รู้เคล็ดเจียระไนบ้าน NPA ได้ทั้งทำเลและคุ้มค่า

คำว่า “ของเก่า” หลายคนอาจเบือนหน้าหนี แต่หากเป็น “บ้านเก่า” สำหรับคนใฝ่ฝันอยากมีเคหะสถานในครอบครองสักหลัง ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง! โดยเฉพาะทรัพย์สินรอการขาย (NPA) หรือบ้านที่เตรียมการขายทอดตลาดโดยธนาคารต่างๆ เพราะอาจพบเพชรวิบวับที่รอให้คุณจับจองและเจียระไนอยู่


บ้าน NPA (Non-Performing Asset) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาเป็นหลักประกันการกู้เงินและหลุดจำนอง หลายกรณีเป็นการกู้ซื้อของเจ้าของเดิมแต่ผ่อนชำระต่อไปไม่ไหว อีกนัยหนึ่งจึงหมายถึงบ้านที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วจากเจ้าของมือแรก โดยเฉพาะเรื่องของทำเลทองที่ยังมีให้เห็น ในเวลาที่สารพัดโครงการปักธงบนที่ดินผืนสวยและปิดโครงการไปอย่างรวดเร็ว จนหลายคนจับจองไม่ทัน

ข้อดีอีกอย่างคือ อาจพบราคาของสินทรัพย์ที่ต่ำจนต้องร้องว้าว เพราะธนาคารมีกรอบของกฎหมายที่กำหนดให้ขายทอดได้ตามเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นยังไร้กังวลกับเอกสิทธิ์ที่ถูกต้อง เพราะต้องผ่านการประเมินราคาหลักประกันมาแล้วด้วย


ทั้งนี้อย่าลืมมองปัจจัยรอบนอกในระยะยาวไว้นานๆ เช่น การเติบโตของย่านที่อยู่อาศัย ความหนาแน่นในอนาคต ควรเลือกให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งาน เช่น การอยู่อาศัยเอง ควรเน้นความสะดวกสบายและไม่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปเมื่อต้องเดินทางเชื่อมโยงกับแหล่งงาน ไม่ต้องปาดเหงื่อฝ่าการจราจรสาหัส หรือแนะนำไปพัฒนาเพื่อการค้าการพาณิชย์อื่นๆ เช่น เปิดร้านอาหาร คาเฟ่ หรือโฮสเทลสักแห่ง ควรเน้นทำเลติดระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก

เมื่อได้ทำเลทองที่หมายตาแล้ว ขั้นตอนแรกคือเข้าไปในเว็บแหล่งข้อมูล ค้นหาบ้านมือสอง ของธนาคาร โดยสามารถเลือกประเภทบ้าน แหล่งทำเลหรืองบประมาณที่ต้องการ เดี๋ยวนี้มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้เลือกสะดวกสบาย


เมื่อสอดส่องเล็งอสังหาฯในทำเลที่ชอบไว้แล้ว อย่าลืมติดต่อธนาคารเพื่อไปตรวจตราตัวจริงเสียงจริงถึงที่ ประเมินด้วยสายตาตัวเองเบื้องต้นว่าสภาพบ้านเป็นอย่างไร มีจุดที่ต้องปรับปรุงมากน้อยขนาดไหน เพื่อจะได้เตรียมงบประมาณอีกก้อนนอกเหนือการซื้อไว้ด้วย โดยในส่วนนี้อาจทำ การกู้เงินเพื่อปรับปรุงต่อเติมบ้าน ได้หากมีความจำเป็น

 

สำหรับอาการคาดไม่ถึงอีกประการที่ผู้ซื้อบ้าน NPA เคยพบเจอคือ บ้านในฝันหลังนั้นยังมีผู้อาศัยเก่าที่ยังไม่ยอมย้ายออกไป แม้ว่าในทางกฎหมายจะปิดประตูตาย แต่เมื่อเจอความดื้อแพ่งเข้าไป อาจต้องปวดขมับกับการดำเนินคดีอีกทอดหนึ่งด้วยตัวเองและอาจใช้เวลานานเกินคาด เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจเลือก ขอให้เป็นบ้านที่ปลอดโปร่งทั้งบรรยากาศและปราศจากเจ้าของเดิมติดมาด้วยย่อมดีที่สุด


และก่อนจะลงหลักปักฐานกับสินทรัพย์รอการขาย ต้องพึงรู้กติกาสำคัญไว้ อันดับแรกคือความพร้อมของงบประมาณ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มักจะเรียกเงินประกันการซื้อทรัพย์ไว้ อัตราเฉลี่ยราว 1% ของราคาทรัพย์สิน ขณะที่วงเงินกู้สูงสุดมักจะไม่เกิน 90% การเตรียมเงินดาวน์ที่พอเพียงไว้จึงเป็นสิ่งจำเป็นข้อแรก ที่จะไม่ทำให้บ้านในฝันหลุดมือ

 

เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ขั้นตอนการติดต่อกับธนาคารต่อไปนั้นก็ไม่ยากอย่างที่คิด หากสนใจ ทรัพย์บ้านมือสองของ SCB ปักหมุดหลังที่สนใจเพื่อนัดหมายเปิดบ้านชมได้ตามคำแนะนำ เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อ ก็ลุยจัดเตรียมเอกสารเสนอซื้อและรอผลอนุมัติ 3-5 วันทำการได้เลย เอกสารที่ต้องเตรียมมีแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ซื้อทรัพย์สิน NPA และคำเสนอซื้อทรัพย์สิน NPA, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน และเงินประกันการซื้อทรัพย์สิน NPA


เมื่อจะทำการซื้อขายแล้ว นัดทำสัญญาจะซื้อขายและนัดโอนกรรมสิทธิ์ ในวันทำสัญญาวางเงินมัดจำ 20% ของราคาอนุมัติขาย โอนกรรมสิทธิ์ภายใน 45วัน กรณีไม่วางเงินมัดจำโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 30 วัน นับจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย


เพียงเท่านี้...บ้านมือสองในฝันก็จะกลายเป็นบ้านที่ถูกใจอันดับหนึ่งได้แน่นอน!