่สำรอง

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญมากที่ผลักดันให้คุณหญิงสามารถยืนหยัดต่อสู้ ล้มแล้วลุกจนมีวันนี้ได้ก็คือครอบครัว เหมือนที่คุณแม่ของคุณหญิงกล่าวว่า “ บ้านอื่นเขามีเงินแต่อาจไม่มีความสุขเท่าเรา เขารวยกว่าเราแต่อาจไม่รักกันเท่ากับครอบครัวเราก็ได้” ซึ่งคุณหญิงกล่าวว่า ครอบครัวเป็นเหมือนแบตเตอรี่สำรอง “ไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหนถ้ามองดูคนข้างหลังเราก็มีกำลังใจ ตั้งใจทำทุกอย่างให้เขาสบายใจ” นอกจากนั้นเธอยังกล่าวว่าการดูแลครอบครัวให้ดี ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีด้วยเช่นกัน


บทเรียนชีวิตจากคุณหญิง กัญญา ไรวินทร์ เป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ทำให้เห็นสัจธรรรมของชีวิตว่าไม่มีอะไรที่แน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและความกตัญญู อดทนบากบั่นผลักดันตัวเองและครอบครัวจนไปถึงแสงสว่างสดใสที่ปลายอุโมงค์ได้สำเร็จ  ทำให้คุณหนูที่เคยมีชีวิตที่หรูหราสะดวกสบายในวันนั้น กลายเป็นหญิงสาวที่เข้มแข็ง ขยัน อดทน ที่เก่งทั้งเรื่องการบริหารงานและการบริหารเงิน เพราะเธอได้รับวัคซีนชีวิตที่เข้มข้นมาแล้ว ใครจะรู้ว่าถ้าไม่มีวิกฤตในครั้งนั้นอาจไม่มี หญิง กัญญา ผู้หญิงแกร่งในวันนี้ก็เป็นได้ เพราะทุกวิกฤตคือโอกาส


ที่มา : SCBTV
PAY IT FORWARD ลงทุนเพื่ออะไร: เรียนรู้จากเคยล้ม (ละลาย) ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 23  มิถุนายน 2563