ความกล้า มองไกล หัวใจสู่ทางรอดในยุค Disruption ตอนที่ 2

ความเปลี่ยนแปลงแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่มีอะไรจะสั่นสะเทือนโลกได้เท่ากับ “การ Disruption จากเทคโนโลยีดิจิทัล” ที่ทำให้ธุรกิจเดิมๆ ที่เคยประสบความสำเร็จมาตลอดก่อนหน้านี้ ต้องหยุดชะงักและล้มหายตายจากไป เช่นการเข้ามาของ E-Commerce กระทบธุรกิจค้าปลีกแบบเดิม, Fin-Tech กระเทือนถึงธุรกิจธนาคารการเงิน, Digital Content แบบใหม่อย่าง Netflix แซงหน้าบล็อกบัสเตอร์ และกำลังเขย่าฮอลลีวู้ด ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กำลังเกิดขึ้นในทุกที่อย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ

อิศราดร หะริณสุต (ดอน)

มองการณ์ไกล ก้าวสู่โอกาสใหม่

การจะเป็นสตาร์ทอัพ บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ท่ามกลางการแข่งขันกับองค์กรใหญ่ๆ อาจดูเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับคุณดอน อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ โอมิเซะ สตาร์ทอัพ ที่พัฒนาระบบ Payment Gateway ยุคใหม่ เขามองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ในธุรกิจรับชำระเงิน และคว้ามันเอาไว้ และ โอมิเซะก็กลายเป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่งไทยที่ประสบความสำเร็จจนเรียกได้ว่าใกล้เคียงระดับยูนิคอร์น

“ตอนแรกผมสนใจอีคอมเมิร์ซ คิดจะสร้างแพลตฟอร์มการขายของออนไลน์ ซึ่งพอทำจริงๆ เราก็เห็นว่า process payment สำคัญมากๆ สำหรับการขายของออนไลน์ คือทำยังไงให้เงินลูกค้าเข้ากระเป๋าคนขายเร็วที่สุด ซึ่งตอนนั้นการจ่ายเงินยังเป็นออฟไลน์อยู่ เช่นจ่ายทาง ATM ร้านสะดวกซื้อ จะจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็ต้องกรอกข้อมูลเยอะแยะ ใส่ผิดใส่ถูกก็เปลี่ยนใจไม่ซื้อ เราเห็น pain point ตรงนี้เลยอยากทำ payment gateway ดีๆ ที่จ่ายเงินได้ง่ายๆ เป็นวันคลิก เปลี่ยนลูกค้าเป็นยอดขายได้เลย” คุณดอน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโอมิเซะ

และจากจุดเริ่มต้นในปี 2015 เพียงไม่กี่ปี โอมิเซะก็กลายเป็นระบบ payment gateway ที่ใช้อย่างกว้างขวางทั้งในกลุ่ม SME และองค์กรขนาดใหญ่ “ลูกค้าที่ใช้ระบบโอมิเซะ สามารถปิดการขายเพิ่มจาก 50% เป็น 90% ระบบของเราช่วยแก้ปัญหาลูกค้า drop off ตรงขั้นตอนจ่ายเงินได้”  แล้วอะไรคือจุดแข็งของโอมิเซะ? “สิ่งที่โดดเด่นของ OMISE คือ UX (User Experience), ระบบ Security ในระดับ Global Standard ได้มาตรฐานวีซ่า มาสเตอร์ ฯลฯ ยอมรับ, Service Level ที่ดี รวมถึง innovation ด้วย”

แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่ง แล้ว แต่คุณดอน ก็ยังมองไกลเพื่อพัฒนาโอมิเซะ อย่างไม่หยุดยั้ง “เรากำลังศึกษาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในระบบ payment และอยากทำเน็ตเวิร์คเชื่อมโยงการใช้ Digital Asset ข้ามค่ายได้อย่างอิสระ... การจ่ายเงิน Digital เติบโตมาก จุดสำคัญคือการให้ร้านค้ารับ Cashless มากขึ้น โอมิเซะ เป็นตัวกลางตรงนี้ ซึ่งการใช้ cashless นำมาซึ่งข้อมูลที่มีประโยชน์กับผู้ให้บริการด้วย” พร้อมกันนี้ คุณดอน ยังพูดถึงการบริหาร โอมิเซะ ในยุค Disruption ว่า “ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อกลยุทธ์ที่วางไว้ไม่เป็นอย่างที่คิด ถ้าถามว่าธุรกิจของผมเปรียบกับสัตว์อะไร ผมตอบว่า “กิ้งก่าคาเมเลียน” ที่ปรับตัวกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ และเมื่อมองเห็นเหยื่อก็ตวัดลิ้นจับกินอย่างรวดเร็ว” ซึ่งคือการมองเห็นโอกาสและคว้าไว้ให้อยู่หมัดจะส่งให้โอมิเซะก้าวสู่ที่ความสำเร็จในการเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ

ไม่เฉพาะสตาร์ทอัพ ที่ต้องมองการณ์ไกล แต่ธุรกิจที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของตลาดชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอย่างไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินดัสตรี การมองการณ์ไกลได้ผลักดันให้คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร มองหาความสำเร็จที่ใหญ่กว่าเดิม “ก็มีคนบอกเราว่าทำตลาดในประเทศก็ดีอยู่แล้ว แต่เราก็มาคิดดูแล้วว่ามันจะดีกว่ามั้ยถ้าเราจะไปตั้งโรงงานรองรับลูกค้าที่เขามีฐานการผลิตในต่างประเทศ คือเวลาจะสั่งของส่งฐานการผลิตในแต่ละประเทศ ก็สั่งเราเจ้าเดียว แทนที่จะต้องไปหาซัพพลายเออร์หลายๆ เจ้า” คุณชนาพรรณ เล่าให้ฟังถึงวันที่ตัดสินใจก้าวออกจาก Comfort Zone นำธุรกิจมุ่งสู่ระดับโลก ด้วยการเปิดดำเนินงานในต่างประเทศเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าบริษัทผู้ผลิตรถระดับโลก ท่ามกลางความเห็นว่าความสำเร็จในตลาดไทยก็เพียงพอแล้ว


“สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยน Mindset ของคนที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น คือเราต้องการจะโกอินเตอร์ ไปเป็นผู้ผลิตระดับโลก” คุณชนาพรรณกล่าวถึงตอนไปเปิดดำเนินการแห่งแรกที่ประเทศอินเดีย “การเปลี่ยน Mindset คนทำงานให้เราให้กล้ามากขึ้น คือต้องทำให้เขาเห็น ตอนไปอินเดียที่ไม่ใช่ประเทศที่สะดวกสบาย เราก็ไปเอง ซื้อที่ดินเอง ลุยไปเอง ไม่ใช่ว่าไม่ยอมออกไป แล้วให้คนอื่นไป ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเราไปได้ และให้เขาเชื่อมั่นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบริษัทแม่พร้อมจะ support” การดูแลผูกใจพนักงานก็เป็นอีกหนึ่งที่ส่งให้ไทย ซัมมิท ประสบความสำเร็จในต่างแดน “เราต้อง honour คนที่ไปทำงานให้ ว่าเขาเป็นคนมีความสามารถ ช่วยเราไปทำตรงนี้ เพราะที่ๆ ไปก็ไม่ได้สบาย” “เราต้องทำให้เขาเห็นในฐานะเจ้านาย เราจะ fake กับลูกน้องไม่ได้ ไลฟ์สไตล์เราก็เป็นแบบนี้ ตอนทำงานก็ใส่ชุดพนักงานอยู่ในโรงงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานอินในความเป็นองค์กรและพร้อมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย” คุณชนาพรรณกล่าวสรุป

อาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน บอดี้สแลม)

วางแผนให้ดี ความสำเร็จไม่ไกลเกินเอื้อม

ในช่วงปลายปี 2560 ผู้ที่เป็นท๊อกออฟเดอะทาวน์สร้างปรากฎการณ์สั่นสะเทือนทั่วประเทศไม่มีใครยิ่งใหญ่เกินไปกว่าผู้ชายที่ชื่อ “อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือตูน บอดี้สแลม ร๊อคสตาร์ชื่อดัง ที่ทำการวิ่งมาราธอน เบตง-แม่สาย จากใต้สุดไปยังเหนือสุดของประเทศ เพื่อหาทุนบริจาคโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “ก้าวคนละก้าว” โดยก่อนหน้านี้ ตูนได้เคยวิ่งกว่า 400 กม. ระดมทุนเงินบริจาคให้กับโรงพยาบาลบางสะพานมาแล้ว นอกเหนือจากความกล้าและความเชื่อแล้ว ในการวิ่งที่ไม่ธรรมดาจากใต้สุดสู่เหนือสุดเป็นระยะทาง 2,215 กม.การวางแผนที่ดีสำคัญอย่างยิ่งเพื่อทำการใหญ่ให้ประสบความสำเร็จ “ตอนที่ผมคิดโปรเจ็กต์นี้ คิดอยู่บนพื้นฐานของการช่วยมากกว่า 1 ร.พ. คือโจทย์ 11 ร.พ. ที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ จึงเป็นโจทย์ที่ตั้งอยู่ในปริมาณที่เยอะขึ้นทั้งเงินบริจาค และการกระจายให้ร.พ. ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม” ตูนเล่าถึงแนวคิดตั้งต้นของ “ก้าวคนละก้าว”  “จากนั้น เราก็เอาโจทย์มาตั้ง แล้วคำนวณว่าเราจะใช้เวลาเท่าไร โดยเราคิดจากผลปลายทางที่เราจะช่วยเหลือด้วยวิธีการของเรา เอาตัวเลขมาคำนวณว่าจะทำสำเร็จด้วยวิธีการไหน”

ตูนเล่าต่อว่า “จากที่เราวิ่งมา เราพบว่าตัวเองเป็นนักวิ่ง 10 กม. จะวิ่งทุก 10 กม.แล้วพัก คิดว่าวันหนึ่งจะทำได้กี่เซ็ท อย่างที่บางสะพาน (วิ่ง 10 วัน) ทำได้วัน 4 เซ็ท (40 กม.) เลยจะเพิ่มมาเป็นวันละ 5 เซ็ท (50 กม.) ก็จะใช้เวลาประมาณ 40 วัน แต่ต้องวันพัก เลยเป็นวิ่ง 4 วันพัก 1 วัน รวมเป็น 55 วัน”

ความเชื่อ ความกล้า และการวางแผนอย่างดีนี่เองที่ทำให้ตูน บอดี้สแลมบรรลุเป้าหมายสร้างปาฏิหาริย์แห่งโครงการ “ก้าวคนละก้าว” สามารถระดมเงินบริจาคได้สำเร็จเกินเป้าหมาย และสำหรับคำถามที่ว่าตูนเรียนรู้อะไรจากการวิ่ง ตูนตอบว่า เขาโชคดีที่ได้รู้จักการวิ่ง ที่ช่วยให้ลืมความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่าอาชีพนักร้องซึ่งเป็นอาชีพในฝันกลายเป็นงานประจำ สนามวิ่งคือพื้นที่ใหม่ ให้เขาได้ reinvent ตัวเอง ค้นพบตัวตนใหม่ในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เรียนรู้สิ่งใหม่ แล้วกลับมามีพลังอีกครั้ง

ชานนท์ เรืองกฤตยา

การวางแผนที่ดีนอกเหนือจากจะนำไปสู่ความสำเร็จแล้ว ยังสำคัญในการรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เจ้าของโครงการคอนโดใกล้สถานีรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ เล่าถึงการ reinvent ธุรกิจครอบครัวในช่วงหลังวิกฤตปี 2540 ซึ่งเขาได้ปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว ด้วยการนำเสนอแผนทางการเงินให้ต่างชาติ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ศึกษาในต่างประเทศ “ผมอยู่เมืองนอกตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เรียนที่สหรัฐ 15 ปี อังกฤษ 1 ปี ด้วยความที่อยู่กับชาวต่างชาติเยอะ เลยรู้ว่าเขาให้ความสำคัญกับอะไร มองอะไร และจะนำเสนอเขาอย่างไร” คุณชานนท์กล่าว

หลังจากนั้น คุณชานนท์ได้ทำโปรเจ็กต์เสนอนักลงทุนต่างประเทศ ภายใต้ชื่อบริษัทอนันดา “ผมทำโปรเจ็กต์นำเสนอทั้งระบบ โครงการรถไฟฟ้า รถใต้ดินในตอนนั้น ผมวาดภาพระฆังครอบลงไปเลย (โครงการ)ที่ติดสถานีใช้แบรนด์ไอดีโอ (Ideo) ไกลออกมาหน่อยใช้แบรนด์เอลลิโอ (Elio) รถไฟฟ้าทั้งหมด 10 กว่าสถานีในตอนนั้น เราจะ conquer ทั้งหมด ทำ Business Model ในภาพรวม”

แม้จะดูเหมือนว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะถูก Disrupt ยากที่สุดแต่คุณชานนท์ ก็มองว่าความเปลี่ยนแปลงรออยู่ในอนาคต “ในอนาคตราคาที่ดินจะแพงขึ้น จนกระเป๋าผู้บริโภคโตไม่ทัน ซึ่ง Sharing Economy จะมีบทบาทมากขึ้น คนจะมอง Housing as a service” นอกจากนี้ ความสำเร็จในปัจจุบันของอนันดาที่ขายจุดเด่นของคอนโดติดรถไฟฟ้าในสมการของ Location X Mobility ที่เหมาะกับเมืองรถติดอย่างกรุงเทพฯ แต่ก็อาจถูก disrupt จากความเป็นไปได้ที่จะมีโดรนส่วนตัวเกิดขึ้นในอนาคต และสำหรับคุณชานนท์แล้วต้องมีการวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น “Strategy สำรองต้องมีหลายๆ อัน และที่สำคัญ ความสำเร็จในอดีต ไม่ได้การันตีความสำเร็จในอนาคต”

ที่มา : งานสัมมนา  “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต THE REINVENTION” 29 สิงหาคม 2561