“อัลทรอน” ทีวีไทย สร้างแบรนด์ตัวเองบุกตลาดไทย-เทศ

“หากวันใดที่คุณหกล้ม จงอย่าลุกขึ้นมามือเปล่าและจงหยิบฉวยบางอย่างขึ้นมาเพื่อสู้ต่อ” คำกล่าวข้างต้นอาจเป็นเพียงคำคมเพื่อปลุกเร้ากำลังใจในวันใดวันหนึ่งที่เราหกล้ม หรือพลาดพลั้ง เจอสถานการณ์ที่ย่ำแย่ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการหยิบเอาสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อสู้ต่อในการดำเนินชีวิตรวมถึงในเรื่องของธุรกิจก็เช่นกัน


คำกล่าวข้างต้นทำให้เรานึกถึง คุณนรินทร์เดช ทวีแสงพานิชย์ หรือคุณแจ๊ค รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย ฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด ผู้ผลิต อัลทรอน (altron) ทีวีไทย หลังจากได้มีโอกาสพูดคุย และฟังในงานสัมมนา “SCB SME SUCCESS ปี 6 #โตอย่างสตรอง” ที่พลิกฟื้นสถานการณ์ธุรกิจของตนเองจาก OEM มาสู่การเป็นแบรนด์ทีวีไทยไปสู่สากลอย่างยั่งยืน



เริ่มต้นจากการเป็น OEM

บริษัท ไทย ฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 จากกิจการแบบครอบครัว โดยผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ให้กับแบรนด์ชั้นนำของเมืองไทย ชื่อว่า “ธานินท์” ส่งผลให้กลายเป็นโรงงานผลิตสินค้า OEM แบบเต็มตัว ด้วยการผลิตให้กับห้างค้าปลีกทั้งหลาย ภายใต้ Exclusive Brand ของแต่ละห้างเป็นหลัก โดยยอดขายทั้งหมดมาจากยอดจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ


เรื่องราวของบริษัท ไทย ฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด อาจจะไม่น่าสนใจมากไปกว่าการเป็น OEM ที่คอยอยู่เบื้องหลังจอโทรทัศน์มานาน กระทั่งวันหนึ่งโรงงานผลิตต้องพบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อประสบปัญหาไฟไหม้โรงงานเสียหาย นั่นจึงเป็นที่มาของการเป็น อัลทรอน ทีวี


“เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านแล้ว โรงงานที่ผลิตสินค้า OEM ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ โดยกินเวลากว่า 9 ชั่วโมง ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ทำให้คิดว่าจะเลิกทำทุกอย่าง เพียงเสี้ยววินาทีหนึ่งก็กลับมานั่งคิดว่า เราต้องสู้ ตัดสินใจลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และตัดสินใจพัฒนาโรงงานสู่ยุคใหม่ให้ได้” คุณนรินทร์เดช เผยที่มา

สร้างตัวใหม่ หลังภัยพิบัติใหญ่

หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี 2557 บริษัท ไทย ฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด ได้ปลุกหัวใจของตัวเองให้ลุกขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่เคยเป็น OEM จึงพลิกฟื้นด้วยการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน เน้นถึงความสามารถของคนไทยในการผลิตสินค้าที่เชื่อถือได้


“เราต้องการอะไรที่เป็นความยั่งยืน นั่นก็คือการสร้างแบรนด์ รวมถึงวางแผนทางการตลาดให้ถูกต้อง เน้นเรื่องความเป็นไปได้ เชื่อว่าทุกแบรนด์ก็จะสามารถไปได้ สิ่งหนึ่งที่ทางบริษัทเรามองคือ การกระจายความเสี่ยงของตัวเอง เพราะการเติบโตของธุรกิจไม่ได้มีทางเดียว” คุณนรินทร์เดช กล่าว


ไม่เพียงการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง บริษัทได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิต และการสร้างความเชื่อถือด้านคุณภาพ จึงเริ่มให้มีการรับรองสินค้า จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนในสาขาต่าง ๆ เช่น  โรงงาน และสินค้าที่ผลิตต้องผ่าน มาตรฐาน ISO 9001/2008 ซึ่งเป็นมาตรฐานในการผลิตระดับสากล ตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark จากกระทรวงพาณิชย์ แสดงถึงการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ระดับสากล ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โดยกระทรวงพลังงาน บ่งบอกถึงการเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาที่เหมาะสม ตลอดจนตราสัญลักษณ์ Green Industry ระดับ 2 แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างโรงงานให้กลายเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี


หนทางสร้างแบรนด์

ปัจจุบันนี้ อัลทรอน ทีวี มีช่องทางจัดจำหน่ายหลัก คือ เทสโก้ โลตัส, เพาเวอร์ มอลล์, บิ๊กซี, แมคโคร, ดูโฮม และเมก้าโฮม บริษัทให้ความสำคัญกับช่องทางเหล่านี้ค่อนข้างมาก เพราะนี่คือการตอบโจทย์ในการสร้างแบรนด์ ส่วนช่องทางออนไลน์ก็หาช่องทางขายจาก ลาซาด้า โปรโมททางออนไลน์ ช่องทางโซเชียลก็ใช้ เฟซบุ๊ก รวมทั้งการไปออกบูธ เพื่อโชว์คุณภาพสินค้า


ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี คุณนรินทร์เดช สามารถสร้างแบรนด์จากเพียงแค่เป็นบริษัท OEM ให้กลายมาเป็นแบรนด์ที่สามารถหาช่องทางได้อย่างมากมาย


“การสร้างผลิตภัณฑ์ของผมมองจากลูกค้าเป็นหลัก โดยการสร้างความแตกต่างที่ตอบโจทย์ของเรา คือ ตลาดต่างจังหวัดที่บ้านโล่ง ๆ ต้องการทีวีเครื่องเสียงในมุมกว้าง ๆ เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการได้อรรถรส โดยเฉพาะการชมฟุตบอล กีฬา ดูหนัง โดยการทำให้ซอฟต์แวร์มีเสียงสูงเสียงกลาง ส่วนกลุ่มเป้าหมายจะมีทั้งกลุ่มร้านกาแฟ ร้านก๋วยเตี๋ยว โครงการ หรือโรงเรียนก็มีการเอาไปใช้ รวมถึงภาครัฐ โดยหาจุดขาย จุดประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ทางด้านออนไลน์ ก็เคยลองกิจกรรม และได้รับผลตอบรับที่ดี โดยแจกตั๋วฟุตบอลไทยพบเกาหลีใต้ 2 ใบ ซึ่งวันนั้นมีจำนวนยอดไลค์มากถึง 4 แสนกว่า”คุณนรินทร์เดช กล่าว


นอกจากนี้ อัลทรอน ไม่ได้มองเพียงแค่ตลาดในเมืองไทย แต่ยังมองการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านแถบอินโดจีน รวมทั้งตลาดเอเชียกลาง เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ชื่นชอบสินค้าจากไทย

ลูกค้าคือหัวใจของความสำเร็จ

การดูแลลูกค้าก็ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ “อัลทรอน” เตรียมศูนย์บริการรองรับสินค้าที่มาใช้บริการ รวมถึงการพัฒนาสินค้ารุ่นใหม่ๆ ให้ทันต่อความต้องการ


“ประสบการณ์สอนเราเกี่ยวกับลูกค้า เมื่อสินค้ามีปัญหา ต้องยอมรับความจริง และพยายามปรับแก้ไข ก็จะให้พนักงานเข้าไปขอรับคำแนะนำ และกลับมาวิเคราะห์ปัญหาของสินค้า เพื่อพัฒนาต่อไป”คุณนรินทร์เดช เสริม


อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงในปัจจุบัน รวมถึงในอนาคตที่มีการคาดการณ์ว่า คนจะดูโทรทัศน์น้อยลงนั้น เนื่องจากพฤติกรรม และช่องทางในการรับรู้ข่าวสารมีมากขึ้น “คุณแจ๊ค” กล่าวว่า


“เราวางแผนไว้ว่า การเสพสื่อรุ่นใหม่ ๆ จะเยอะขึ้น แต่กลุ่มจำพวกทีวีอาจมีจำนวนน้อยลง ซึ่งเราได้มีการคิดค้นที่จะทำ Smart TV สามารถบันทึกข้อมูลดูย้อนหลังได้”


“เราอาจประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่าจุดนี้ยังไม่ใช่ความสำเร็จที่สูงสุด ทุกคนที่เป็น SME ในประเทศไทย สามารถทำได้ อาจจะทำได้ดีกว่าผมด้วยซ้ำ ผมอยากให้กำลังใจคนไทยทุกคน สร้างสรรค์ความคิด แล้วจะประสบความสำเร็จได้ทุกคน” คุณนรินทร์เดช กล่าวทิ้งท้าย